xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อโรงงานยาสูบของรัฐฯ ทำกำไรวันละ 320 ล้านหยวน ใครจะกล้ากวดขันห้ามสูบบุหรี่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพสถิติด้านซ้าย แสดงบริษัทที่ได้กำไรสุทธิสูงสุดในช่วงปีที่ผ่านมานี้ (ดอลลาร์สหรัฐ) ส่วนภาพทางขวามือ แสดงกำไรสุทธิของบริษัทยาสูบแห่งชาติจีน (CNTC) ซึ่งถือว่าเป็นบริษัทยาสูบที่ใหญ่สุดในโลก (เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์)
เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - บริษัทยาสูบผูกขาดใหญ่สุดแห่งเดียวของรัฐบาลจีนกวาดกำไรวันละกว่า 320 ล้านหยวน และจากตัวเลขที่เปิดเผยนี้ทำให้พออนุมานได้ว่า อุตสาหกรรมยาสูบบนแดนมังกรกำลังก้าวเข้าสู่จุดสูงสุดเต็มกำลัง

บริษัทยาสูบแห่งชาติจีน (CNTC) มีผลกำไรสุทธิอยู่ที่ประมาณ 118,000 ล้านหยวนในปี 2553 ซึ่งเป็นตัวเลขกำไรที่หลายคนคาดไม่ถึง ขณะที่กลุ่มรณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่เผยว่า เจ้าหน้าที่จีนไม่จริงจังกับการบังคับใช้กฎหมายห้ามสูบบุหรี่เลย

ตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า บริษัทCNTC แห่งนี้เริ่มก้าวขึ้นมาเป็นหน่วยที่ทำรายได้สูงสุดของแผ่นดินจีนแห่งหนึ่งแล้ว ซึ่งสามารถแซงหน้ายอดกำไรของธนาคารแห่งประเทศจีน ที่มีกำไร 110,000 ล้านหยวน และธนาคารการก่อสร้างจีน กำไร 135,000 ล้านหยวน

รายละเอียดการเงินของยักษ์ใหญ่ยาสูบจีนนี้ รวบรวมอยู่ในรายงานที่ธนาคารอุตสาหกรรมจีนได้ยื่นต่อตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ ในกรณีที่ธนาคารฯ มีแผนจะขายหุ้นให้กับบริษัทยาสูบ CNTC มูลค่า 5,200 ล้านหยวน รายงานฯ ดังกล่าวไม่ได้ให้ข้อมูลสถิติของปีที่แล้ว แต่ก็ระบุว่า CNTC ของจีนมีสินทรัพย์เกือบ 970,000 ล้านหยวน

กลุ่มรณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่เผยว่า รายรับมหาศาลของรัฐบาลจีนที่เก็บภาษียาสูบเมื่อปี 2554 สูงถึง 753,000 ล้านหยวนทีเดียว

ชาวจีนแผ่นดินใหญ่สูบบุหรี่โดยประมาณ 300 ล้านคน ซึ่งถือเป็นจำนวนมากที่สุดเทียบกับทุกประเทศในโลก

ดร.อู๋ อี้ฉวิน รองผู้อำนวยการสำนักวิจัยศูนย์การพัฒนาสุขภาพเผยว่า ตัวเลขกำไรของ CNTC มันเป็นเรื่องตลกปนเศร้า และมันก็ไม่น่าแปลกใจมากนัก

“องค์กรไม่แสวงผลกำไรหรือเอ็นจีโอของพวกเราได้ตรวจสอบอุตสาหกรรมยาสูบในจีนมาหลายปี ดังนั้นพวกเราก็พอจะเดาได้ว่ากำไรของบริษัทยาสูบ จะต้องสูงชะลูด” ดร.อู๋ย้ำ

