xs
xsm
sm
md
lg

นาวีมังกรรับมอบเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกของประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เหล่าทหารเรือยืนรายล้อมเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกของจีน เนื่องในพิธีส่งมอบเรือฯ ให้แก่กองทัพเรือ และเชิญธงชาติขึ้นสู่ยอดเสา เมื่อวันที่ 23 ก.ย. (ภาพเฟิ่งหวง)
รอยเตอร์ส--วานนี้ (23 ก.ย.) เรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกของจีน ถูกส่งมอบให้กับกองทัพเรือแห่งกองทัพปลดแอกประชาชนจีน (PLA) และมีการจัดพิธีเชิญธงชาติขึ้นสู่ยอดเสาของเรือ ท่ามกลางความตึงเครียดกรณีข้อพิพาทเหนือเกาะในทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้

หนังสือพิมพ์โกลบอล ไทมส์ รายงาน พิธีส่งมอบเรือบรรทุกเครื่องบินขนาด 300 เมตร ซึ่งเป็นอดีตเรือโซเวียตชื่อว่า วาร์ยัค จัดขึ้นที่เมืองต้าเหลียนในมณฑลเหลียวหนิง หลังจากมีการซ่อมแซมปรับปรุงใหม่ทั้งหมด โดยบริษัทต่อเรือของจีน

ในระหว่างพิธีการส่งมอบ เรือบรรทุกเครื่องบินได้ชักธงชาติจีนขึ้นเสากระโดง ธงกองทัพปลดแอกฯ บนหัวเรือฯ และธงกองทัพเรือบนพวงมาลัยเรือ ทว่า ฝ่ายกระทรวงกลาโหมจีนไม่พร้อมที่จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับพิธีการนี้

พิธีการดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางกระแสความตึงเครียดกรณีพิพาทเหนือน่านน้ำในบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งมีความขัดแย้งกรณีพิพาทเหนือเกาะเตี้ยวอี๋ว์กับญี่ปุ่น รวมทั้งกรณีพิพาทเหนือเกาะในบริเวณทะเลจีนใต้กับเวียดนามและฟิลิปปินส์ ที่ปะทุมากขึ้นในปีนี้ (2555)

เมื่อปีที่ผ่านมา (2554) รัฐบาลจีนยืนยันว่าจะซ่อมแซมเรือบรรทุกเครื่องบินเก่าของโซเวียด และยังกำชับอีกว่าเรือฯ นี้จะไม่มีการคุกคามประเทศเพื่อนบ้าน และมีจุดประสงค์หลักๆ คือจะนำมาใช้ในการฝึกซ้อมและการวิจัย

ทว่า นับตั้งแต่ส.ค.2554 เป็นต้นมา มีการทดลองออกทะเลของเรือบรรทุกเครื่องบิน ครั้งล่าสุดนับเป็นครั้งที่ 10 (27 ส.ค.) นั้น ก่อให้เกิดความกังวลจากชาติมหาอำนาจ อย่างญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ซึ่งเรียกร้องให้จีนอธิบายว่าทำไมถึงต้องการเรือบรรทุกเครื่องบินนัก

ทั้งนี้ เรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกของจีนนี้ เป็นเรือที่ต่อในอดีตสหภาพโซเวียต ชื่อเรือว่า “วาร์ยัค” แต่สร้างไปได้ 60 เปอร์เซ็นต์ สหภาพโซเวียตก็ล่มสลายลงเมื่อปี 2534 ทำให้ต้องหยุดชะงักไป และเนื่องจากอู่ต่อเรือฯ ลำนี้อยู่ในยูเครน กรรมสิทธิ์เรือฯ จึงตกเป็นของยูเครน ต่อมากองทัพปลดแอกประชาชนจีนได้ซื้อมาในมูลค่า 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อปี 2541 และนำมาดำเนินการซ่อมแซมปรับปรุงที่อู่เมืองต้าเหลียน มณฑลเหลียวหนิง ตั้งแต่ปี 2545 ขณะนี้ มีการตั้งชื่อเรือแต่เพียงว่า “หมายเลข 16”

