เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - ผู้นำจีนส่วนใหญ่หลังสิ้นวาระแล้วจะโผล่มาให้เห็นตัวยากนัก น้อยคนที่จะตกเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ หรือไม่หากปรากฏตัวก็จะเป็นช่วงโอกาสพิเศษ เช่น งานฉลองวันชาติ เท่านั้น แต่อดีตประธานาธิบดีเจียง เจ๋อหมินกลับปรากฏตัวเด่นหลังจากที่หมดวาระทางการเมืองไปเมื่อทศวรรษที่แล้ว ทำให้เขากลายเป็นนักการเมืองเก่าที่ดูกระตือรือร้นสุด ภายใต้ระบบการเมืองที่อำนาจเป็นของพรรคคอมมิวนิสต์ฯ
เจียงหมดวาระจากตำแหน่งผู้นำสูงสุดคือเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ในปี 2545 และตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพปลดแอกประชาชนจีนเมื่อปี 2547 กระนั้นท่านผู้นำสูงวัยคนนี้ก็ยังปรากฏตัวต่อหน้าสาธารณชนอย่างน้อย 4 ครั้งในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา นอกจากนั้นยังได้เขียนบทนำให้ตำราประวัติศาสตร์เล่มหนึ่ง และชีวิตของเขายังถูกนำมาเขียนเป็นบทความขนาดยาวตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์พีเพิลเดลี ซึ่งอรรถาธิบายเชิดชูวีรกรรมบทบาทและการนำนาวาพรรคคอมมิวนิสต์ให้ล่องแล่นไปสู่การพัฒนา
ในช่วงปีที่ผ่านมา เจียงหายหน้าหายตาไปเป็นช่วงเวลานาน ทำให้เกิดข่าวลือว่าเขาป่วยหนักหรือถึงแก่อสัญกรรม ทำให้ไม่นานมานี้เจียงปรากฎตัวออกสื่อหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งเป็นเครื่องย้ำเตือนและส่งสัญญาณว่า เจียงยังคงทรงอำนาจทางการเมือง ฝ่ายเครือข่ายทางการเมืองของเขายังคงมีอำนาจในตำแหน่งผู้นำจีนอยู่หลายคน
นายจัง หลี่ฟาน นักวิารณ์การเมืองจีน เผยว่า "การปรากฎตัวของเจียงในกระแสสื่อบ่อยครั้งก็เป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า อดีตผู้นำจีนคนนี้ยังคงต้องการกุมอำนาจในการกำหนดนโยบายและกำหนดคนที่จะมาดำรงตำแหน่งกลุ่มการนำรุ่นใหม่"
ในขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนกำลังเปลี่ยนถ่ายอำนาจทางการเมืองในรอบทศวรรษ จากผู้นำรุ่นที่ 4 สู่รุ่น 5 ในการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์เต็มคณะครั้งที่ 18 ก็ปรากฏสัญญาณความตึงเครียดเชิงอำนาจหลายประการ เช่น การขับนายปั๋ว ซีไหล อดีตผู้นำพรรคฯ แห่งมหานครฉงชิ่งออกจากตำแหน่งโปลิตบูโรในเดือนเม.ย. ก็เป็นหนึ่งในกระแสการต่อสู้ดิ้นรนสู่อำนาจ
นักวิเคราะห์หลายสำนักเห็นว่า อิทธิพลของเจียงอาจจะบดบังรัศมีของประธานาธิบดีหู จิ่นเทาคนปัจจุบัน ที่กำลังจะหมดอำนาจ เนื่องจากผู้นำตัวเก็งที่ต่อแถวขึ้นดำรงตำแหน่งในสมัยหน้านั้น ล้วนเป็นคนของเจียง ซึ่งเก้าอี้ที่พวกเขาจะได้นั่งก็คือ คณะกรรมการประจำกรมการเมืองหรือโปลิตบูโรของคณะกรรมการกลางพรรคฯ ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงส่งทรงอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์
ดร. เฉิง หลี่ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยประจำศูนย์จอห์น ธอร์ตัน ไชน่า ณ สถาบันบรูกิงส์ ในกรุงวอชิงตันเผยว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดอันเป็นปัจจัยในการเลือกคณะกรรมการประจำกรมการเมืองฯ ก็คือ "ความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์" หลี่เผยว่า ผู้นำชุดปัจจุบันจะต้องปรึกษาผู้นำรุ่นเก่าที่เกษียณแล้ว โดยเฉพาะ "ท่านเจียง" ในการเลือกผู้นำรุ่นถัดไป
หลี่ให้ภาพผู้นำการเมืองจีนว่าเป็นระบบพรรคเดียว แต่มีสองสายการเมือง สายแรกได้แก่ กลุ่มพันธมิตรเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเต็มไปด้วยกลุ่มนักการเมืองลูกท่านหลานเธอที่สืบสกุลจากผู้นำรุ่นปฏิวัติจีนใหม่ ซึ่งกลุ่มนี้อยู่ภายใต้การนำของเจียง ส่วนสายที่สองประกอบไปด้วยอดีตเจ้าหน้าที่จากสันนิบาตเยาวชนคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน นำโดยหู จิ่นเทา "ทั้งสองสายการเมืองเป็นคู่แข่งชิงอำนาจ อิทธิพลและการกำหนดนโยบายของประเทศ"
