เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสท์/เอเยนซี--วานนี้ (7 ต.ค.) เจ้าหน้าที่ขนส่งและตำรวจจราจรต้องทำงานหนักอีก ด้วยประกาศเตือนวิกฤตจราจรอีกระลอก จากนักท่องเที่ยวชาวจีนกว่า 10 ล้านเดินทางกลับบ้าน ในช่วงวันสุดท้ายของ “สัปดาห์ทอง” รวมทั้ง นักวิเคราะห์บางคนเสนอให้มีสัปดาห์ทองช่วงวันแรงงาน (1 พ.ค.) เพื่อลดความหนาแน่นในการท่องเที่ยว
เมื่อช่วงบ่ายวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (7 ต.ค.) ตามรายงานของสำนักข่าวซีซีทีวี กระทรวงการคมนาคม เผยว่า มีจำนวนผู้ใช้รถใช้ถนนถึง 81.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 8.3 เปอร์เซ็นต์
สำนักข่าวปักกิ่ง ไทมส์ รายงาน เจ้าหน้าที่จราจรคาดว่าจะมีรถกว่า 1.6 ล้านคัน กลับเข้ามาในกรุงปักกิ่ง ในวันสุดท้ายของ “สัปดาห์ทอง” ซึ่งเพิ่มขึ้น 28 เปอร์เซ็นต์จากปีที่ผ่านมา (2554)
นอกจากนี้ ตั้งแต่เวลา 09.00 น.วานนี้ เจ้าหน้าที่เริ่มได้รับรายงานการจราจรติดขัด เช่น ทางหลวงสายหนันจิง-เหลียนอวิ๋นกั่ง ในเมืองหนันจิง มณฑลเจียงซู กลายเป็นอัมพาต ต้องเลี่ยงไปใช้เส้นสะพานแยงซี หมายเลข 3 รวมทั้ง ต้องกำหนดจำนวนรถที่จะใช้ทางหลวงสายจูจี่ - หย่งจยา ช่วงเมืองจูจี่ในมณฑลเจ้อเจียง และต้องปิดการจราจรบนทางหลวงเอ้อร์เหลียนเฮ่าเท้อ - ก่วงโจว ช่วงเมืองจิ่นโจวในมณฑลซานซี เนื่องจากเกิดอุบัติเหตุ
ทางด่วนสายปักกิ่ง - ฮ่องกง - มาเก๊า สายเซี่ยงไฮ้ - คุนหมิง และสายปักกิ่ง - คุนหมิง เกิดการจราจรคับคั่งเช่นกัน โดยเมื่อวานนี้ เป็นวันสุดท้ายที่ดำเนินนโยบายไม่เก็บค่าทางด่วนสายหลักทั่วจีน
ทว่า เจ้าหน้าที่จราจรยังยืนยันว่า ช่วงที่เกิดการจราจรหนาแน่นในสัปดาห์นี้ไม่น่าจะทำให้เกิดเหตุรถติดบนทางหลวงเหมือนสัปดาห์ที่ผ่านมา (30 ก.ย. - 1 ต.ค.)
สายรถไฟแออัดไม่แพ้กัน สำนักงานสถิติแห่งชาติ เผยว่า ในช่วงวันหยุดระหว่างวันที่ 29 ต.ค. - 6 ก.ยมีจำนวนผู้โดยสารรถไฟราว 61 ล้านคน เพิ่มขึ้น 9.4 เปอร์เซ็นต์
โดยเมื่อวานนี้ กระทรวงการทางรถไฟเผยว่า มีผู้โดยสารรถไฟเพิ่มขึ้น 300,000 คน เป็น 7.52 ล้านคน โดยเฉพาะจำนวนผู้โดยสารในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ยแห่งเดียว ก็เพิ่มขึ้นถึง 140,000 คนแล้ว รวมทั้งจำนวนผู้โดยสารที่มาปักกิ่งมากถึง 125,000 คน ทำให้ต้องจัดตารางรถไฟเพิ่มอีก 116 ขบวนทั่วประเทศ ซึ่งรวมถึง 64 ขบวนในกรุงปักกิ่ง
นอกจากนี้ ตั๋วรถไฟฟ้าความเร็วสูงสายปักกิ่ง - เซี่ยงไฮ้ ขายหมดเกลี้ยง รวมทั้ง เที่ยวบินที่ไปปักกิ่ง ก่วงโจว เซี่ยงไฮ้และอู่ฮั่นในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาล้วนถูกจองเต็มหมดเช่นกัน
การจราจรที่แน่นขนัดบวกกับผู้คนมากมาย ที่ไปตามสถานที่ท่องเที่ยวในจีน ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์ถึงนโยบายการจัดการความแออัดที่ล้มเหลว
นายหลิว ซื่อหมิน นักวิจัยสถาบันสังคมศาสตร์จีน ให้สัมภาษณ์ปักกิ่ง ไทมส์ว่า สภาพการณ์การท่องเที่ยวที่หนาแน่นในช่วง “สัปดาห์ทอง” เป็นเพราะชาวจีนส่วนใหญ่ไม่ได้เดินทางไกลในช่วงวันหยุดสั้นๆ
สิ่งสำคัญตอนนี้คือต้องลดจำนวนนักท่องเที่ยวมหาศาล หลักงจากที่วันหยุดสัปดาห์ทองช่วงวันแรงงานถูกยกเลิกไปเมื่อปี 2550 ซึ่งโอกาสในการท่องเที่ยวก็ลดลงด้วย
“ผมเสนอให้มีสัปดาห์ทองช่วงวันแรงงาน หรืออาจจะกำหนดวันหยุดยาวอื่นๆ” หลิวกล่าว
วันหยุดพิเศษช่วงสัปดาห์ทอง กระตุ้นการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น
สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งชาติ เผย จำนวนนักท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ 119 แห่ง เพิ่มขึ้น 21 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงวันหยุดยาว “สัปดาห์ทอง” ซึ่งเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันเมื่อปีที่ผ่านมา (2554)
สำนักข่าวซินหวารายงานวานนี้ (7 ต.ค.) นักท่องเที่ยวราว 34.25 ล้านคนแวะเวียนมาเที่ยวสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ทำให้มีเงินสะพัดถึง 1,770 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นเกือน 1 ใน 3 ของรายได้ฯ ปีที่แล้ว พร้อมยกตัวอย่าง เมื่อวันที่ 2 ต.ค.ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวที่มาพระราชวังต้องห้ามในกรุงปักกิ่ง มีถึงกว่า 186,000 คน ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดของจำนวนนักท่องเที่ยวภายในหนึ่งวันที่เคยบันทึกไว้
สิ่งที่สนับสนุนให้จำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้เพิ่มขึ้น คือ ช่วงวันหยุดปีนี้ พิเศษกว่าปีก่อนๆ โดยหยุดต่อเนื่องตั้งแต่วันไหว้พระจันทร์ (30 ก.ย.) จนถึงเมื่อวานนี้ (7 ต.ค.)