“ตัวเลขเหล่านี้ถือว่าสูงกว่าที่พวกเราคาดการณ์ แต่ก็ไม่ถึงกับตะลึงอะไรมากมาย สิ่งที่รบกวนจิตใจฉันไม่ใช่ตัวเลขสถิติกำไร 322 ล้านหยวนต่อวัน แต่เป็นเรื่องของสิ่งที่อยู่เบื้องหลังกำไรเหล่านี้ต่างหาก นั่นก็คือ สุขภาพของประชาชนที่ทรุดโทรมลง และถ้าจะให้เปรียบเทียบ มันก็เหมือนกับเงินที่ได้มาจากซากกองกระดูกเท่าภูเขาเลากาของประชาชนนั่นเอง” เธอกล่าว

ดร.อู๋ เผยด้วยว่า แม้ว่าในช่วง 6 ปีที่ผ่านมารัฐบาลจีนพยายามควบคุมการสูบบุหรี่ แต่ยอดขายก็ยังคงเพิ่มขึ้นปีแล้วปีเล่า

จากข้อมูลของกรมการยาสูบแห่งรัฐบาลจีน เผยว่า เมื่อปีที่ผ่านมารัฐบาลเก็บภาษียาสูบได้มากกว่าปีก่อนหน้าถึง 22.5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งยอดขายก็เพิ่มขึ้นเกือบ 17 เปอร์เซ็นต์จากปีก่อนหน้าด้วย

“มันเป็นเรื่องยากที่จะเดินหน้ารณรงค์ และมันก็เป็นสิ่งที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย” อู๋ย้ำ พร้อมเสริมว่า ขณะนี้องค์กรได้ไปล็อบบี้ตัวแทนที่เข้าประชุมสภาผู้แทนประชาชนฯ และสภาที่ปรึกษาการเมืองประชาชนเพื่อผลักดันกฎหมายที่เข้มงวดต่อไป

“แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของจีนฉบับที่ 12 มีข้อตกลงในเรื่องการห้ามสูบบุหรี่ และพวกเราก็หวังว่าจะประสบผลสำเร็จตามแผน”

ศาสตราจารย์เสีย เจียผิง รองผู้อำนวยการของสถาบันวิจัยยาสูบ CNTC หนึ่งใน 54 นักวิทยาศาสตร์ของสำนักวิศวกรรมศาสตร์จีน เผยเมื่อเดือนธ.ค.ที่แล้วว่า เจ้าหน้าที่จีนไม่ได้จริงจังกับการบังคับใช้กฎหมายการสูบบุหรี่

จีนให้สัตยาบันยอมรับกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ ขององค์การอนามัยโลกเมื่อปี 2548 จีนได้แต่ลั่นว่าจะสร้างสวนสาธารณะปลอดบุหรี่ให้เสร็จสิ้นในเดือนม.ค.ปีที่ผ่านมา แต่ก็มีการลงมือทำจริงเพียงเศษเสี้ยว

กฎหมายยาสูบที่เข้มข้นขึ้นได้ผ่านมติเมื่อเดือนพ.ค. แต่ผลสำรวจของนักสิ่งแวดล้อมในเดือนพ.ย.พบว่า ภัตตาคารในกรุงปักกิ่งที่ปฏิบัติตามกฎหมายฯ จริง มีเพียง 1 ใน 5 เท่านั้น

ส่วนเซี่ยงไฮ้ก็ตั้งเป้าว่าจะเป็นเมืองห้ามการสูบบุหรี่ให้ครอบคลุมพื้นที่สาธารณะทุกแห่งในปี 2553 แต่ขณะนี้ก็ยังไม่มีการบังคับใช้กฎหมายฯ อย่างเข้มงวด

คณะกรรมการส่งเสริมสุขภาพแห่งเซี่ยงไฮ้ยอมรับเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า เมื่อปีที่ผ่านมามีการจับและปรับองค์กรเพียง 66 แห่ง และประชาชนเพียง 5 คน ที่ละเมิดกฎหมายการสูบบุหรี่
โรงงานยาสูบในจีนสร้างโรงเรียนประถมศึกษาในจีนหลายสิบแห่ง โดยใช้ชื่อโรงเรียนว่า “โรงเรียนประถมศึกษายาสูบ” (ภาพเอเยนซีจีน)
แหล่งผลิตยาสูบในคุนหมิง (ภาพเอเยนซี)
กำลังโหลดความคิดเห็น