xs
xsm
sm
md
lg

เจ้ากลาโหมจีนเยือนเพนตากอน หาทางออกร่วมหลายปัญหาฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รัฐมนตรีกลาโหมมะกัน นายลีออน พาเนตตา (ซ้าย) ฟังนายเหลียง กวงเลี่ย รัฐมนตรีกลาโหมจีนกล่าว ระหว่างการแถลงข่าว ที่เพนตากอน สหรัฐอเมริกา 7 พ.ค. (ภาพเอเอฟพี)
เอเอฟพี - เจ้ากระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ และจีนลั่นว่าจะทำงานร่วมกันในการต่อต้านภัยคุกคามบนโลกไซเบอร์ ตลอดจนเจรจาเสริมศักยภาพความมั่นคงทั้งสองฝ่ายให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น แม้ปัญหาง่อนแง่นทางการทูตเกี่ยวกับกรณีของเฉิน กวงเฉิง นักเคลื่อนไหวตาบอด จะทำให้สัมพันธ์ฯ สองฝ่ายช่วงนี้อึมครึมลงก็ตาม

รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ นายลีออน พาเนตตา และเจ้ากลาโหมจีนนายเหลียง กวงเลี่ย (7 พ.ค.) ต่างคิดเห็นในเชิงบวกแถลงข่าวร่วมกันที่เพนตากอนว่า จะร่วมกันปฏิบัติการทางทะเลเพื่อปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายในอ่าวเอเดน มหาสมุทรอินเดียในปีนี้ และมีแผนการเบื้องต้นจะร่วมมือกันดูแลเรื่องความมั่นคงในโลกไซเบอร์

การเดินทางเยือนของนายเหลียง กวงเลี่ย นับว่าเป็นครั้งแรกที่รัฐมนตรีกลาโหมจีนเยือนแดนลุงแซมในรอบ 9 ปี ขณะที่เจ้าหน้าที่ความมั่นคงของมะกันก็เลือกที่จะปิดปากเงียบเกี่ยวกับกรณีของนายเฉิน กวงเฉิง นักกฎหมายตาบอดที่หลบหนีจากบ้านพักที่ถูกกักบริเวณมาลี้ภัยในสถานทูตอเมริกากรุงปักกิ่ง

เพนตากอนปิดปากเงียบ ไม่ท้วง
สิทธิมนุษยชน


จะไม่มีการกล่าวถึงเรื่องราวของเฉินในเพนตากอน เพราะสหรัฐฯ เคยเผยไปก่อนหน้านี้แล้วว่า ชะตากรรมของเฉินเป็นเรื่องของกระทรวงต่างประเทศ

เฉิน กวงเฉิง หลบกหนีจากบ้านพักมาลี้ภัยในสถานทูตมะกันกรุงปักกิ่งเป็นเวลา 6 วัน นับจากวันที่ 26 เม.ย. ทำให้กลายเป็นปัญหาอึมครึมระหว่างจีน-สหรัฐฯ ในช่วงไม่กี่วันก่อนที่นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ จะเดินทางเยือนจีนเพื่อเจรจาทางเศรษฐกิจระดับสูง

เจ้าหน้าที่สถานทูตเผยว่า หลังจากการเจรจาก็ได้ทางออกโดยให้เฉินเดินทางมายังสหรัฐฯ กับครอบครัวเพื่อมาศึกษาต่อ แต่จีนก็ได้เตือนสหรัฐฯ ว่า ให้มีมาตรการที่เป็นมาตรฐานเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องแบบนี้ซ้ำรอยขึ้นอีก

2 ยักษ์ร่วมกำจัดเหล่าร้ายในโลก
ไซเบอร์ฯ


ในงานแถลงข่าวที่เพนตากอน เหลียงปฏิเสธข้อกล่าวหาของสหรัฐฯ ที่ว่า จีนอยู่เบื้องหลังการโจมตีเครือข่าย
ไซเบอร์ของสหรัฐฯ แต่ก็เผยว่า ทั้งสองฝ่ายได้พยายามที่จะช่วยกันจัดการกับภัยคุกคามนี้

“ในระหว่างการอภิปรายระหว่างกัน พวกเราได้พูดคุยเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จีนและสหรัฐฯ จะร่วมมือกันทำงานเพื่อพยายามสร้างความมั่นคงในโลกไซเบอร์ให้จงได้” ล่ามภาษาอังกฤษแปลคำกล่าวของเหลียง

“ส่วนรายละเอียดคงต้องให้ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ดำเนินการและชี้แจง” เหลียงย้ำ

