รอยเตอร์ - นักเคลื่อนไหวตาบอด เฉิน กวงเฉิง เปลี่ยนใจต้องการเดินทางไปลี้ภัยยังสหรัฐอเมริกา มากกว่าจะอยู่บนแผ่นดินใหญ่เนื่องจากเกรงอันตราย เฉินระแวงว่าจีนและมะกันจะรวมหัวกันสั่งให้เขาออกจากสถานทูตสหรัฐฯ กรุงปักกิ่งอันเป็นแหล่งลี้ภัยของเขา
เฉิน ออกจากสถานทูตมะกันเมื่อวันพุธ (2 พ.ค.) ซึ่งเขาได้หลบอยู่ในนั้นเป็นเวลา 6 วัน หลังจากหลบหนีออกจากบ้านพักที่ถูกกักบริเวณจากหมู่บ้านตงซื่อกู้ มณฑลซานตง แรกเริ่มเขาดูพออกพอใจกับวิธีการของสถานทูตที่จะทำให้เขาและครอบครัวยังอยู่บนแผ่นดินจีนและปลอดภัยขึ้นกว่าแต่ก่อน
แต่เฉินได้ให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ (3 พ.ค.) ทางโทรศัพท์ จากโรงพยาบาลเฉาหยังในกรุงปักกิ่ง ซึ่งเขาได้รับการคุ้มครองจากเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ หลังเดินทางออกจากสถานทูต รายระเอียดการให้สัมภาษณ์คือ “เฉินเปลี่ยนความคิดหลังจากได้พูดคุยกับภรรยา ซึ่งภรรยาของเขากล่าวว่าขณะนี้ครอบครัวกำลังมีภัย”
เฉินกล่าวว่าหลังจากไตร่ตรองกลับไปกลับมาหลายตลบก็หาเหตุผลว่า หากขืนอยู่จีนต่อไป จะไม่มีใครประกันได้ว่าเขาจะยังมีสิทธิและความปลอดภัย
เฉินเป็นนักเคลื่อนไหวด้านกฎหมาย เขาได้อ้างข้อความจากภรรยานางหยวน เหว่ยจิ้ง ระบุว่า ครอบครัวกำลังถูกเจ้าหน้าที่จับตา เจ้าหน้าที่พวกนี้ขู่กรรโชกพวกเขาและให้พวกเขาอยู่แต่ในบ้าน
“ขณะที่ผมอยู่ในสถานทูตสหรัฐฯ ผมไม่มีครอบครัวอยู่ข้างๆ ทำให้ผมไม่แน่ใจทางเลือกอย่างถ่องแท้ และหลังจากที่ผมพบพวกเขาแล้ว การตัดสินใจของผมก็เปลี่ยนไป” เฉินกล่าว
การตัดสินใจของเฉินทำให้สัมพันธ์จีน-มะกัน ต้องตึงเครียดขึ้นอีก
ประธานาธิบดีบารัค โอบามาของสหรัฐฯ อาจจะเสี่ยงต่อการถูกวิพากษ์วิจารณ์ เกี่ยวกับการแทรกแซงคดีของเฉินในช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดีเดือน พ.ย. ส่วนจีนเองก็ใกล้วาระเปลี่ยนถ่ายอำนาจผู้นำในปลายปีนี้เช่นกัน
ท่าทีมะกัน จะช่วยหรือจะทิ้ง “เฉิน กวงเฉิง”
นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ขณะนี้กำลังเป็นที่จับตา ท่ามกลางพายุทางการทูต (3 พ.ค.) เธอจะต้องเริ่มการเจรจากับจีนในกรุงปักกิ่ง แต่การเจรจาดังกล่าวกลายเป็นเรื่องอึมครึมเพราะคดีของเฉิน
เธอใช้โอกาสนี้เรียกร้องให้จีนปกป้องสิทธิมนุษยชน แต่ก็ไม่ได้กล่าวเฉพาะเจาะจงไปสู่กรณีของเฉิน เพราะเธอได้กล่าวถึงเฉินไปก่อนหน้านี้แล้ว (2 พ.ค.) เมื่อตอนที่เฉินออกจากสถานทูตไปโรงพยาบาลฯ
“สหรัฐฯ เชื่อว่า ไม่มีรัฐบาลใดในโลกใบนี้จะปฏิเสธหลักการสากลด้านสิทธิมนุษยชน อันติดตัวมนุษย์ทุกผู้ทุกนามมาแต่กำเนิดได้ และรัฐไม่อาจลงโทษผู้เรียกร้องสิทธิ์ของตนเองได้” นางคลินตันกล่าวปาฐกถาในพิธีเปิดการเจรจายุทธศาสตร์และเศรษฐกิจสหรัฐฯ-จีน
“สิ่งที่ประธานาธิบดีโอบามากล่าวเมื่อสัปดาห์นี้ก็คือ จีนเป็นประเทศที่ปกป้องสิทธิพลเรือนได้ดียิ่งขึ้น และเป็น
ยุทธศาสตร์ที่ดีของสหรัฐฯ”
แม้ว่าเฉินจะเปลี่ยนใจไม่อยู่จีน ขณะนี้ก็ยังไม่แน่ชัดว่าเขาจะสามารถจรลีไปอยู่สหรัฐฯ ได้หรือไม่ การออกจากสถานทูตก็เท่ากับพ้นไปจากการคุ้มครองของสหรัฐฯ ชะตากรรมของเขาตกมาอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐบาลจีนอีกครั้ง
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ดูเหมือนว่าจะไม่สามารถอยู่กับเขาได้ทั้งวัน (3 พ.ค.) เฉินเผยว่า เขาเองยังไม่มีโอกาสได้บอกฝั่งสหรัฐฯ เลยว่า เขาเปลี่ยนใจจะไปอยู่สหรัฐฯ แล้ว
