xs
xsm
sm
md
lg

เผยโรงงานชิ้นส่วนแอปเปิลในจีนใช้แรงงานเยี่ยงทาส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ลูกค้ายืนใช้ไอแพดอยู่หน้าร้านตัวแทนแอปเปิลในเซี่ยงไฮ้ 28 มิ.ย. ทั้งนี้สินค้าแอปเปิลเป็นที่นิยมไปทั่วบนแดนมังกร ผู้บริโภคที่มีอันจะกินหรือกระทั่งคนทั่วไปก็ดิ้นรนหาทั้งไอโฟน ไอแพดไว้ในครอบครอง (ภาพเอเอฟพี)
เอเอฟพี - กลุ่มสิทธิแรงงานจีนเผยรายงานการตรวจสอบโรงงานผลิตชิ้นส่วนบริษัทแอปเปิล ยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีอันเลื่องชื่อสัญชาติมะกัน พบสภาพการทำงานที่เลวร้ายย่ำแย่ กดขี่พนักงานให้ทำงานล่วงเวลาเกินกฎหมายกำหนดหลายเท่าตัว

ศูนย์ติดตามแรงงานจีน (China Labor Watch) เผยว่า หลังจากตรวจสอบโรงงานผลิตชิ้นส่วนแอปเปิล 10 แห่ง เป็นเวลากว่า 4 เดือนทางตอนใต้และตะวันออกของจีน ก็พบว่ามีการละเมิดสิทธิแรงงาน ตั้งแต่การทำกะนอกเวลาจนเกินกำลังมนุษย์ ตลอดจนสภาพแวดล้อมการทำงานที่ย่ำแย่สุดบรรยาย

“การตรวจ 10 โรงงานแอปเปิลที่แตกต่างกันออกไปในจีนพบว่าสภาพแวดล้อมการทำงานเลวร้าย พนักงานทำงานเกินเวลาหลายชั่วโมง แถมได้รับค่าตอบแทนต่ำกันอย่างกว้างขวางทั้งโรงงาน”

รายงานผลการสำรวจฯ ได้ทำการสัมภาษณ์แรงงาน 620 คน และผู้วิจัย 6 คนเข้าสังเกตการณ์สภาพแวดล้อมต่าง ๆ ในโรงงานก่อนสรุปผล

สหพันธ์เพื่อความเป็นธรรมของแรงงาน (Fair Labour Association) ได้เคยเผยผลการสำรวจในเดือนมี.ค.หลังจากลงพื้นที่สำรวจโรงงานผลิตชิ้นส่วนแอปเปิลในจีนก็สรุปว่า มีการบีบบังคับให้ทำงานเกินเวลา และปัญหาอื่น ๆ อีกคนานัป

หลี่ เฉียง ผู้อำนวยการศูนย์ติดตามแรงงานจีน ได้เรียกร้องให้แอปเปิลออกมาให้คำมั่นว่าจะยกระดับสภาพแวดล้อมที่ย่ำแย่ในการทำงานของแรงงาน เขาได้ส่งจดหมายไปยังทิม คุก ผู้อำนวยการบริหารของแอปเปิลเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงให้เร็วที่สุด
แรงงานจีนนอกบริษัทฟ็อกซ์คอนน์ในเซินเจิ้น มณฑลก่วงตง 27 พ.ค. (ภาพเอเอฟพี)
หลี่ถามว่า “การทีแอปเปิลเคยบอกว่าจะออกมาจัดการปัญหานั้นเป็นความจริงใจ หรือเป็นเพียงการสร้างภาพ”

หลี่ให้สัมภาษณ์กับเอเฟพีว่า การสืบค้นของสหพันธ์เพื่อความเป็นธรรมฯ นั้นมีการเข้าถึงที่ดีกว่าศูนย์ติดตามฯ อย่างไรก็ดีรายงานเล่มเก่าของสหพันธ์วิพากษ์วิจารณ์แค่ตัวโรงงาน แต่ไม่ได้ชี้ให้เห็นว่าแอปเปิลตัวพ่อต้องออกมารับผิดชอบ

“แอปเปิลจะต้องออกมารับผิดชอบและเปลี่ยนแปลงสภาพการทำงานที่ย่ำแย่ของแรงงาน” หลี่กล่าว

