xs
xsm
sm
md
lg

“ซานซา” ยุทธศาสตร์เมืองใหม่ฮุบเกาะพิพาทฯ ของพญามังกร (ตอนที่ 1)

เผยแพร่:   โดย: ชัยพร พยาครุฑ

พิธีเฉลิมฉลองการสถาปนาเมืองซานซาของจีน ณ เกาะหย่งซิง เมื่อวันที่ 24 ก.ค. (ภาพซินหวา)
ผู้จัดการออนไลน์ - ปัญหาพิพาทชิงน่านน้ำในทะเลจีนใต้ยิ่งเดือด เมื่อจีนสถาปนาเมืองใหม่ล่าสุด อยู่บนเกาะห่างไกลชายฝั่งของมณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) นามว่า “ซานซา” หลายฝ่ายเชื่อว่าความเคลื่อนไหวครั้งนี้ของจีน เป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการสยายปีกอำนาจให้กินพื้นที่บริเวณกว้างในทะเลจีนใต้

หมู่เกาะซานซาขนาดกะทัดรัด เนื้อที่ไม่พอแม้แต่จะสร้างกระทั่งรันเวย์เครื่องบิน แต่ในเมืองกลับมีสิ่งอำนวยความสะดวกตั้งแต่ที่ทำการไปรษณีย์ ธนาคาร ห้างสรรพสินค้า ไปยันโรงพยาบาล แต่ปัญหาหลักก็คือ น้ำดื่ม ที่ต้องลำเลียงทางเรือจากมณฑลใต้สุดของจีน ข้ามน้ำทะเลมาถึง 13 ชั่วโมง กว่าจะส่งมาอำนวยประโยชน์แก่ประชากรบนเกาะได้

หมู่เกาะซานซา เป็นตำแหน่งทางยุทธศาสตร์สำคัญที่จีนจะใช้ประโยชน์เพื่อการขยายอำนาจเข้าสู่น่านน้ำพิพาทที่หลายฝ่ายอ้างสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน มาเลเซีย และบรูไน

เนื่องในวาระเฉลิมฉลองสถาปนากองทัพปลดแอกประชาชนจีนครบรอบ 85 ปี เป็นเวลาประจวบเหมาะที่รัฐบาลปักกิ่งกำลังมีปัญหาพิพาทน่านน้ำกับเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ญี่ปุ่น ในทะเลจีนตะวันออก และเวียดนามกับฟิลิปปินส์ในทะเลจีนใต้ ความตึงเครียดระหว่างจีนและเพื่อนบ้านได้ขับเคี่ยวอยู่หลายเดือน ตลอดจนการที่หน่วยสังเกตการณ์ของจีนได้ล่องเรือรบออกไปในพื้นที่ขัดแย้งเพื่อหยั่งเชิงหรือประกาศให้รู้ว่า น่านน้ำเหล่านี้เป็นของจีน

ลั่ว หยวน นายพลใหญ่สายเหยี่ยวที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว มีทัศนะที่แข็งกร้าวว่า หากจีนไม่ทำอะไรเลยและมีจุดยืนแบบรับมืออย่างเดียว จะทำให้จีนสูญเสียผลประโยชน์ในระยะยาว ประเทศที่ไม่สนใจผลประโยชน์สำคัญของจีนขณะนี้สมควรถูกลงโทษ ลั่วกล่าวในการเสวนาที่กรุงปักกิ่งเมื่อปลายเดือนก.ค.ด้วยว่า พื้นที่ที่เป็นของจีนจะไม่มีทางหวนกลับคืนมา หากจีนไม่ทำอะไรเลยและมัวแต่ยืนดูสถานการณ์
นายเสี้ยว เจี๋ย เลขาธิการคณะกรรมาธิการเมืองซานซา และควบตำแหน่งนายกเทศมนตรีฯ กล่าวเปิดพิธีเฉลิมฉลองการสถาปนา วันที่ 24 ก.ค. (ภาพซินหวา)
ประกาศตั้ง “เมืองซานซา”

เมื่อวันอังคารที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา ขณะที่ลมแรงพัดต้นปาล์มไหวลู่ไปมา นายกเทศมนตรีคนใหม่ของเมืองซานซาก็ประกาศลั่น “ซานซาเป็นเมืองใหม่ล่าสุดของจีน”

