xs
xsm
sm
md
lg

มังกรเร่งต่อเรือยกพลขึ้นบก ชิงความเป็นจ้าวแปซิฟิก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เรือยกพลขึ้นบกรุ่นใหม่แบบ 071 นักวิเคราะห์ทางการทหารชี้ว่า เรือรุ่นดังกล่าวเป็นเรือ ซึ่งจีนออกแบบและต่อขึ้นเอง ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในกองทัพเรือแดนมังกร (ภาพเอเยนซี)
รอยเตอร์ - พญามังกรเดินแผนแยบยล ซุ่มขยายกองเรือยกพลขึ้นบก ระวางขับน้ำ 20,000 ตัน หาญต่อกรเทียบชั้นกับมหาอำนาจอเมริกาในเกมครองความเป็นจ้าวมหาสมุทรแปซิฟิก

ในขณะที่ความสนใจส่วนใหญ่กำลังพุ่งไปที่ “วาร์ยัค” เรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกของจีน ซึ่งทดลองเดินทะเลเมื่อปีที่แล้วอยู่นั้น บริษัทต่อเรือหูตงจงหัว ในนครเซี่ยงไฮ้ก็ได้ปล่อยเรือยกพลขึ้นบกรุ่นใหม่แบบ 071 ออกมาเป็นลำที่ 4 เมื่อปลายเดือนม.ค. ที่ผ่านมา นักวิเคราะห์ทางการทหารชี้ว่า เรือรุ่นดังกล่าวเป็นเรือ ซึ่งจีนออกแบบและต่อขึ้นเอง ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในกองทัพเรือแดนมังกร และนี่ต่างหากคือการขยายอิทธิพล ที่ใกล้ตัวยิ่งกว่า
 แฟ้มภาพฝูงเฮลิคอปเตอร์บินคู่มากับเรือฟริเกตรุ่นเจียงเว่ย 2 ชื่อว่าเหมียนหยางระหว่างการสวนสนามทางทะเล เพื่อฉลองการก่อตั้งกองทัพเรือจีนครบรอบ 60 ปี ในเมืองชิงเต่า มณฑลซานตงเมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2552 – เอเจนซี่
“การมีกองเรือจู่โจมสะเทินน้ำสะเทินบกขนาดใหญ่บ่งชี้อย่างชัดเจนถึงความปรารถนา ที่จะผงาดอำนาจ” คริสเตียน เลอ เมียร์ นักวิจัยด้านความมั่นคงทางทะเลแห่งสถาบันระหว่างประเทศ เพื่อการศึกษายุทธศาสตร์ ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงลอนดอนระบุ

เขาชี้ว่า การสอดแทรกเรือจู่โจมสะเทินน้ำสะเทินบกเข้ามาเป็นการเสริมสร้างแสนยานุภาพทางทะเลได้อย่างเฉียบขาดมาก

มีการคาดการณ์กันว่า กองทัพเรือจีนจะต่อเรือรุ่น 071 ออกมาประจำการณ์จำนวน 8 ลำ ซึ่งมีขีดความสามารถในการลำเลียงกำลังพลมากถึง 800 นาย พร้อมด้วยเรือสะเทินน้ำสะเทินบก ยานยนต์หุ้มเกราะ และเฮลิคอปเตอร์ลำเลียงและกู้ภัยขนาดกลาง โดยเรือยกพลขึ้นบกรุ่นนี้ ปรากฏโฉมออกมาเป็นลำแรกเมื่อปี 2549 ได้แก่เรือคุนหลุนซาน ซึ่งปัจจุบันประจำการณ์ในมหาสมุทรอินเดีย และเห็นได้ว่า จีนได้เร่งมือในการต่อเรือรุ่นนี้ออกมา โดยเรือลำที่สามและลำที่สี่ต่อเสร็จภายในเวลา 5 เดือนที่ผ่านมาเท่านั้น

ผู้เชี่ยวชาญทางการทหารระบุว่า อุตสาหกรรมการต่อเรือพาณิชย์ ที่เติบโตอย่างรวดเร็วของจีนเป็นขุมกำลังสำคัญในการปรับปรุงพัฒนาทั้งในด้านขนาดและความล้ำหน้าด้านเทคโนโลยีในการสร้างเรือรบรุ่นใหม่ ๆ ออกมา โดยจีนสามารถเบียดเกาหลีใต้ ก้าวขึ้นมาเป็นชาติผู้ต่อเรือรายใหญ่ที่สุดในโลกเมื่อปี 2553

นอกจากนั้น การเพิ่มงบประมาณกลาโหมในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ประสบการณ์ความชำนาญในการสร้างเรือของจีนก้าวรุดหน้า จนสามารถเปลี่ยนโฉมหน้ากองทัพเรือ ที่ล้าสมัยและมีพิษสงเพียงแค่ป้องกันชายฝั่งไปสู่การเป็นกองเรือ ที่สามารถท่องทะยานในน้ำลึก และแผ่อิทธิพลสู่มหาสมุทรแปซิฟิกและอินเดียได้สำเร็จในที่สุด