จากรายงานของสหพันธ์ฯ ผู้ผลิตชิ้นส่วนรายใหญ่สุดของแอปเปิลคือ ฟ็อกซ์คอนน์ของไต้หวัน ก็เคยลั่นว่าจะจัดการปัญหาเงื่อนไขการทำงานของแรงงานในจีน ตั้งแต่เรื่องเวลาการทำงานกะนอกเวลาให้เป็นไปตามกฎหมาย

ฟ็อกซ์คอนน์ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์เรื่อยมาตั้งแต่ปี 2553 หลังจากเกิดเหตุการณ์แรงงานกระทำอัตวินิบาตกรรม ทั้งโดยเจตนาและอุบัติเหตุ ก่อให้เกิดความวุ่นวายในโรงงานหลายแห่ง โดยในปีดังกล่าวมีลูกจ้างเสียชีวิต 13 ราย

ศูนย์ติดตามฯ รายงานว่า ยังมีโรงงานชิ้นส่วนแอปเปิลแห่งอื่นที่ปฏิบัติต่อแรงงานได้โหดร้ายกว่าฟ็อกซ์คอนน์ “การละเมิดสิทธิแรงงานที่ฟ็อกซ์คอนน์นั้นยังคงมีอยู่ แต่ก็ยังมีแห่งอื่นๆ ที่ทำได้เลวร้ายกว่าฟ็อกซ์คอนน์”

ศูนย์ติดตามฯ พบว่าแรงงานใน 10 โรงงานที่สำรวจ ในเดือนหนึ่งจะทำนอกเวลาเกินที่กฎหมายกำหนดตั้งแต่ 100-300 ชั่วโมง ซึ่งกฎหมายจีนกำหนดให้ทำงานนอกเวลาได้ไม่เกิน 36 ชั่วโมงเท่านั้น
แรงงานจีนในโรงงานฟ็อกซ์คอนน์ในเซินเจิ้น มณฑลก่วงตง 27 พ.ค. (ภาพเอเอฟพี)
ด้วยค่าแรงที่ต่ำจัดเป็นการบีบบังคับให้แรงงานต้องทำงานล่วงเวลาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง บางโรงงานก็ตุกติกไม่ยอมจ่ายค่าแรงตามเวลาที่ทำงานเกิน

เงื่อนไขการทำงานในโรงงานผลิตชิ้นส่วนให้แอปเปิลสรุปว่าย่ำแย่ ตั้งแต่มีเสียงดังเป็นมลภาวะต่อโสตประสาท และยังมีสารพิษจากเคมีอีกด้วย

แรงงานเองไม่มีพลังพอที่จะผลักดันให้มีเงื่อนไขการทำงานที่ดีขึ้นได้ เนื่องจากพวกเขาไม่รู้กลไกการรวมตัวต่อรอง ทั้งนี้จีนอนุญาตให้มีเพียงสหภาพแรงงานแห่งชาติเพียงแห่งเดียวเท่านั้น ซึ่งก็ทำงานเชื่อมโยงโดยตรงกับรัฐบาล

สินค้าแอปเปิลเป็นที่นิยมไปทั่วบนแดนมังกร ผู้บริโภคที่มีอันจะกินหรือกระทั่งคนทั่วไปก็ดิ้นรนหาทั้งไอโฟน ไอแพดไว้ในครอบครอง

ศูนย์ติดตามแรงงานจีนเผยว่า กว่าร้อยละ 70 ของแรงงานที่ทำการสำรวจไม่มีสินค้าจากแอปเปิลไว้ใช้สักคน แม้พวกเขาก็อยากจะมีไว้ในครอบครองก็ตาม

10 โรงงานที่ทำการสำรวจได้แก่ ฟ็อกซ์คอนน์ จาบิล เซอร์กิต, บีวายดี อิเล็กทริก ในตอนใต้ของเซินเจิ้น ตลอดจนรื่อเถิง คอมพิวเตอร์ แอคเซสซอรี่ และ Kenseisha ในเซี่ยงไฮ้ ส่วนอีก 5 บริษัทที่เหลืออยู่ในมณฑลเจียงซู

ขณะนี้นักข่าวเอเอฟพียังไม่สามารถติดต่อบริษัทแอปเปิลและฟ็อกซ์คอนน์ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น