สื่อต่างชาติอ้าง การท่องเที่ยวในสัปดาห์ทองเป็น “ช่วงสยองขวัญ”
สื่อจีนรายงาน (7 ต.ค.) ช่วงหยุดยาววันไหว้พระจันทร์และวันชาติจีนประจำปี 2555 ที่ถูกขนานนามว่า “สัปดาห์ทองที่ยาวนานที่สุด” ได้สิ้นสุดลงแล้ว ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาวันหยุดที่พิเศษสุดสำหรับชาวจีน
หนังสือพิมพ์ลอสแองเจลลิสของสหรัฐฯ ให้นิยามว่าเป็น “สัปดาห์สยองขวัญ” เพราะสภาพคลื่นมนุษย์ที่เบียดเสียดยัดเยียด ขยะกองพะเนิน ร้านอาหารที่หลอกลวง และทางด่วนที่กลายเป็นที่จอดรถ แต่สื่อต่างชาติหลายแห่งกลับมองว่า ช่วงเวลานี้เป็นสัญญาณแนวทางการพัฒนาทางเศรษฐกิจของจีน
เว็บไซต์ซีเอ็นบีซีของสหรัฐฯ เผยว่า อย่างน้อยผู้บริโภคชาวจีนก็แสดงความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจของประเทศมากขึ้น ซึ่งไม่ค่อยตรงกับข้อมูลทางเศรษฐกิจของรัฐบาลนัก นอกจากนี้ สื่อเกาหลียังนิยามความต้องการในการช้อปปิ้งของชาวจีนอีกว่า “น้ำอ้อยหวานฉ่ำที่หิวกระหายมานาน”
สัปดาห์ทอง ถือเป็นวันหยุดแห่งชาติ 7 วัน ซึ่งรัฐบาลจีนกำหนดให้มีเมื่อปี 2543 ในช่วงวันแรงงาน วันไหว้พระจันทร์ และวันชาติจีน โดยวันหยุดเหล่านี้ช่วยขยายตลาดการท่องเที่ยวในประเทศ และปรับปรุงมาตรฐานการครองชีพ อนุญาตให้ประชาชนได้กลับไปเยี่ยมครอบครัว
เมื่อปี 2551 รัฐบาลลดจำนวนวันหยุดสัปดาห์ทองช่วงวันแรงงาน จากเดิมตั้งแต่วันที่ 1 - 7 พ.ค. ให้เหลือเพียง 3 วัน การปรับเปลี่ยนนี้ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ และประชาชนต้องการให้เปลี่ยนใหม่ และในปีต่อมา (2552) นายจัง ซีฉิน อดีตรองผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งชาติ เรียกร้องให้มีวันหยุดสัปดาห์ทองช่วงวันแรงงานเหมือนเดิมเช่นกัน
กระแสเรียกร้องปะทุขึ้นบนอินเทอร์เน็ต เมื่อผลสำรวจออนไลน์ของเว็บไซต์ข่าว พีเพิลส์ เดลี่ มีเสียงโหวตกว่า 5 ล้านเสียง และมากกว่า 92 เปอร์เซ็นต์สนับสนุนให้วันหยุดเปลี่ยนกลับมาเหมือนเดิม เมื่อปี 2552
ทั้งนี้ สัปดาห์ทองในช่วงวันชาติปีนี้ พิเศษกว่าปีก่อนๆ เนื่องจากมีวันหยุดต่อเนื่องจากวันไหว้พระจันทร์ (ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี และปีนี้ตรงกับวันที่ 30 ก.ย.) ชาวจีนหลายล้านคนต่างเดินทางโดยรถยนต์ รถไฟ และเครื่องบิน เพื่อที่จะกลับไปฉลองกับครอบครัว หรือเดินทางท่องเที่ยวไกลๆ ในช่วงเวลานี้