xs
xsm
sm
md
lg

จีนชี้หน้าบางชาติตะวันตก "มือถือสากปากถือศีล" กลางที่ประชุมลดโลกร้อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ภาพ นาย เซี่ย เจิ้นหวา...“พวกคุณมีคุณสมบัติอะไร...มาสั่งสอนพวกเรา” นาย เซี่ย เจิ้นหวา ระเบิดอารมณ์ใส่ชาติพัฒนาแล้วกลางที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ UNFCCC ที่เมืองเดอร์บัน ประเทศแอฟริกา วันที่ 11 ธ.ค. 2554 (ภาพ เอเจนซี)
เอเจนซี--กลุ่มสื่อจีนรายงานเมื่อต้นสัปดาห์ ขนานนามการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ UNFCCC ที่เมืองเดอร์บัน (Durban) ประเทศแอฟริกาใต้ ว่าการประชุม “มาราธอน” ตามกำหนดการเดิมระบุระยะเวลาการประชุมฯ 28 พ.ย.-9 ธ.ค. รวม 12 วัน ทว่า ในเย็นวันที่ 9 ธ.ค. ประเทศผู้เข้าร่วมการประชุมกว่า 200 ชาติ และตัวแทนจากองค์กรต่างๆก็ยังแตกคอกันเครียดในการประเด็นปัญหาสำคัญ จนต้องมีการขยายเวลาการถกเถียงไปอีก 2 วัน รวมการประชุม 14 วัน จนได้ข้อสรุปกันอย่างทุลักทุเล

การประชุมได้ข้อตกลง ที่อาจนับได้เป็น “ความสำเร็จเล็กๆ” ที่ยังดีกว่าคว้าได้น้ำโจ้กเหลวๆ ได้แก่ ข้อตกลงเกี่ยวกับสนธิสัญญาว่าด้วยการลดก๊าซเรือนกระจกในอนาคต ที่ระบุว่าจะพากันร่างให้เสร็จภายในปี 2563 โดยระหว่างนี้ก็ใช้พิธีสารเกียวโตไปก่อน ดังนั้น ข้อตกลงของที่ประชุมนี้ก็เท่ากับเป็นการขยายพิธีสารเกียวโต ซึ่งเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศฉบับเดียวที่ระบุข้อตกลงลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ทั้งนี้ พิธีสารเกียวโตมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2540 และจะหมดอายุลงในปีหน้า (2555) สนธิสัญญาฯฉบับนี้ ได้กำหนดพันธะทางกฎหมายในการลดการแพร่กระจายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือเรือนกระจกแก่กลุ่มชาติอุตสาหกรรม โดยยกเว้น จีน อินเดีย และกลุ่มชาติเศรษฐกิจเกิดใหม่ ทว่าไม่ครอบคลุมถึงสหรัฐฯ ที่ปฏิเสธให้สัตยาบันรับรอง

ที่ประชุมยังได้ตกลงจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือกลุ่มประเทศยากจน เรียกว่ากองทุนสภาพอากาศสีเขียว (Green Climate Fund) ภายในปี 2563 แต่ก็ยังไม่ได้ระบุแหล่งเงินทุน ในข้อตกลงการจัดตั้งกองทุนฯดังกล่าว เพียงระบุว่าในแต่ละปี กลุ่มชาติพัฒนาแล้วจะระดมทุนและอัดฉีดเงิน 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อช่วยเหลือกลุ่มประเทศยากจนในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และแสวงหาแหล่งพลังงานสะอาด

บรรยากาศการสรุปข้อตกลงของที่ประชุมเต็มไปด้วยความเหนื่อยล้า และการระเบิดอารมณ์ กลุ่มนักสังเกตการณ์และคณะผู้แทนในที่ประชุมต่างชี้ว่า ข้อตกลงในที่ประชุมได้ช่วยต่อลมหายใจของกระบวนการเจรจาฯ แต่ก็ไม่มีผลกระทบอย่างสำคัญในแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

Alden Meyer ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายของ Union of Concerned Scientists กล่าวว่า ชาติต่างๆพยายามอย่างสุดสามารถเพื่อไม่ให้การเจรจาในเดอร์บันล้มเหลว แต่ข้อตกลงที่พวกเขาช่วยกันดันออกมา ก็ไร้ซึ่งมาตรการที่จำเป็นสำหรับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเลย

กลุ่มสหภาพยุโรป หรืออียู ได้เบ่ง “โรดแมป” สำหรับสนธิสัญญาที่มีพันธะทางกฎหมาย ขณะที่จีนและอินเดียได้รวมพลังกันต้านสุดฤทธิ์ โดยพวกเขาโวยลั่นว่าแผนการตัดลดจะชะลอการเติบโตของพวกเขา

ในเช้าวันที่ 11 ธ.ค. วันสุดท้ายของการประชุมฯ เซี่ย เจิ้นหวา หัวหน้าทีมผู้แทนจากประเทศจีน รองผู้อำนวยการคณะกรรมการการปฏิรูปและการพัฒนาแห่งรัฐ ได้ลุกขึ้นระเบิดอารมณ์ โวยใส่กลุ่มชาติพัฒนาแล้ว

เซี่ย เจิ้นหวาวิจารณ์ประเทศพัฒนาแล้วกลุ่มหนึ่งว่า นอกจากจะไม่ทำตามคำสัญญากันแล้ว ยังรุมกดดันกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา “สำหรับบางประเทศ พวกเราไม่ได้จ้องดูว่าพวกเขาพูดอะไร แต่กำลังดูว่าพวกเขาจะทำอะไรต่างหาก บางประเทศได้กล่าวคำสัญญา แต่ไม่เคยทำตามคำสัญญานั้นเลย ไม่เคยดำเนินมาตรการที่จะช่วยแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริงเลย”

เมื่อกล่าวถึงจุดนี้ เซี่ย เจิ้นหวาได้เปล่งเสียงดังขึ้นอีก

“ดีแต่พูดกันเสียงดังใหญ่ว่าจะต้องตัดลดการปล่อยก๊าซความร้อนก่อน แล้วลดกันหรือยังล่ะ? บอกว่าจะช่วยจัดหาเงินทุนและเทคโนโลยีแก่กลุ่มชาติกำลังพัฒนา แล้วจัดให้หรือยัง? พูดกันมา 20 ปีแล้ว จนถึงวันนี้ก็ไม่เห็นเกิดขึ้นจริงสักอย่าง พวกเราเป็นกลุ่มชาติกำลังพัฒนา พวกเราต้องการพัฒนา พวกเราต้องการลดความยากจน พวกเราต้องการปกป้องสิ่งแวดล้อม สิ่งที่ควรทำพวกเราก็ทำแล้ว พวกเราได้ทำไปแล้ว พวกคุณไม่เห็นทำกันได้เลย พวกคุณมีคุณสมบัติอะไร...มาสั่งสอนพวกเรา?!”

เมื่อนาย เซี่ย เจิ้นหวาพูดจบ เสียงโห่ร้อง ปรบมือ ก็ดังสนั่นห้องประชุม.
บรรยากาศที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เต็มไปด้วยความเหนื่อยล้า เจ้าหน้าที่นอนแผ่หราในห้องประชุมในวันสุดท้ายของการประชุม(11 ธ.ค.) ซึ่งถูกยืดจากกำหนดเดิมสองวัน เป็น 14 วัน (ภาพ เอเจนซี)
กำลังโหลดความคิดเห็น