เอเจนซี - ข้อตกลงของฟ็อกซ์คอนน์ เทคโนโลยี ในการยกระดับความเป็นอยู่ของพนักงาน 1.2 ล้านคนในจีน ที่ช่วยกันผลิตไอแพ็ดและไอโฟน นับเป็นสัญญาณว่า แดนมังกรกำลังสูญเสียตำหน่งผู้ผลิตต้นทุนต่ำสุดของโลก
นี่ไม่ใช่ประเด็นด้านเศรษฐกิจล้วนๆ แต่ยังมีปัจจัยด้านจรรยาบรรณเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย หลังจากที่แอปเปิลตัดสินใจอย่างไม่เคยทำมาก่อนในการอนุญาตให้มีการสอบสวนครั้งใหญ่ที่สุดต่อปฏิบัติการนอกประเทศของบริษัทอเมริกัน
และหลังจากขูดรีดส่วนต่างกำไรจากผู้รับจ้างผลิตมานานปี ขณะนี้ใกล้ถึงเวลาแล้วที่แบรนด์ใหญ่ๆ อาจจำยอมสละผลกำไรบางส่วนเพื่อลบล้างเสียงวิจารณ์ว่า ผลิตภัณฑ์ของตนสร้างมาจากการขูดรีดแรงงานจีน
เจย์ ฮวง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของวินเทค จากไต้หวัน ผู้ผลิตแผงสัมผัสให้แอปเปิลและแบรนด์อื่นๆ ที่มีรายได้ปีที่แล้ว 3,000 ล้านดอลลาร์ ชี้ว่า ยุคแห่งต้นทุนและแรงงานราคาถูกในจีนใกล้จบลงแล้ว
“คนมักคิดว่า ตลาดควรเสนอสินค้าราคาถูก ในอดีตสินค้าเหล่านั้นต้องแลกมาด้วยแรงงานค่าแรงต่ำในจีน การขาดแคลนเวลาพักผ่อนและสวัสดิการ แต่ตอนนี้เราต่างเห็นพ้องว่า สิ่งต่างๆ ต้องดีขึ้น และในฐานะผู้ผลิตที่มีจรรยาบรรณ เราต้องปรับปรุงสวัสดิการของพนักงาน”
วินเทคเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่พนักงาน เช่น ติดตั้งระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เพื่อให้พนักงานติดต่อหาครอบครัว ผู้รับจ้างผลิตของแอปเปิลอีกรายคือ เปกาตรอน ยกเครื่องการดำเนินการเพื่อโอนพนักงานบางคนจากการรับผิดชอบงานเพียงอย่างเดียวเข้าสู่ทีมที่มีทักษะหลากหลาย
ในข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แอปเปิลและฟ็อกซ์คอนน์เห็นพ้องจัดการการละเมิดสภาพการทำงานของพนักงานที่ประกอบผลิตภัณฑ์สำคัญของแอปเปิล โดยฟ็อกซ์คอนน์ที่ผลิตสินค้าให้บริษัทชั้นนำอื่นๆ ด้วย เช่น เดลล์ และโซนี่ ยอมรับการเปลี่ยนแปลงหลังจากฟรี เลเบอร์ แอสโซซิเอชัน (เอฟแอลเอ) ทำการสอบถามความคิดเห็นพนักงาน 35,000 คนในโรงงาน
ฟ็อกซ์คอนน์ เจ้าของฮอนไฮ พรีซีชัน อินดัสทรีที่เป็นผู้ประกอบหลักสำหรับผลิตภัณฑ์ของแอปเปิลในโรงงานในจีน จะว่าจ้างพนักงานใหม่นับหมื่นคน ยกเลิกการทำงานล่วงเวลาผิดกฎหมาย ปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัย และปรับปรุงที่อยู่อาศัยและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ของพนักงาน
แอปเปิลไม่ใช่แบรนด์ดังแห่งเดียวที่เผชิญเสียงวิจารณ์เกี่ยวกับวิธีการผลิตสินค้าของบริษัท ในทศวรรษ 1990 ไนกี้เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หลังถูกโจมตีในลักษณะคล้ายกัน
ทิศทางเศรษฐกิจและนโยบายของจีนขณะนี้บ่งชี้ว่า แรงงานมีอิทธิพลมากขึ้น การขาดแคลนแรงงานและค่าแรงที่พุ่งลิ่วในอัตราเลข 2 หลักทำให้พนักงานมีทางเลือกมากขึ้น และมีแนวโน้มย้ายไปทำงานที่มีค่าแรงสูงกว่า