“ผมหวังว่า สหรัฐฯ จะช่วยเหลือผมให้ออกจากจีนทันที ผมต้องการไปสหรัฐฯ เพื่อรักษาอาการป่วย” เฉินกล่าว
วอชิงตันหวังเอาไว้ว่า การเจรจากับจีนเกี่ยวกับเรื่องการหลบหนีของเฉินเมื่อวันพุธ จะช่วยปลดชนวนวิกฤตสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ มะกันจึงได้ส่งยอดตัวแทนอย่างรัฐมนตรีต่างประเทศ และรัฐมนตรีคลังมาเจรจาด้านยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจ
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เผยว่า ภายใต้ข้อตกลงฯ เฉินและครอบครัวจะได้รับสิทธิย้ายที่อยู่อาศัยภายในประเทศ และปลอดภัยขึ้น พร้อมกับได้รับสิทธิให้สามารถศึกษาต่อได้
แต่รัฐบาลจีนดูเหมือนจะเสียงแข็ง โต้ว่าสหรัฐฯ ก้าวก่ายเรื่องของจีน และเรียกร้องให้สหรัฐฯขอโทษกรณีที่สถานทูตมะกันยื่นมือเข้ามาแทรกแซงคดีนี้
“สิ่งที่สหรัฐฯ ทำลงไปไม่ใช่แค่ทำให้ประชาชนไขว้เขว สหรัฐฯ ยังอ้างโน่นอ้างนี่เพื่อเบี่ยงเบนความรับผิดชอบ และปกปิดความผิดของตัว ที่ร้ายที่สุดสหรัฐฯ ได้แทรกแซงกิจการภายในของจีน” สำนักข่าวซินหวายกคำแถลงของโฆษกกระทรวงต่างประเทศ นายหลิว เว่ยหมินเมื่อสายวันพุธ (2 พ.ค.)
กลุ่มสิทธิมนุษยชนเผยว่า การเจรจาตกลงระหว่างจีน-มะกันนั้น ยังไม่แน่นอน เพราะว่ารัฐบาลจีนยังไม่ให้การรับรองข้อสรุปใดๆ ทั้งสิ้น
ก่อนหน้านี้ เฉินได้ร้องเรียนตรงไปยังประธานาธิบดีบารัค โอบามา ซึ่งออกอากาศผ่านช่องซีเอ็นเอ็น และเขายังได้ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่ออีกว่า เขากลัวว่าชีวิตของเขาจะถูกจำกัดและถูกทำร้าย
“ผมอยากจะบอกกับประธานาธิบดีโอบามาว่า ได้โปรดทำทุกอย่างเพื่อพาครอบครัวของผมออกไปจากที่นี่” เฉินให้สัมภาษณ์กับซีเอ็นเอ็น
เฉิน กวงเฉิง ผู้เปิดโปงด้านมืดของ ‘นโยบายลูกคนเดียว’ จนเป็นที่รู้จักระดับโลก รัฐบาลท้องถิ่นอำเภอหลินอี๋ บ้านเกิดของเขาได้ดำเนินนโยบายคุมกำเนิดอย่างหยาบช้าสามานย์ บังคับให้ผู้หญิงทำแท้ง แต่เฉินได้ใช้วิชากฎหมายช่วยเหลือชาวบ้าน ปกป้องสิทธิของผู้ได้รับความเสียหายหรือถูกทำร้าย และได้เปิดโปงเรื่องเลวร้ายเหล่านี้กับสื่อ จนเขาถูกจำคุก และต่อมาก็ถูกกักบริเวณเป็นเวลาร่วม 20 เดือน จึงตัดสินใจหนีออกจากหมู่บ้าน
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เผยว่า เฉินเลือกออกจากสถานทูตด้วยตัวเอง เพราะเขาต้องการจะพบหน้าครอบครัวอันมีภรรยาและลูกๆ 2 คน เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ชี้ว่า เฉินต้องการอยู่ในจีนต่อไป และเฉินไม่เคยขอลี้ภัยเลย
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เฉินตัดสินใจหลบหนีออกจากบ้านที่ถูกกักบริเวณ มาขอลี้ภัยอยู่ในสถานทูตสหรัฐฯ กรุงปักกิ่ง นั่นก็เป็นสัญลักษณ์ต่อต้านรัฐบาลจีนที่จัดการกับนักเคลื่อนไหวอย่างโหดร้าย ทั้งนี้ การตกลงกันของจีนและสหรัฐฯ ก็จะทำให้คดีของเฉินกลายเป็นกรณีศึกษาระดับโลก
อย่างไรก็ดี ขณะนี้การเปลี่ยนใจของเฉินไม่เพียงแต่จะทำให้ถูกตั้งคำถามถึงความโลเล แต่ยังทำให้โลกตั้ง
คำถามถึงสัมพันธภาพระหว่างจีน-มะกันอีกด้วย
หากมะกันยอมจีนจริง สิทธิมนุษยชนคงเป็นเพียงลมปากที่สหรัฐฯ เอาไว้แสวงหาประโยชน์ต่อไปอีกไม่ได้ เงินกู้ต่างหากที่ยิ่งใหญ่...
ภาพด้านซ้าย สื่อจีนประมวลการเดินทางของเฉิน กวงเฉิง จากสถานทูตสหรัฐฯ มารักษาตัวที่โรงพยาบาลเฉาหยัง ภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ (ภาพเอเยนซีจีน)