เดอะวอลล์สตรีตเจอร์นัล - การเร่งพัฒนาเศรษฐกิจของมหานครฉงชิ่งให้เติบโตอย่างรวดเร็วมากในสมัยการบริหารของนายปั่ว ซีไหล อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำสาขามหานครแห่งนี้ กลายเป็นบทเรียน ที่น่ากลัว เพราะมหานครฉงชิ่งได้สะสมหนี้จนเกินตัวมากมายหลายหมื่นล้านดอลลาร์
จากการวิเคราะห์รายงานของบริษัทจัดอันดับของจีน โดยวอลล์สตรีตเจอร์นัลพบว่า รัฐบาลท้องถิ่นฉงชิ่งได้ใช้เครื่องมือในการลงทุน (investment vehicles) รายใหญ่ถึง 10 ราย เพื่อเร่งเศรษฐกิจเมืองเติบโต และเครื่องมือการลงทุนเหล่านี้สะสมหนี้สิ้นกว่า 346,000 ล้านหยวน (54,000 ล้านดอลลาร์) ขณะเดียวกันฉงชิ่งยังเพิ่มทุนให้กับธนาคารต่าง ๆ ตลอดจนระดมการก่อสร้างทางหลวง สะพาน และโครงการอื่น ๆ เพื่อกระตุ้นการเติบโต และช่วยดึงดูดบริษัทต่างชาติ ซึ่งกำลังหาทางเข้ามายังตลาดจีน ที่ไม่ได้อยู่ติดชายฝั่งทะเล
เมื่อนายปั่วเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ประจำสาขามหานครฉงชั่งในปี 2550 เครื่องมือทางการเงินเหล่านั้นมียอดหนี้สินรวม 162,000 ล้านหยวนเท่านั้น
นักวิเคราะห์ระบุว่า หนี้สินเหล่านั้นน่าจะเป็นหนี้ในส่วนที่รัฐบาลท้องถิ่นฉงชิ่งต้องรับผิดชอบ ขณะที่รัฐวิสาหกิจและบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ก็มีหนี้ในส่วนของตนเอง ตัวเลขนี้ยังไม่รวมหนี้ในส่วนของเครื่องมือการลงทุนรายย่อยอีกจำนวนหนึ่ง
จากการประเมินของนายวิกเตอร์ ชิห์ (Victor Shih) ผู้เชี่ยวชาญด้านหนี้สินของรัฐบาลท้องถิ่นจีนแห่งมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์นระบุว่า รัฐบาลท้องถิ่นฉงชิ่ง รัฐวิสาหกิจ และบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของรัฐมีหนีสิ้นรวมกันสูงถึง 1 ล้านล้านหยวนเมื่อสิ้นปี2544
จากตัวเลข ที่เขาประเมินนี้รัฐบาลท้องถิ่นฉงชิ่งจึงมีหนี้สินถึง 100% ของผลผลิตมวลรวมในภูมิภาค (GRP) สูงกว่าอย่างมากจากระดับหนี้ 22 % ของทั้งประเทศ จากตัวเลขของสำนักงานตรวจสอบบัญชีแห่งชาติของจีน
อันที่จริงยังมีอีกหลายเมืองบนแดนมังกร ที่กู้หนี้ยืมสินก้อนมหึมา เพื่อโครงการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค ซึ่งจะกระตุ้นจีดีพี แต่สถานการณ์ของฉงชิ่งโดดเด่นอย่างน่ากลัว และชี้ชัดให้เห็นถึงปัญหาของประเทศจีน ที่พึ่งการใช้จ่ายก้อนใหญ่จากรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจจนเป็นธรรมเนียม ซึ่งนักวิเคราะห์หลายคน และแม้แต่ผู้นำของจีนบางคนเองได้ออกมาเตือนว่า อาจทำให้เศรษฐกิจจีนขาดดุลอย่างอันตราย และเปิดโอกาสให้มีการทุจริตคอร์รัปชั่นได้
หลังจากวิกฤตการเงินในปี 2552 เครื่องมือการลงทุนของรัฐบาลท้องถิ่นในจีน รวมทั้งของฉงชิ่งก็เริ่มดำเนินการเชิงรุกในการขอกู้ยืมมากขึ้น โดยการขอกู้ยืนส่วนใหญ่ค้ำประกันด้วยหลักทรัพย์ที่ดิน แม้จากข้อมูลตัวเลขของเครื่องมือการลงทุนของฉงชิ่งยังไม่บ่งชี้ว่าฉงชิ่งใกล้จะล้มละลาย แต่นักวิเคราะห์บางคนก็เกรงว่า เงินกู้เหล่านั้นอาจกลายเป็นหนี้เน่า หากเศรษฐกิจและตลาดอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัว
การใช้จ่ายอย่างไม่อั้นของรัฐบาลท้องถิ่นฉงชิ่ง และเศรษฐกิจที่เบ่งบานทำให้ชื่อของนายปั๋วฮิตติดปากชาวบ้านร้านช่อง และช่วยหนุนส่งให้นายปั๋วได้เป็นถึงกรรมการของกรมการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์จีน (Politburo Members) ซึ่งเป็นตำแหน่งระดับสูงในพรรคคอมมิวนิสต์ และฝันไปไกลถึงตำแหน่งในคณะกรรมการประจำของกรมการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายสูงสุดของประเทศ
อย่างไรก็ตาม หลังจากนายปั๋วถูกปลดจากตำแหน่งเลขาธิการพรรคประจำสาขาเมื่อเดือนมี. ค. ที่ผ่านมา เพราะเรื่องขัดแย้งอื้อฉาวกับคนสนิท ซึ่งถึงขั้นลี้ภัยในสถานกงสุลสหรัฐฯ ชั่วคราว การบริหารปกครองมหานครฉงชิ่งของเขาก็ถูกตรวจสอบอย่างละเอียดยิบราวกับใช้กล้องจุลทรรศน์
ขณะนี้นายปั๋วกำลังถูกสอบสวนจากข้อกล่าวหาว่าเขาละเมิดระเบียบข้อบังคับของพรรค และภรรยาของเขาเองกำลังถูกสอบสวนว่าอาจมีส่วนพัวพันการตายของนักธุรกิจชาวอังกฤษเมื่อปีที่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่า โครงการด้านนโยบายสังคม ที่ฉงชิ่งกำลังทดลองทำขณะนี้ หากประสบความสำเร็จก็จะสร้างประโยชน์แก่ชาวจีนซึ่งเป็นผู้อพยพใช้แรงงานจากชนบท ซึ่งจะได้รับระบบสวัสดิการบำนาญ การศึกษา และระบบประกันสุขภาพ การทดลองเหล่านี้อาจกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่การเติบโต ซึ่งพึ่งการบริโภคของประชาชนมากขึ้น เพราะได้ปูทางให้ประชากรในชนบท ซึ่งมีจำนวนมหาศาลได้เข้ามาใช้ชีวิตในเมือง และเพิ่มรายได้
กระนั้นก็ดี นักวิเคราะห์มองว่า ผู้บริหารฉงชิ่งชุดใหม่นับจากนี้อาจต้องพูดว่า เราอาจก้าวไปสู่สังคมที่ร่ำรวยในระดับพอประมาณตามเป้าหมายอย่างเป็นทางการของรัฐบาล ที่ตั้งไว้ในปี2560 ซึ่งช้ากว่าที่นายปั๋วตั้งไว้ 2 ปี
“คุณปั๋วแกทะเยอทะยานอยากประสบความสำเร็จมากเกินไปหน่อยนั่นเอง ” นักวิเคราะห์สรุปทิ้งท้าย