ชิกัง ต่าว ศาสตราจารย์คณะธุรกิจและเศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยฮ่องกง ชี้ว่าจุดต่างในขณะนี้คือ ปัจจัยภายใน เช่น การแข็งค่าของเงินหยวน การผสมผสานทางสังคม และการปรับปรุงการกระจายความมั่งคั่ง จากในอดีตที่การเปลี่ยนแปลงมักมาจากการกดดันของต่างชาติ เช่น กลุ่มแรงงานอเมริกันที่ปลุกเร้าประเด็นสิทธิแรงงานในจีน
ขณะเดียวกัน จีนจำเป็นต้องผ่องถ่ายจากการผลิตต้นทุนต่ำที่สร้างมลพิษ ไปสู่การผลิตที่ส่งเสริมการพัฒนา ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนของทั้งประเทศ และเป็นส่วนสำคัญของกลยุทธ์รวมในการเปลี่ยนแปลงสู่ระบบที่มุ่งเน้นการบริโภคภายในมากขึ้นควบคู่กับการลดการพึ่งพิงการส่งออก
อย่างไรก็ดี ยังต้องรอดูต่อไปว่า แบรนด์ใหญ่จะร่วมอุดหนุนมากน้อยเพียงใดเพื่อให้ผู้รับจ้างผลิตสามารถยกระดับสภาพการทำงานของแรงงาน โดยมีเสียงวิจารณ์เซ็งแซ่ถึงช่องว่างระหว่างการป่าวประกาศถึงความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจ กับการลงมือทำจริง
ชาร์ลส์ ลิน ประธานเจ้าหน้าที่การเงินของเปกาตรอนที่รับจ้างผลิตให้เอเซอร์ของไต้หวัน และโตชิบาของญี่ปุ่นด้วยนั้น เสริมว่า เสียงวิจารณ์ช่วยให้ผู้รับจ้างผลิตปรับปรุงสภาพการทำงานให้ดีขึ้น แต่นี่เป็นปัญหาสังคม ดังนั้น จึงไม่ควรผลักภาระให้ผู้รับจ้างผลิตฝ่ายเดียว แต่ผู้รับจ้างผลิตควรมีกำไรมากพอเพื่อนำเงินมาใช้ในการปรับปรุงด้วย
ดังนั้น ผู้รับจ้างผลิตจึงพยายามมองหาทางออก เช่น เปกาตรอนที่จัดให้พนักงานทำงานเป็นกลุ่มและหมุนเวียนทำงานหลากหลายแทนงานเดิมๆ ซ้ำซาก ซึ่งลินบอกว่า ค่าแรงจำเป็นต้องแพงขึ้นเนื่องจากบริษัทต้องการแรงงานที่มีทักษะมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันผลผลิตก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยปีที่แล้ว เปกาตรอนมีรายได้เกือบ 13,000 ล้านดอลลาร์
แน่นอนว่า ต้องมีบางคนสงสัยว่า เหตุใดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ มักเชื่องช้า
เด็บบี้ ชาน จากสติวเดนท์ แอนด์ สกอลาร์ อะเกนสต์ คอร์เปอเรต มิสบีแฮฟวิเออร์ ในฮ่องกง โจมตีว่า องค์กรพัฒนาเอกชนได้รับเอกสารการละเมิดที่เอฟแอลเอจัดทำมา 2 ปีแล้ว แต่ทำไมแอปเปิลจึงเพิกเฉยต่อปัญหามานานขนาดนี้
หมิงฉีกัว นักวิเคราะห์ของเคจีไอ ซีเคียวริตี้ส์ในไทเป สำทับว่า ผู้รับจ้างผลิตขนาดเล็กที่ไม่มีบริษัทใหญ่อย่างแอปเปิลมาร่วมสมทบเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านค่าแรงและเงื่อนไขการทำงาน จะมีความกดดันด้านต้นทุนมากกว่า
เดวิด ลี ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดจ้างในฮ่องกงของบอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป ตั้งข้อสังเกตทิ้งท้ายว่าในประเทศที่โครงข่ายความปลอดภัยทางสังคมมีขนาดเล็กมาก คนงานจีนมากมายจึงทำงานเพื่อหวังรายได้มากกว่าสภาพความเป็นอยู่และเงื่อนไขการทำงาน