ว่ากันว่าเรือรบและเรือดำน้ำชั้นยอดเยียมที่สุดของจีนนั้นติดอาวุธพิษสงร้ายกาจทั้งอาวุธต่อต้านอากาศยาน และขีปนาวุธพิสัยไกลสำหรับทำลายล้างเรือข้าศึก

กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุในรายงานประจำปีต่อสภาคองเกรสว่าด้วยการทหารของจีนเมื่อปีที่แล้วว่า ขณะนี้กองทัพเรือของกองทัพปลดแอกประชาชนมีเรือรบขนาดใหญ่ประมาณ 75 ลำ เรือดำน้ำกว่า 60 ลำ เรือสะเทินน้ำสะเทินบกขนาดกลางและหนัก 55 ลำ และเรือโจมตีเร็วขนาดเล็กติดขีปนาวุธอีกราว 85 ลำ

ด้านนาวาเอก (พิเศษ) หวัง เซียวเสวียนแห่งกองทัพเรือจีน ซึ่งเป็นผู้อำนวยการสถาบันวิจัยกองทัพเรือของจีนให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ไชน่าเดลีเมื่อเดือนที่แล้วว่า ในฐานะชาติมหาอำนาจทางการค้า ซึ่งต้องพึ่งการนำเข้าน้ำมันและวัตถุดิบมากขึ้น จีนจึงจำเป็นต้องขยายกองทัพเรือ เพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงของชาติ

สอดคล้องกับความเห็นของบรรดานักวิเคราะห์ทางการทหาร ที่มองว่า ในขณะที่เรือบรรทุกเครื่องบินวาร์ยัคยังต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะมีความพร้อมออกปฏิบัติการ แต่หากเกิดสงคราม เรือยกพลขึ้นบกจะทำให้จีนมีทางเลือกในการเคลื่อนย้ายกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์

อีกทั้งยังมีประโยชน์อย่างมากในการรับมือกับเหตุฉุกเฉิน ซึ่งมีความรุนแรงน้อยกว่าในยามสงบ รวมทั้งปฏิบัติการคุ้มครองชาวจีน ที่ไปทำงานในต่างแดนจำนวนกว่า 8 แสนคน

นอกจากนั้น เรือสะเทินน้ำสะเทินบกยังสามารถลำเลียงกำลังทหารของจีนไปยังดินแดนข้อพิพาทระหว่างจีนกับชาติเพื่อนบ้านในทะเลจีนใต้ได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

และสุดท้ายเรือสะเทินน้ำสะเทินบกยังช่วยจีนขยายบทบาทในปฏิบัติการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์แก่นานาชาติเหมือนอย่างที่สหรัฐฯ เคยส่งเรือบรรทุกเครื่องบินและเรือจู่โจมสะเทินน้ำสะเทินบกไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์คลื่นสึนามิพัดถล่มชาติแถบมหาสมุทรอินเดีนเมื่อปี 2547 มาแล้ว

การเสริมสร้างแสนยานุภาพของกองทัพเรือจีนเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สหรัฐฯ กำลังตัดทอนงบประมาณกลาโหมและลดขนาดกองทัพเรือ
เรือวาร์ยัค ซึ่งเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกของจีน ขณะทดลองแล่นในทะเลเหลืองเป็นครั้งที่ 2 โดยแล่นห่างจากชายฝั่งเมืองท่าต้าเหลียนไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ราว 100 กิโลเมตร มีการเผยแพร่ภาพเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2554 – เอเจนซี่
อย่างไรก็ตาม นักยุทธศาสตร์การทหารส่วนใหญ่เห็นพ้องกันว่า กองทัพเรือสหรัฐฯ ยังคงมีแสนยานุภาพ ที่ยิ่งใหญ่และน่าเกรงขามมากที่สุดในโลก โดยสหรัฐฯ มีกองเรือ ที่แข็งแกร่งถึง 285 กอง ซึ่งรวมทั้งเรือบรรทุกเครื่องบิน 11 ลำ เรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์กว่า 70 ลำ และเรือลาดตระเวนอีก 22 ลำ

การสร้างความแข็งแกร่งของกองทัพเรือพญามังกรยังเกิดขึ้นในขณะที่ความขัดแย้งเกี่ยวกับการอ้างสิทธิ์เหนือหมู่เกาะในทะเลจีนตะวันออก และทะเลจีนใต้ ซึ่งอุดมไปด้วยทรัพยากรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติระหว่างจีนกับชาติเพื่อนบ้านร้อนระอุขึ้นทุกที

กระทั่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ กองทัพเรือสหรัฐฯ ถึงกับประกาศว่า จะส่งเรือจู่โจมสะเทินน้ำสะเทินบกรุ่นใหม่ ซึ่งมีชื่อเรียกว่า “Littoral Combat Ships” หรือเรือประจัญบานใกล้ชายฝั่งมาประจำการณ์ยัง “จุดตัดทางทะเล” ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยจะมาประจำการณ์ในสิงค์โปร์ หรืออาจเป็นที่ฟิลิปปินส์ ซึ่งชาติทั้งสองกำลังมีข้อพิพาทดินแดนกับจีน และเป็นพันธมิตร ที่ซี้ปึกกับสหรัฐฯ อีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น