xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ พ่อเมืองดันฉงชิ่งจนกินขาด “เมืองศักยภาพแห่งการแข่งขัน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มหานครฉงชิ่ง เมืองยอดศักยภาพด้านการแข่งขัน นักวิจัยชี้ว่า เป็นเพราะการผลักดันของปั๋ว ซีไหล เลขาธิการพรรคฯ ประจำนคร (ภาพเอเยนซี)
เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - มหานครฉงชิ่งกลายเป็นเมืองที่มีศักยภาพในการแข่งขันชั้นแนวหน้าของแผ่นดินใหญ่ในช่วงระหว่างปี 2549 -2553 นักวิเคราะห์ชี้ว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะการผลักดันของปั๋ว ซีไหล เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งฉงชิ่ง

ส่วนมณฑลอานฮุย เมืองผู้ส่งออกแรงงานอพยพถูกจัดอยู่ในเมืองยอดพัฒนาอันดับ 2 ขณะที่ผู้ผลิตถ่านหินชั้นนำอย่างมณฑลซานซีกลับร่วงกรูด

ส่วนในปี 2553 เจียงซูเป็นเมืองยอดศักยภาพการแข่งขันด้านเศรษฐกิจบนแผ่นดินใหญ่ หลังจากตามหลังเซี่ยงไฮ้ ก่วงตง และกรุงปักกิ่งเมื่อปี 2549 ทั้งนี้ 4 เมืองและมณฑลเหล่านี้จัดว่าอยู่ในเมืองที่มีศักยภาพนำในการแข่งขันตลอดทุกการจัดลำดับในแต่ละ 5 ปีของจีนเสมอมา

สำนักสังคมศาสตร์จีนแถลงรายงานภาพรวมศักยภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจของแต่ละมณฑลของจีนในช่วงวาระแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจีนฉบับที่ 11 ในกรุงปักกิ่ง (29 ก.พ.)

ศาสตราจารย์เผิง เจินไหว ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยรัฐบาลท้องถิ่นแห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง เผยว่า ความสำเร็จด้านเศรษฐกิจของฉงชิ่งนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคุณูปการของพ่อเมืองอย่างปั๋ว ซีไหล เป็นผู้ผลักดัน

“ภายใต้ระบบการเมืองจีนปัจจุบัน ปั๋วดำรงตำแหน่งกรรมการกรมการเมืองหรือโปลิตบูโร ได้ทำให้เกิดการสร้างสรรค์ประโยชน์การเติบโตเศรษฐกิจให้กับฉงชิ่งอย่างมาก” เผิงกล่าว นับแต่ฉงชิ่งยกระดับเป็นมหานคร ในบรรดา 4 ผู้นำฉงชิ่งคนก่อนหน้าปั๋ว ไม่มีใครได้เป็นสมาชิกกรรมการกรมการเมืองเลย

มหานครฉงชิ่ง เมืองท่าสำคัญเหนือแม่น้ำแยงซีแห่งนี้ตั้งอยู่บนจุดยุทธศาสตร์ และได้รับการสนับสนุนขนานใหญ่จากผู้นำในรัฐบาลกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปั๋ว ซีไหลได้เริ่มดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคฯ ประจำมณฑลเมื่อปี 2550 ในตอนแรกฉงชิ่งผูกสัมพันธ์กับเทียนจินเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวก่อน

สำนักสังคมศาสตร์รายงานว่า ขณะที่แถบภาคตะวันตกของจีนยังคงทิ้งห่างไม่ติดฝุ่นกับเมืองแถบตะวันออก ทว่าขณะนี้ช่องว่างเหล่านั้นเริ่มเขยิบแคบเข้ามาแล้ว

รายงานยังแบ่งเขตแผ่นดินใหญ่ออกเป็น 4 เขตด้วยกัน ได้แก่ เขตตะวันออก ตะวันออกเฉียงเหนือ ใจกลาง และตะวันตก ซึ่งแถบตะวันตกนั้นถือว่ามีการยกระดับใหญ่สุดในด้านศักยภาพการแข่งขันในระหว่างปี 2549-2553 ตามหลังเขตใจกลางและเขตตะวันออกเฉียงเหนือ

ศาสตราจารย์หลี่ เมิ่งหรง ผู้วิจัยและเขียนรายงานหลัก เผย (29 ก.พ.) ว่า ผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกขาลงต่อแผ่นดินจีนนั้นค่อย ๆ ลดลงทีละน้อย เพราะในขณะที่แถบตะวันออกต้องประสบปัญหาตัวชี้วัดเศรษฐกิจใหญ่ ๆ ลดลงอย่างน่าใจหาย กอปรกับเมืองในเขตใจกลางซึ่งส่วนใหญ่พึ่งพาการทำเหมืองกำลังได้รับผลกระทบ แต่โชคยังดีที่ภาคตะวันตกและตะวันออกเฉียงเหนือก็ยังคงเดินหน้าขยายตัวต่อไปได้

หาน จวิน นักวิจัยประจำในศูนย์วิจัยการพัฒนาภายใต้คณะมุขมนตรีจีนเผยว่า การชะลอตัวในภาคตะวันออกนั้นเป็นเพราะส่วนหนึ่งอัตราจำนวนประชากรวัยทำงานเริ่มลดลง ทำให้ขาดแคลนแรงงานและทำให้ค่าแรงเพิ่มสูงขึ้นด้วย

ในบรรดามณฑล เขตปกครองตนเอง และมหานคร จำนวน 31 แห่งของจีนนั้น มีจำนวนมากถึง 23 แห่งที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีมากกว่า 1 ล้านล้านหยวนเมื่อปีที่ผ่านมา (2554) โดยอันดับแรก ๆ ได้แก่ ก่วงตง เจียงซู และซานตง เรียงตามลำดับ

นอกจากมณฑล เขตปกครองตนเอง และมหานครบนแผ่นดินใหญ่แล้วนั้น รายงานยังรวม ไต้หวัน ฮ่องกง และมาเก๊าเข้าไปเปรียบเทียบด้วย โดยระบุว่า ถ้าถือว่าเมืองเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจจีนแล้วไซร้ ไต้หวันก็จะขึ้นมาแทนที่เจียงซูเป็นเมืองมีศักยภาพการแข่งขันสูงสุดในปี 2553 ส่วนฮ่องกงจะอยู่อันดับ 3 และมาเก๊าอยู่อันดับที่ 9
กำลังโหลดความคิดเห็น