เอเยนซี - ยอดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเดือนมิ.ย.ลดลงร้อยละ 6.9 อยู่ที่ 12,000 ล้านดอลลาร์ เทียบกับปีก่อนหน้า ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับวิกฤติหนี้ยุโรป และเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวและนโยบายคุมเข้มอสังหาริมทรพัย์ ทำให้แรงดึงดูดใจของนักลงทุนลดลง
สื่อต่างประเทศรายงาน (17 ก.ค.) เปิดเผยยอดลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ เดือนมิ.ย. ซึ่งนายหวัง เชา รัฐมนตรีช่วยกระทรวงพาณิชย์จีน เปิดเผยเมื่อวันจันทร์ (16 ก.ค.) ว่า ยอดลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศระหว่างเดือนมกราคมถึงมิถุนายน มีทั้งสิ้นราว 59,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลงร้อยละ 3 เมื่อเทียบเป็นรายปี
รายงานระบุว่า ยอดลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ เฉพาะเดือนมิถุนายนนี้ อยู่ที่ราว 12,000 ล้านดอลลาร์ ลดลงราวร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว แม้ตัวเลขนี้จะแสดงให้เห็นการชะลอตัวของเงินลงทุน แต่นายหวัง ยังคงมองในด้านดีกับผลรวมฯ ของทั้งปี ซึ่งน่าจะยังอยู่ในระดับเท่าๆ กับปีที่แล้ว
หวัง กล่าวว่า รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการบริโภคในประเทศ ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนจากทั่วโลก
รายงานข่าวกล่าวว่า จำนวนบริษัทที่จัดตั้งใหม่ด้วยเงินทุนจากต่างประเทศ ในเดือนมิ.ย. มีอยู่ทั้งสิ้น 2,444 บริษัท ลดลงร้อยละ 16.3 เมื่อเทียบเป็นรายปี ขณะที่ในช่วง 6 เดือนแรกนั้น มีบริษัทจัดตั้งใหม่ 11,705 แห่ง ต่ำกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้วร้อยละ 13.1
แม้ยอดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ เป็นปัจจัยสำคัญของเศรษฐกิจที่อิงอยู่กับภาคการผลิตของจีน แต่ก็มีผลไม่มากกับภาพรวมของเงินทุนทั้งหมดที่เคลื่อนไหลอยู่ในระบบซึ่งมีมูลค่าราว 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ (พ.ศ. 2554)
ด้านนาย เสิ่น ตันหยาง โฆษกกระทรวงพาณิชย์ แถลงชี้แจงมูลเหตุที่ยอดเงินลงทุนฯ ลดลงในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ที่เป็นเพราะการหดตัวของการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ อันสืบเนื่องมาจากนโยบายคุมความร้อนแรงและป้องกันภาวะฟองสบู่นั้น ไม่อาจจะกล่าวว่าเป็นผลเสีย และยังเป็นสิ่งที่นายกรัฐมนตรีจีน เวิน จยาเป่า พยายามกล่าวเน้นย้ำอยู่เสมอถึงการปรับราคาอสังหาริมทรัพย์ ให้อยู่ในระดับที่สมเหตุสมผลกับเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งข้อมูลได้พบว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคได้ลดลงได้อย่างรวดเร็วในเดือนมิถุนายน
ข้อมูลตัวเลขยังได้แจกแจง ว่า ยอดลงทุนโดยตรงจากสหภาพยุโรปในจีนนั้น เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบเป็นรายปี อยู่ที่ 3,500 ล้านดอลลาร์ อันเป็นการลงทุนจากเยอรมนีเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.2 สวิตเซอร์แลนด์เพิ่มขึ้นร้อยละ 213.1 และเนเธอร์แลนด์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 67.3
สำหรับมาตรการใหม่ๆ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ นั้นมีอาทิ การอำนวยความสะดวกในการอนุมัติโครงการลงทุนต่างๆ รวมทั้งมาตรการกระตุ้นการบริโภคในภาคครัวเรือน และรุดผลักดันการปฏิรูประบบการเงินอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ สถิติยอดลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในปี 2554 นั้นอยู่ที่ 116,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่กระทรวงพาณิชย์จีน ตั้งเป้าไว้ว่าในช่วง 4 ปีข้างหน้านี้ จะสามารถดึงดูดเงินลงทุนฯ เฉลี่ยปีละ 120,000 ล้านดอลลาร์