กรุงปักกิ่งได้ตั้งคณะรัฐบาลปกครองซานซา เพื่อทำหน้าที่บริหาร ใช่เพียงพื้นที่บนเกาะที่มีประชากร 1,000 คน แต่มันคือพื้นที่หลายแสนตารางกิโลเมตรกินกว้างน่านน้ำโดยรอบ เจตนารมณ์ที่แท้ของจีนคือต้องการเสริมความมั่นใจในการควบคุมพื้นที่พิพาท ซึ่งเชื่อกันว่าอุดมไปด้วยทรัพยากรทางพลังงานเหลือจะกล่าว

สถานีวิทยุโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีนหรือซีซีทีวีออกอากาศถ่ายทอดสดพิธีสถาปนาเมืองซานซาอย่างเป็นทางการในวันเดียวกัน ธงชาติจีนชักขึ้นสู่ยอดเสา เพลงชาติบรรเลงก่อนจะมีการเปิดป้ายแผ่นจารึกหน้าอาคารทำการสีขาว “ที่ทำการรัฐบาลท้องถิ่นเมืองซานซา และคณะกรรมการเทศบาลเมืองซานซา ภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์”
แผนที่หมู่เกาะซานซาที่จีนประกาศเป็นเมืองใหม่ (ภาพเอเยนซี)
นายเสี้ยว เจี๋ย นายกเทศมนตรีเมืองซานซาขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ว่า การอนุมัติซานซาเป็นเมืองใหม่ของจีน เป็นการตัดสินใจอันชาญฉลาดของพรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาลจีน ในการพิทักษ์อธิปไตยของชาติ และเสริมความเข้มแข็งในการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งทรัพยากรธรรมชาติในบริเวณด้วย

รัฐบาลจีนส่งคณะผู้ปกครองไปตั้งหลักปักฐานอยู่บนเกาะหย่งซิง ซึ่งอยู่ในเขตหมู่เกาะพาราเซล มีเนื้อที่เพียง 350 ตร.กม. ทางตอนใต้ของเกาะไห่หนาน ภายใต้คำประกาศคณะมุขมนตรีจีนอนุมัติให้ซานซามีฐานะเป็นเมืองอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมิถุนายน เพื่อทำให้การปกครองของจีนในแถบหมู่เกาะพาราเซลและสแปรตลีย์เข้มแข็งขึ้น นอกจากนั้นยังรวมไปถึงหมู่เกาะจงซา หรือ Macclesfield Bank อันกว้างใหญ่ เป็นวงแหวนที่เกิดจากปะการังอยู่ใต้น้ำที่สมบูรณ์ มีปลานานาพันธุ์ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีไต้หวัน กับฟิลิปปินส์ที่อ้างสิทธิ์เป็นเจ้าของด้วย

จีนอ้างว่าน่านน้ำ และหมู่เกาะทั้งหมดในทะเลจีนใต้เป็นของตนเอง ทำให้เกิดข้อพิพาท บ่อยครั้งนำมาสู่การเผชิญหน้ากับหลายฝ่ายที่พยายามส่งหน่วยกำลังรักษาการณ์เข้ามาประจำการ ปักหมุดอธิปไตยของตนเพื่อคงประโยชน์จากเส้นทางการเดินเรือสินค้า และหวังครองแหล่งพลังงาน

ซานซาในภาษาจีนกลางหมายถึง “3 ทราย” อันได้แก่ ซีซา (สันดอนทรายตะวันตก) หนานซา (สันดอนทรายใต้) และจงซา (สันดอนทรายกลาง)

นายถาน เซียนคุน ผู้อำนวยการสำนักตรวจตราหมู่เกาะซีซาและพื้นที่อื่น ๆ ในทะเลจีนใต้อดีตเจ้าหน้าที่กองทัพปลดแอกประชาชนจีน ผู้มีหน้าที่ดูแลหมู่เกาะเคยพรรณนาไว้เมื่อปี 2553 ว่า ซานซาเป็นเกาะที่ตั้งอยู่ในพื้นที่แยกออกไป และดำรงชีวิตอยู่ได้ยาก เจ้าหน้าที่ต้องผลัดเปลี่ยนกันอยู่เวรคราวละ 1 เดือน แต่ชาวประมงสามารถอาศัยอยู่ได้ทั้งปี สภาพการดำรงชีวิตค่อนข้างเรียบง่าย สภาพอากาศทั้งร้อนทั้งชื้น อุณหภูมิสูงกว่า 30 องศาเซลเซียส ทุกแห่งเต็มไปด้วยเกลือ น้ำดื่มต้องเตรียมมากับเรือหรือไม่ก็ต้องรองน้ำฝนไว้ใช้เอง
เรือประมงจากไห่หนานที่กำลังจะแล่นไปทำประมงที่เมืองซานซา (ภาพซินหวา)
กำลังโหลดความคิดเห็น