เอเจนซีส์ - รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ฮิลลารี คลินตัน ออกเดินทางจากกรุงวอชิงตันในวันจันทร์ (30 เม.ย.) ในเที่ยวการเดินทางที่เธอจะแวะเยือนเอเชียใต้ ทว่า จุดหมายปลายทางสำคัญที่สุดและมีเดิมพันสูงที่สุดก็คือการไปยังกรุงปักกิ่งในปลายสัปดาห์นี้ โดยที่มีรายงานว่านักเคลื่อนไหวคนสำคัญของแดนมังกรได้หลบหนีจากการถูกควบคุมตัวในบ้านพัก และเชื่อว่ากำลังลี้ภัยอยู่ในสถานเอกอัครราชทูตอเมริกัน คาดกันว่ากรณีนี้กำลังคุกคามที่จะเบี่ยงเบนบดบังการประชุมยุทธศาสตร์ระดับสูงระหว่างประเทศทั้งสอง
คลินตัน และทิโมธี ไกธ์เนอร์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ คือผู้นำคณะเจรจาด้านยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจของฝ่ายอเมริกัน ที่กำหนดจัดขึ้นในกรุงปักกิ่งวันพฤหัสบดีและศุกร์นี้ (3-4) อันเป็นการประชุมประจำปีเพื่อขยายขอบเขตความสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจโลก 2 รายนี้
ทว่า จุดยืนที่ขัดแย้งชัดเจนระหว่างวอชิงตันกับปักกิ่งในประเด็นสิทธิมนุษยชนอาจจะครอบงำการประชุมครั้งนี้ หลังจาก เฉินกวงเฉิง นักเคลื่อนไหวผู้ตาบอดซึ่งมีชื่อเสียงจากการเปิดโปงเรื่องการบังคับทำแท้งและทำหมัน ภายใต้นโยบายที่บังคับให้มีลูกคนเดียวของรัฐบาลจีน สามารถหลบหนีจากการถูกควบคุมตัวในบ้านพักเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และเพื่อนนักเคลื่อนไหวด้วยกันเผยว่า ขณะนี้เขาลี้ภัยอยู่ในสถานเอกอัครราชทูตอเมริกันในกรุงปักกิ่ง
ตามคำบอกเล่าของ กว๋อ หยูซาน หนึ่งในผู้ช่วยเหลือ เฉิน ให้เดินทางต่อไปยังปักกิ่งภายหลังเขาหลบหนีออกจากบ้านพักได้สำเร็จแล้ว เฉิน ไม่ต้องการไปลี้ภัยการเมืองยังประเทศใดๆ แต่เรียกร้องที่จะพำนักอาศัยในจีนต่อไป รวมทั้งยังจะเดินหน้าการต่อสู้เรียกร้องให้จีนทำการปฏิรูปต่อไปด้วย จุดยืนเช่นนี้เห็นกันว่าเป็นการเพิ่มความตึงเครียดให้แก่ความสัมพันธ์ระหว่างปักกิ่งกับวอชิงตัน
เวลานี้รัฐบาลของประเทศทั้งสองต่างใช้ท่าทีหลีกเลี่ยงไม่ยอมแถลงอย่างชัดเจนเกี่ยวกับกรณีของ เฉิน ตลอดจนไม่ยืนยันว่าเขากำลังอยู่ใต้การคุ้มครองของสหรัฐฯในปักกิ่งจริงหรือไม่
ประธานาธิบดีบารัค โอบามา และเจ้าหน้าที่อเมริกันคนอื่นๆ ต่างปฏิเสธที่จะตอบคำถามเกี่ยวกับที่อยู่ของเฉิน ตอกย้ำสถานการณ์ที่อ่อนไหวก่อนที่อเมริกาจะมีเลือกตั้งประธานาธิบดีปลายปีนี้ ขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนใกล้ถึงวาระผลัดผู้นำเช่นเดียวกัน
กระนั้น คลินตันยืนยันเมื่อวันจันทร์ (30 เม.ย.) ว่า จะกดดันผู้นำจีนเรื่องสิทธิมนุษยชน
นอกจากนี้ เคิร์ต แคมป์เบล ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ยังถูกส่งตัวไปปักกิ่งในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่า เพื่อหาทางบรรลุข้อตกลงในกรณีเฉิน ทนายความตาบอดที่เรียนรู้วิชากฎหมายด้วยตนเอง และเป็นหนึ่งในนักเคลื่อนไหวจีนที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด
เจ้าหน้าที่อเมริกันทั้งอดีตและปัจจุบันมองว่า ทางออกที่เป็นไปได้ประการหนึ่ง คือ การที่เฉินไปลี้ภัยในต่างประเทศ โดยที่อาจเปิดทางให้จีนแถลงอย่างไม่เสียหน้าว่า เพื่อให้เขาได้ไปรักษาตัว
ตัวคลินตันเองนั้นเคยแถลงก่อนหน้านี้โดยเน้นย้ำกรณีของเฉิน ขณะที่ทั้งกลุ่มสิทธิมนุษยชนและมิตต์ รอมนีย์ ผู้ท้าชิงทำเนียบขาวจากพรรครีพับลิกัน เรียกร้องให้วอชิงตันรับประกันว่า เฉินและครอบครัวจะได้รับการคุ้มครองไม่ถูกดำเนินคดี โดยเฉพาะรอมนีย์นั้น วิจารณ์ว่าโอบามาอ่อนข้อให้ปักกิ่งเกินไปทั้งในเรื่องสิทธิมนุษยชน การค้า และการขยายแสนยานุภาพทางการทหาร
ทั้งนี้ เป็นที่คาดว่า กรณีของเฉินจะบี่ยงเบนความสนใจของที่ประชุมจีน-สหรัฐฯ ที่มีขึ้นท่ามกลางความคืบหน้าในประเด็นโต้แย้งยาวนานเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยน การค้า และการเข้าถึงตลาด
การเจรจานี้ยังเปิดโอกาสให้วอชิงตันขอความร่วมมือจากจีนในประเด็นระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงการกดดันอิหร่านและเกาหลีเหนือเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ การระงับการปราบปรามประชาชนในซีเรีย และการลดความตึงเครียดเกี่ยวกับการอ้างสิทธิ์อธิปไตยในทะเลจีนใต้