เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - จีนอ้าแขนต้อนรับนายกรัฐมนตรีแองเกล่า แมร์เคิลแห่งเยอรมนีเยือนแดนมังกรเป็นครั้งที่ 5 ในรอบ 5 ปี นักวิเคราะห์ชี้ จีนสานสัมพันธ์แน่นปึกกับชาติมหาอำนาจในยุโรปรายนี้ เพื่อหวังถ่วงดุลอำนาจของสหรัฐฯ และพยายามสร้างโลก “หลายขั้ว” (multi-polar world) ขึ้นมา
นางแมร์เคิลเดินทางถึงกรุงปักกิ่งเมื่อวันพฤหัสฯ (2 ก.พ) เพื่อเยือนจีนเป็นเวลา 2 วัน โดยศาสตราจารย์ จาง เซียวจิน ผู้เชี่ยวชาญด้านกิจการยุโรปแห่งมหาวิทยาลัยชิงหวาระบุว่า ในบรรดาความสัมพันธ์ของจีนกับชาติมหาอำนาจต่าง ๆ นั้น ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเยอรมนีดีที่สุด
ขณะที่นายเฟิง จงผิง ผู้อำนวยการฝ่ายยุโรปศึกษาแห่งสถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศร่วมสมัยของจีนกล่าวว่า เยอรมนีภายใต้การนำของด็อกเตอร์แมร์เคิลเข้าตีสนิทกับจีน โดยเน้นการปฏิบัติในแง่ความเป็นจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการบริหารประเทศสมัยที่ 2 ซึ่งเริ่มในปี 2552
นางแมร์เคิล ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรกเมื่อปี 2548 เคยทำให้จีนขุ่นเคือง ที่เปิดประเทศต้อนรับทะไล ลามะ ผู้นำจิตวิญญาณของทิเบตเมื่อปี 2550 อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ได้พัฒนาดีขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เมื่อจีน ซึ่งเป็นชาติเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 2 และเยอรมนี ชาติเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 4 ของโลกหันมาเน้นร่วมมือกันด้านเศรษฐกิจ แทนการจมปลักความขัดแย้งในประเด็นการเมือง ที่ดำเนินมายาวนาน และเคยเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกัน เช่นประเด็นสิทธิมนุษยชน และปัญหาทิเบต
ในการเยือนจีนครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2553 ชาติทั้งสองได้ออกแถลงการณ์ร่วม ประกาศความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกระหว่างจีนกับชาติตะวันตก
นอกจากนั้น ในปีนี้ยังเป็นวาระครบรอบ 40 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติผู้ส่งออกชั้นนำ ซึ่งการค้าระหว่างกันคึกคักอย่างมาก โดยจีนเป็นชาติคู่ค้าในเอเชียรายใหญ่สุดของเยอรมนี ขณะที่เยอรมนีเองก็เป็นชาติคู่ค้าอันดับ 1 ของจีนในสหภาพยุโรป โดยเยอรมนีนำเข้าสินค้าจากจีนมากถึง 77,270 ล้านยูโรในปี 2553 ขณะที่จีนนำเข้าสินค้าจากเยอรมนีในปีเดียวกันมูลค่า 53,790 ล้านยูโร
สำหรับการมาเยือนครั้งล่าสุดนี้ นักวิเคราะห์คาดว่าประเด็นหารือสำคัญประเด็นหนึ่งระหว่างผู้นำเยอรมนีกับผู้นำจีนน่าจะได้แก่แผนกอบกู้วิกฤตหนี้สาธารณะในยูโรโซน เพื่อชักชวนให้จีน ซึ่งมีทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศมากถึง 3.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เข้าลงทุนในยุโรป เพื่อช่วยกอบกู้วิกฤต เนื่องจากขณะนี้จีนยังไม่มั่นใจเกี่ยวกับประสิทธิภาพของแผนการ และความปลอดภัยในการเข้าลงทุน
นักวิเคราะห์มองว่า การค้าการลงทุน ที่เพิ่มขึ้นกับเยอรมนียังจะช่วยกระตุ้นให้รัฐบาลเบอร์ลินสนับสนุนจุดยืนของจีนในประเด็น ที่จีนขัดแย้งกับสหรัฐฯ อีกด้วย เช่นปัญหาค่าเงินหยวน และข้อพิพาทการค้าในองค์การการค้าโลก
นอกจากนั้น จีนยังหวังด้วยว่า เยอรมนีจะเริ่มดำเนินการขั้นตอนแรก เพื่อให้การยอมรับจีนในฐานะชาติ ที่มีเศรษฐกิจระบบตลาด (market economy) จากที่จีนยังคงมีสถานะเป็น non-market economy ซึ่งทำให้จีนต้องเผชิญกับปัญหาส่งออกสินค้าและบริการ ตลอดจนปัญหาการกีดกันการค้าจากสหรัฐฯ และอียูในปัจจุบัน