xs
xsm
sm
md
lg

โรงแรมเจ้าของสินค้าแบรนด์หรูในปารีส คิดสั้นไม่รับนักท่องเที่ยวจีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพข่าวที่นายทิแอร์รี่ กีลิเย่ เจ้าของห้องเสื้อแบรนด์ดังของฝรั่งเศสประกาศว่า โรงแรมของเขา จะไม่ต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวจีน ทำให้ถูกวิจารณ์อย่างหนัก จนเขาต้องออกมาขอโทษผ่านสื่อ เมื่อวันที่ 4 ต.ค. (ภาพเอเยนซี)
เอเยนซี--กีดกัน หรือ สร้างกระแส! เจ้าของแบรนด์ซาดิก แอนด์ โวลแตร์ (Zadig & Voltaire) ของฝรั่งเศส คิดสั้นทุบหม้อข้าวตัวเอง ประกาศ “จะไม่ต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวจีนให้มาพักในโรงแรมของเขาในกรุงปารีส” ซึ่งวางแผนเปิดให้บริการในปี 2557

สื่ออังกฤษรายงาน (3 ต.ค.) นายทิแอร์รี่ กีลิเย่ (Thierry Gilier) ดีไซน์เนอร์ชื่อดังชาวฝรั่งเศส เจ้าของห้องเสื้อแบรนด์ซาดิก แอนด์ โวลแตร์ โดยเขาวางแผนสร้างโรงแรมเล็กๆ ขนาด 40 ห้อง และจะเปิดทำการในอีก 2 ปีนั้น ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวในงานแถลงข่าวเมื่อวันที่ 3 ต.ค.ว่า “เนื่องจากโรงแรมมีขนาดค่อนข้างเล็ก เราเลือกปฏิบัติต่อแขกครับ เช่น โรงแรมเราจะไม่ต้อนรับนักท่องเที่ยวจีน ในปารีส หลายคนค่อนข้างเรื่องมาก เช่น อยากได้พื้นที่ส่วนตัวและบรรยากาศที่สงบเงียบ”

จากคำพูดดังกล่าวของทิแอร์รี่ ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักบนอินเทอร์เน็ตในจีน

สำนักข่าวซินหวาในกรุงปารีส รายงานเมื่อวันที่ 4 ต.ค.ว่า ทางแบรนด์ซาดิก แอนด์ โวลแตร์ ประกาศขอโทษสำหรับคำพูดของนายทิแอร์รี่

นอกจากนี้ ทิแอร์รี่ยังเผยว่า ความคิดเห็นที่สื่อเสนอออกมานั้น ไม่ได้สื่อถึง “ความคิดและทัศนคติของเขาจริงๆ” แต่เขาก็ยอมรับว่า “คำพูดของผมไม่เหมาะสม และทำร้ายจิตใจชาวจีน ชาวฝรั่งเศสและผู้คนในที่อื่นๆ ผมขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งมา ณ ที่นี้ด้วยและแน่นอนว่าโรงแรมเราจะเปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวจีน”
แฟ้มภาพกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มาท่องเที่ยวยังประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรป ซึ่งถือเป็นรายได้หลักในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวยุโรปเลยทีเดียว (ภาพเอเยนซี)
ใครจะรู้ แต่ละปีนักท่องเที่ยวชาวจีนมาฝรั่งเศสถึง 9 แสนคน: เมื่อปีที่ผ่านมา (2554) ฝรั่งเศสกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวหลักของนักท่องเที่ยวชาวจีน คาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 4 ล้านคนในปี 2563

ผู้ซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยในยุโรปมิใช่ใครอื่น: นักท่องเที่ยวชาวจีนส่วนใหญ่เลือกที่จะมาเที่ยวในกรุงปารีส ตามการวิเคราะห์ เมื่อปี 2554 ตลาดสินค้าฟุ่มเฟือยของที่นี่มีรายได้ถึง 72,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือราว 2,209,680 ล้านบาท) ทั้งนี้ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวจีนนั้น ทางอังกฤษ เดนมาร์ก เยอรมนี เบลเยี่ยมและประเทศอื่นๆ ยังขยายข้อกำหนดวีซ่าอีกด้วย

นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวชาวจีนยังเป็น “จ้าวแห่งการช้อปปิ้งของฝรั่งเศส” ตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา โดยชาวจีนบางคนเผยว่า สินค้าฟุ่มเฟือยที่ฝรั่งเศสถูกกว่าที่จีนมาก อย่างเช่น กระเป๋าถือชาแนล ขายที่ปารีส 3,100 ยูโร (หรือราว 124,000 บาท) ถูกกว่าในจีนแผ่นดินใหญ่ถึง 30 - 40 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากภาษีในประเทศค่อนข้างสูง รวมทั้ง ในฝรั่งเศสมักจะมีการลดราคาบ่อยๆ

ทว่า คนดังระดับโลกในวงการแฟชั่นหลายคน เผยว่า ผู้ขายสินค้าฟุ่มเฟือยและเศรษฐีใหม่ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกัน และบางคนเห็นว่า ดีไซน์เนอร์สินค้าฟุ่มเฟือยหลายคนดูถูกผู้บริโภคชาวจีน เนื่องจากขณะพวกเขาซื้อสินค้าเหล่านี้ ดูเหมือนว่า “ไร้รสนิยม"
แฟ้มภาพร้านเสื้อผ้าแบรนด์ซาดิก แอนด์ โวลแตร์ ติดป้ายลดราคา ซึ่งการลดราคาสินค้าฟุ่มเฟือยในฝรั่งเศสเกิดขึ้นบ่อยๆ และยังมีราคาถูกอีกด้วย ทำให้นักท่องเที่ยวชาวจีนชอบที่จะซื้อหาสินค้าที่นี่ (ภาพเอเยนซี)
จ่ายเท่าไร ก็ไร้ผล: ถึงแม้ว่านักท่องเที่ยวจีนจะทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของยุโรปเฟื่องฟูเพียงใด แต่ในสายตาของชาวยุโรป ไม่ค่อยจะยินดีกับพวกเขามากนัก อาทิ ดูแคลนชาวจีน รับไม่ได้ที่ชาวจีนซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยราวกับไปจ่ายตลาด

นอกจากนี้ ยังมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของชาวจีนบางคนด้วย เช่น นักท่องเที่ยวจีนบางคนปีนขึ้นไปถ่ายรูปบนปฏิมากรรมชั้นสูงในยุโรป ส่งเสียงโหวกเหวกโวยวาย สวาปามไวน์ราคาแพงลิบขวดแล้วขวดเล่าในภัตตาคารหรู ชาวยุโรปที่มารับประทานอาหารต่างเมินหัวส่ายหน้ากับพฤติกรรมของพวกเขา

ตามผลสำรวจของเว็บไซต์ท่องเที่ยวระหว่างประเทศแห่งหนึ่ง เผยให้เห็นว่า นักท่องเที่ยวจีนที่ชอบผลาญเงินจัดอยู่ในอันดับ 2 ของนักท่องเที่ยวที่ไม่ได้รับการต้อนรับ โดยรองลงมาจากสหรัฐอเมริกา

แบรนด์ซาดิก แอนด์ โวลแตร์ (Zadig & Voltaire) ก่อตั้งเมื่อปี 2530 โดยนายทิแอร์รี่ กีลิเย่ ซึ่งเขาหวังว่าจะออกแบบของหรูหราที่ให้ผู้คนซื้อหาได้ ให้แต่ละคนได้อิ่มเอมในโลกแห่งแฟชั่น ระยะเวลากว่าสองทศวรรษของแบรนด์ฯ ได้รับความสำเร็จไม่น้อย สินค้าของแบรนด์ฯ นำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ เช่น ขนแกะจากจีน ชุดถักไหมพรมจากอิตาลีและโปรตุเกส ชุดยีนส์จากตุรกีและโมร็อกโค หนังสัตว์จากอิตาลีและจีน เสื้อคลุมจากยุโรปตะวันออก

ด้วยเหตุนี้ แบรนด์ซาดิก แอนด์ โวลแตร์ จึงจัดอยู่ในสินค้าฟุ่มเฟือยที่ “ได้รับความนิยมมาก” รวมทั้งยังตั้งร้านค้าใกล้กับแบรนด์สินค้าฟุ่มเฟือยชื่อดัง เพื่อโฆษณาและประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของแบรนด์ฯ
แฟ้มภาพ นักท่องเที่ยวชาวจีนวิ่งกรูกันเข้ามาซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยในห้างแห่งหนึ่งในยุโรป ทำให้ชาวยุโรปบางคนไม่พอใจนัก และมองว่าพวกเขาซื้อสินค้าพวกนี้ราวกับ ไปจ่ายตลาด (ภาพเอเยนซี)
กำลังโหลดความคิดเห็น