พาเนตตายินดีกับข้อเสนอของเหลียงและเผยว่า “จีนและสหรัฐฯ ได้ร่วมกันพัฒนาศักยภาพทางเทคโนโลยีเกี่ยวกับโลกไซเบอร์ เพื่อป้องกันความเข้าใจผิดหรือการตีความผิด อันจะนำมาสู่วิกฤตได้”

ฤๅภัยคุกคามมะกันจะเป็นอาวุธจีน

ความกังวลเกี่ยวกับการผงาดง้ำของกองทัพจีนนั้น เพนตากอนเองก็พยายามเจรจากับผู้นำระดับสูงของจีนเพื่อให้มั่นใจว่า การแข่งขันพัฒนาอาวุธจะไม่นำมาสู่ความขัดแย้งระหว่างกัน

ความสัมพันธ์ด้านกลาโหมของสองฟากฝั่งยังคงอยู่ใน
ภาวะอึมครึมไม่แน่นอน เจ้าหน้าที่ระดับสูงฝ่ายความมั่นคงของจีนได้แช่แข็งความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ กรณีที่ขายอาวุธให้กับไต้หวันและการกระทำอื่นๆ ที่ไม่ไว้หน้าจีน


อย่างไรก็ดี เหลียงยืนยันว่า จีนได้เชิญรัฐมนตรีกลาโหมมะกันมาเยือนจีนในครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งเจ้าหน้าที่
มะกันมองว่าเป็นก้าวย่างความร่วมมือที่สำคัญ

พาเนตตาเผยว่า การเจรจาฯ ดังกล่าวยังได้พูดถึงประเด็นเกาหลีเหนือ ข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ โลกไซเบอร์ การแพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ ระบบป้องกันขีปนาวุธ และความร่วมมือด้านปฏิบัติการเพื่อมนุษยธรรม

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ กำลังกังวลว่า ขีปนาวุธต่อต้านเรือ เรือดำน้ำและศักยภาพเทคโนโลยีดาวเทียมจีนจะเข้ามากร่อนเซาะอำนาจทัพเรือของมะกันในแปซิฟิก ตลอดจนการสกัดดั้นการล่องเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐฯ ที่ล่องอยู่ในทะเลหลวงด้วย

แต่รัฐบาลจีนก็ยืนกรานว่า งบประมาณการใช้จ่ายทางทหารนั้นเป็นไปเพื่อป้องกันตัวล้วนๆ พร้อมกับประณามสหรัฐฯ ว่า สหรัฐฯ มองจีนเป็นภัยคุกคามเอง เท่ากับเป็นการคิดแต่ฝ่ายเดียว

นอกจากความวุ่นวายเรื่องเฉิน กวงเฉิง แล้ว การเยือนของนายเหลียง กวงเลี่ย ยังมีปัญหาคุกรุ่นเรื่องความโกรธเกรี้ยวของจีน กรณีที่สหรัฐฯ ให้การสนับสนุนอาวุธทางทหารแก่ไต้หวัน ตลอดจนการที่สหรัฐฯ ให้ท้ายประเทศต่างๆ ให้หันมาแว้งกัดจีนเกี่ยวกับปัญหาการอ้างสิทธิ์ในทะเลจีนใต้

การติดต่อทางการทหารระหว่างจีนและสหรัฐฯ ระงับลงในช่วงต้นปี 2553 เนื่องจากสหรัฐฯ เปิดเผยว่าทำธุรกรรมด้านอาวุธกับไต้หวันมูลค่า 6,000 ล้านดอลลาร์ จีนรับไม่ได้เนื่องจากอ้างว่าไต้หวันเป็นของจีน

อย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์ฯ ได้ฟื้นฟูเมื่อสิ้นปี 2553 ก่อนที่รัฐมนตรีกลาโหมมะกัน นายโรเบิร์ต เกตส์ จะเดินทางเยือนกรุงปักกิ่งในเดือน ม.ค. 2554

ในช่วงการเยือนของนายเหลียงที่กินเวลาเป็นสัปดาห์นี้ เขาได้เดินทางไปยังซานฟรานซิสโก (4 พ.ค.) พร้อมกับเยือนสถานีนาวิกโยทินสหรัฐฯ ในซานติอาโก
(5 พ.ค.) นับเป็นครั้งแรกที่เขาได้เห็นขีดความสามารถของทัพเรือมะกัน


เหลียงมีกำหนดการเยือนที่ตั้งหน่วยบัญชาการนาวิกโยธินแห่งอื่นๆ ก่อนจะเดินทางกลับในวันพฤหัสฯ
(10 พ.ค.)
กำลังโหลดความคิดเห็น