xs
xsm
sm
md
lg

โต้วาที 3 ผู้ชิงเก้าอี้ปธน.ไต้หวันปีหน้า ดุเด็ดเผ็ดมัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ซ่ง ฉู่อี้ว์แห่งพรรคพีเอฟพี จับมือกับนางสาวไช่ อิงเหวินแห่งพรรคดีพีพี และประธานาธิบดีหม่า อิงจิ่วแห่งพรรคก๊กมินตั๋ง ยืนอยู่ตรงกลาง ก่อนการโต้วาทีวานนี้ 17ธ.ค. เพื่อชิงชัยในการเลือกตั้ง 14 ม.ค. ที่กำลังจะมาถึงนี้(ภาพรอยเตอร์)
เอเยนซี - การโต้วาทีที่ถ่ายทอดผ่านสถานีโทรทัศน์ล่าสุดระหว่าง 3 ผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของไต้หวันในการเลือกตั้งอันใกล้ที่จะถึงนี้ (14 ม.ค.) จัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (17ธ.ค.) ซึ่งในการนี้ประเด็นที่หยิบมาโต้กันมากที่สุดเห็นจะเป็นเรื่องข้อตกลงกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (ECFA) กับจีนแผ่นดินใหญ่

ผู้ชิงตำแหน่งฯ อันได้แก่ หม่า อิงจิ่ว ประธานาธิบดีคนปัจจุบันแห่งพรรคก๊กมินตั๋ง ดร.ไช่ อิงเหวิน ผู้นำของพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าหรือดีพีพี และซ่ง ฉู่อี้ว์ แห่งพรรคพีเอฟพี (People First Party) ต่างออกมาย้ำนโยบายทางการเมืองของตนและซัดคู่แข่งกันพัลวัน

ทั้งหม่าและซ่งต่างยืนยันยอมรับบทบาทของข้อตกลงECFA ที่สนับสนุนการค้าระหว่างช่องแคบไต้หวันกับแผ่นดินใหญ่

หม่าเผยว่า ข้อตกลง ECFA ได้สร้างโอกาสให้กับไต้หวันในการแข่งขันกับเกาหลีใต้ และชาติเศรษฐกิจอาเซียนอื่น ๆ ทั้งไต้หวันและเกาหลีใต้ต่างถูกตีตราให้เป็น 1 ใน 4 มังกรแห่งเอเชียในทศวรรษ 1990 ในฐานะที่เศรษฐกิจเจริญเติบโตอย่างสดใส

หม่าชี้ว่า ข้อครหาที่บอกว่าการที่เขาไปลงนามในข้อตกลง ECFA เป็นการ "ขายไต้หวันให้กับจีน" นั้นไร้มูลความจริง นอกจากนั้นหม่ายังวิจารณ์นโยบายสัมพันธ์กับจีนของไช่ อิงเหวินตลอดจนสิ่งที่ไช่หยิบยกมาคือ "ฉันทามติไต้หวัน" ว่ามีความเลื่อนลอยคลุมเครือ

ส่วนซ่ง ฉู่อี้ว์ แห่งพรรคพีเอฟพี เผยว่าสานสัมพันธ์ระหว่างแผ่นดินใหญ่และไต้หวันไม่ควรจะเสื่อมถอยลงหลังจากลงนามข้อตกลง ECFA ไปแล้ว และสองฝ่ายควรจะสร้างโอกาสที่ดีขึ้นให้กันและกันภายใต้ "ความรุ่งเรืองร่วมกัน" อย่างไรก็ตามซ่งเผยว่า ECFA ไม่ใช่ยาครอบจักรวาล เพราะมันก็สร้างปัญหาตามมาเหมือนกัน

ฝ่าย ไช่ อิงเหวินยังคงปฏิเสธฉันทามติ 1992 ซึ่งพรรคก๊กมินตั๋งนำมาใช้เป็นพื้นฐานในการทำข้อตกลงด้านเศรษฐกิจกับแผ่นดินใหญ่ พร้อมกับย้ำว่าฉันทามติไต้หวันของเธอมีความใหม่กว่า เธอตั้งคำถามว่า ในเมื่อหม่ายินดีดำเนินนโยบายจะรวมชาติกับจีน ทำไมถึงยังบอกว่าไม่รวมอยู่เล่า

ฝ่ายหม่าก็ตอบโต้ว่า หากไช่ได้เป็นประธานาธิบดีจริง ก็คงหาเรื่องปล่อยอดีตประธานาธิบดีเฉิน สุยเปี่ยนที่ต้องคดีคอร์รัปชั่นเป็นแน่

ในเดือนพ.ย. ปีค.ศ. 1992 ผู้นำสมาคมความสัมพันธ์ระหว่างช่องแคบไต้หวันของจีน (ARATS) และมูลนิธิเพื่อการติดต่อระหว่างสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน ได้บรรลุข้อตกลงว่า ทั้งสองฝ่ายยอมรับว่าจีนและไต้หวันจะยึดมั่นในโยบายจีนเดียว

นอกจากนั้น 3 ผู้ชิงเก้าอี้ฯ ยังได้แสดงความเห็นของตนเกี่ยวกับการปฏิรูประบบยุติธรรม การศึกษา การจ้างงาน การเคหะ เกษตรกรรม ความมั่นคงของสังคม การเงิน สาธารณสุข และเรื่องพลังงานนิวเคลียร์ การถ่ายทอดดังกล่าวผ่านช่องทีวีสาธารณะของไต้หวัน หรือ พับลิกทีวี และสถานีท้องถิ่นอื่น ๆ อีก ครั้งนี้นับเป็นการโต้วาทีครั้งที่ 3 ซึ่งสองครั้งก่อนหน้าจัดไปเมื่อวันที่ 3 และ 10 ธ.ค. เพื่อแสดงทัศนะของผู้นำให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีจริง.
กำลังโหลดความคิดเห็น