กองทัพปลดแอกประชาชนจีน ปิดความลับเกี่ยวกับโครงการความมั่นคงที่ได้รับประโยชน์จากเงินงบประมาณทางทหารมหาศาล โดยเงินงบฯ ในปีนี้ (2555) สูงถึง 106,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเพิ่มขึ้น 11.2 เปอร์เซ็นต์

ตามรายงานของรัฐบาลสหรัฐฯ ในเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนกำลังทุ่มเงินกับการป้องกันภัยทางอากาศ เรือดำน้ำ อาวุธต่อต้านดาวเทียม และขีปนาวุธต่อต้านเรือที่ทันสมัย ทั้งหมดสามารถนำมาใช้เพื่อต่อต้านการเข้ามารุกรานในพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ เช่น ทะเลจีนใต้ นอกจากนี้ จีนยังใช้เงินในการป้องกันอีกราว 120,000 - 180,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
เรือบรรทุกเครื่องบิน วาร์ยัค ประดับประดาด้วยธงต่างๆ สวยงาม เนื่องในพิธีรับมอบเรือฯ ให้แก่กองทัพเรือ เมื่อวันที่ 23 ก.ย. (ภาพเฟิ่งหวง)
เรือบรรทุกเครื่องบินจีน หรือขณะนี้มีชื่อเรียกว่า หมายเลข 16 พร้อมพรักไปด้วยกองทหารเรือ เพื่อร่วมในพิธีรับมอบเรือฯ และเชิญธงชาติขึ้นสู่ยอดเสา เมื่อวันที่ 23 ก.ย. (ภาพเฟิ่งหวง)
กองทหารเรือเดินแถวอยู่ในบริเวณอากาศยาน บนเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกของจีน เนื่องในพิธีรับมอบเรือฯ เมื่อวันที่ 23 ก.ย. (ภาพเฟิ่งหวง)
ภาพอากาศยานส่งเครื่องบินรบบนเรือบรรทุกเครื่องบินจีน เมื่อวันที่ 2 ก.ย. (ภาพเฟิ่งหวง)
อากาศยานส่งเครื่องบินรบบนเรือบรรทุกเครื่องบินจีน มีการเพ้นท์เป็นหมายเลข 16 ซึ่งเป็นสัญลักษณ์เรือในขณะนี้ ภาพเมื่อวันที่ 15 ก.ย. (ภาพเฟิ่งหวง)

เรือยามฝั่งญี่ปุ่น “ดวล” ไต้หวัน จีนเข้าสู่ยุคมีเรือบรรทุกเครื่องบิน
เรือยามฝั่งญี่ปุ่น “ดวล” ไต้หวัน จีนเข้าสู่ยุคมีเรือบรรทุกเครื่องบิน
จีนจัดพิธีนำเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกของตนเข้าประจำการอย่างเป็นทางการเมื่อวันอังคาร (25) นับเป็นการแสดงแสนยานุภาพในขณะที่การช่วงชิงกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะต่างๆ ในอาณาบริเวณแถบนี้กำลังบานปลายยกระดับความร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยที่ในวันเดียวกันนี้เอง เจ้าหน้าที่อาวุโสของจีนบอกกับฝ่ายญี่ปุ่นในการเจรจาระดับสูงเกี่ยวกับกรณีพิพาทหมู่เกาะเตี้ยวอี๋ว์/เซงกากุ ว่าแดนอาทิตย์อุทัย “ต้องละทิ้งภาพลวงตาทั้งหลายทั้งปวง” เพราะแดนมังกรจะ “ไม่อดทนอดกลั้นอย่างเด็ดขาด” ต่อการละเมิดอธิปไตย นอกจากนั้น เรือยามฝั่งญี่ปุ่นก็ได้ดวลหัวฉีดน้ำความแรงสูงกับเรือประมงไต้หวันหลายสิบลำที่บุกเข้าไปใกล้หมู่เกาะแห่งนี้ซึ่งโตเกียวเป็นผู้ควบคุมอยู่
กำลังโหลดความคิดเห็น