เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - ผลการประชุมสุดยอดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกของสหประชาชาติที่เมืองเดอร์บัน ประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งปิดฉากลงเมื่อวันอาทิตย์ ที่ผ่านมา (11 ธ.ค.) นับเป็นชัยชนะสำหรับจีน ซึ่งได้ไฟเขียวปล่อยก๊าซคาร์บอนตามสบายต่อไปอีกเกือบสิบปี จนกว่าสนธิสัญญาแก้ไขปัญหาโลกร้อนฉบับใหม่จะมีผลบังคับใช้
นายซู เหว่ย หัวหน้าคณะผู้เจรจาแดนมังกรถึงกับเรียกแถลงการณ์แห่งเดอร์บัน ซึ่งรวบรวมข้อตกลงต่าง ๆในการประชุมว่า เป็นความคืบหน้าครั้งยิ่งใหญ่ ภายหลังการประชุม ที่ยืดเยื้อมากที่สุดครั้งหนึ่งเท่าที่เขาเคยประสบมาในการทำหน้าที่ผู้เจรจาเรื่องสภาพภูมิอากาศมานาน 20 ปี
การประชุมสุดยอดที่เดอร์บันเป็นการหารือเกี่ยวกับการทำสนธิสัญญาฉบับใหม่ เพื่อใช้แทนพิธีสารเกียวโต ซึ่งทำขึ้นเมื่อปี 2540 และจะหมดอายุลงในปีหน้า พิธีสารเกียวโตเป็นข้อผูกมัดฉบับแรกในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน หรือก๊าซเรือนกระจก แต่ถูกชาติพัฒนารายใหญ่และชาติยากจนหลายรายตำหนิว่า ไม่มีความเป็นธรรม และไร้ประโยชน์ เนื่องจากไม่สามารถบังคับเพดานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกับชาติผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่คือจีน อินเดีย และชาติเศรษฐกิจใหม่รายใหญ่ ซึ่งมีการปล่อยก๊าซไล่ตามติด ๆ ชาติอุตสาหกรรม โดยพิธีสารเพียงแต่ระบุให้ชาติกำลังพัฒนาเหล่านี้ลดการปล่อยก๊าซตามความสมัครใจ ขณะที่ สหรัฐฯ ซึ่งถูกจีนแย่งตำแหน่งชาติปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันดับ 1 ของโลกเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ไม่เข้าร่วมในพิธีสารฉบับนี้
นักวิเคราะห์ระบุว่า การแสดงความยินดีของจีนชี้ชัดว่า จีนได้ประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในระหว่างการประชุมได้ถูกต้อง และเข้ามามีบทบาทกู้สถานการณ์ เมื่อการประชุม ซึ่งดำเนินมานานกว่า 12 วัน เข้าสู่ทางตัน โดยจีนเป็นฝ่ายอ่อนข้อด้วยการเสนอให้ที่ประชุมพิจารณายอมรับแผนโรดแม็ปของสหภาพยุโรป สำหรับเป็นแนวทางในการทำสนธิสัญญาว่าด้วยการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฉบับใหม่ ซึ่งที่ประชุมสุดยอดเห็นพ้องให้ร่างสนธิสัญญาให้เสร็จสิ้นภายในปี 2558 และมีผลบังคับใช้ภายในปี 2563
ดังนั้น จึงเท่ากับเป็นการยืดอายุของพิธีสารเกียวโต ซึ่งทำให้จีนสามารถสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วต่อไปได้อีกเกือบ 10 ปี ก่อนที่จะถูกตรวจสอบการปล่อยก๊าซคาร์บอนในระดับเดียวกับที่ชาติพัฒนาถูกตรวจสอบ โดยเพดานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสองมาตรฐานระหว่างชาติพัฒนากับชาติกำลังพัฒนาในพิธีสารโตเกียวยังมีผลบังคับใช้ต่อไปในระหว่างนี้
ทั้งนี้ บรรดาชาติสมาชิกสหประชาชาติได้ตกลงเริ่มการเจรจาการร่างสนธิสัญญาฉบับใหม่ในปีหน้า อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์เตือนว่า อนาคตการเจรจาอาจไม่สดใสอย่างที่คาดหวังกัน ดร.หยาง ฟู่เฉียง ที่ปรึกษาอาวุโสด้านสภาพภูมิอากาศและพลังงานของสภาป้องกันทรัพยากรแห่งชาติของจีนเตือนว่า การเจรจาในอนาคตจะดุเดือด และจีนน่าจะเตรียมเพิ่มแรงกดดันต่อนานาชาติ เนื่องจากระดับการปล่อยก๊าซคาร์บอนของจีนยังคงเพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง และคาดว่าจะแซงหน้าการปล่อยก๊าซของสหรัฐฯ และอียูรวมกันในปี 2563