"พันธมิตรการเมืองสายเซี่ยงไฮ้ของเจียงกลุ่มลูกท่านหลานเธอจะแข่งขันกับกลุ่มของหู และนายกรัฐมนตรีเวิน จยาเป่า หลังจากที่พวกเขาเห็นข้อบกพร่องล้มเหลวของรัฐบาลชุดปัจจุบันในการบริหารประเทศแล้ว" นายจัง ลี่ฟาน อดีตนักประวัติศาสตร์ประจำสถาบันสังคมศาสตร์จีนอันเลื่องชื่อ หนึ่งในคณะทำงานระดับมันสมองของชาติเผย
นักวิเคราะห์เห็นว่าเจียงเป็นผู้นำเกษียณที่ทรงอิทธิพลมากที่สุด ที่สามารถใช้อำนาจผ่านผู้นำในกลุ่มในระบบการเมืองของจีนได้ นายหลิน เวินเฉิง ผู้อำนวยการสถาบันแผ่นดินใหญ่ศึกษา มหาวิทยาลัยซุนยัดเซน เผยว่า "กลุ่มการเมืองของเจียง ยังคงครอบงำคณะกรรมการประจำกรมการเมืองจีนชุดปัจจุบัน"
เมื่อเจียงหมดวาระจากตำแหน่งอันทรงอำนาจมากที่สุดในพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปี 2545 เขาก็ได้วางตัวคนที่มาดำรงตำแหน่งคณะกรรมการกรมการเมือง 25 คน และคณะกรรมการประจำกรมการเมืองอีก 9 คน โดยคนเหล่านี้เป็นคนที่เขาวางใจ
หลินชี้ว่า ตำแหน่งคณะกรรมการประจำกรมการเมืองฯในการประชุมสมัชชาพรรคฯ ครั้งที่ 16 นั้น 7 ใน 9 ตำแหน่งเป็นคนของเจียง มีเพียงหูและเวินเท่านั้นที่ไม่ใช่
สตีฟ จัง ศาสตราจารย์ด้านจีนร่วมสมัยและผู้อำนวยการสถาบันนโยบายจีนศึกษา แห่งมหาวิทยาลัยน็อตติงแฮม เผยว่า เจียงยังคงสามารถชักใยอำนาจหลังจากลงจากตำแหน่งผู้นำพรรคฯ โดยการนั่งเก้าอี้ประธานคณะกรรมาธิการกลางฝ่ายการทหารของพรรคฯต่อไปอีกสองปีครึ่ง
"ในการนั่งเก้าอี้ผู้นำฝ่ายการทหารของเจียง ทำให้เขาสามารถใช้อำนาจได้อย่างเป็นทางการอยู่" จังกล่าว "เหนือสิ่งอื่นใด เจียงได้ส่งสัญญาณที่ทรงพลังว่า เขายังคงมีตัวตน และยังจะคงมีอิทธิพลต่อไป แม้ไม่อาจเทียบกับอิทธิพลในขณะที่ยังดำรงตำแหน่งอยู่ก็ตาม"
หลินเผยว่า เจียงได้รักษาอิทธิพลมาจนถึงปี 2550 ผ่านนักการเมืองเจิง ชิ่งหง ซึ่งดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีและเลขาธิการใหญ่ของคณะกรรมาธิการกลางฯ อันเป็นมันสมองของพรรคคอมมิวนิสต์ ก่อนที่เจิงจะลงจากอำนาจในปี 2550 เขาได้ช่วยดันคนของเจียงเข้าไปดำรงตำแหน่งที่มีหน้าที่ในการกำหนดนโยบายของพรรคออย่างสุดกำลัง
หลินชี้ว่า เจิงเป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญที่ช่วยดันสี จิ้นผิงให้เป็นรองประธานาธิบดี และทายาทผู้นำในการประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 17 เมื่อปี 2550 สามารถเอาชนะคนที่หูชื่นชอบและไว้ใจใกล้ชิดนั่นก็คือ รองนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียงไปได้
หลินกล่าวว่า ในการประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 17 อย่างน้อยมีคณะกรรมการประจำกรมการเมืองฯ 5 คนเป็นคนของเจียง อันได้แก่ ผู้คุมกฎใหญ่ อู๋ ปังกั๋ว ที่ปรึกษาทางการเมืองระดับสูง จย่า ชิ่งหลิน หัวหน้าฝ่ายโฆษณาการหลี่ ฉังชุน ผู้นำฝ่ายพิทักษ์สันติราษฎร์ โจว หย่งคัง และเลขาธิการของพรรคว่าที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง
ในโอกาสพิเศษระดับชาติ อาทิ การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกกรุงปักกิ่ง และพาราลิมปิกในปี 2551 เฉลิมฉลองครบรอบก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนครบ 60 ปี ในปี 2552 พิธีฉลองครบรอบ 100 ปีวันเกิดพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อปีที่ผ่านมา เจียง เจ๋อหมิน มักจะขโมยซีนหู จิ่นเทาเสมอมา
"เจียงต้องการส่งสัญญาณบอกประชาชนว่า เขายังคงมีอำนาจอยู่ อย่างน้อยในการประชุมสมัชชาพรรคฯครั้งที่ 18" จัง ลี่ฟาน กล่าวทิ้งท้าย