เอเอฟพี - แคนาดากลายเป็นประเทศแรกที่ขอถอนตัวจากพิธีสารเกียวโตอย่างเป็นทางการในวันจันทร์ (12) โดยว่าข้อตกลงเกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นี้กำลังเป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิภาพ
“เราขอใช้สิทธิทางกฎหมายของแคนาดาในการถอนตัวอย่างเป็นทางการจากพิธีสารเกียวโต” ปีเตอร์ เคนท์ รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมกล่าว หลังการประชุมอย่างมาราธอนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในแอฟริกาใต้ ซึ่งประเทศผู้เจรจาตกลงกันได้สำเร็จเกี่ยวกับแผนโรดแมปฉบับใหม่ ที่จะครอบคลุมทั่วโลก
ข้อตกลงสำคัญ ซึ่งบรรลุในปี 1997 นี้เป็นเพียงสนธิสัญญาระดับโลก ที่ว่าด้วยการตั้งเป้าหมายลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลก แต่กลับบังคับใช้กับประเทศร่ำรวย ซึ่งไม่รวมถึงสหรัฐฯ ที่ปฏิเสธให้สัตยาบันในข้อตกลงดังกล่าว
เคนท์เสริมว่า พิธีสารเกียวโตนั้นไม่ใช่หนทางในการแก้ปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงทั่วโลก แต่กลับเป็นอุปสรรคมากกว่า โดยเชื่อว่าข้อตกลงใหม่ ที่มีการบังคับใช้ทางกฏหมายกับประเทศผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ๆ และยอมให้แคนาดาสามารถสร้างงาน และการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ จึงจะแสดงถึงวิธีการที่ก้าวไปข้างหน้า
แคนาดาเคยทำข้อตกลงภายใต้พิธีสารโตเกียว เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 6.0% จากปี 1990 ภายในปี 2012 แต่การปล่อยก๊าซ ซึ่งเป็นต้นเหตุให้ระบบภูมิอากาศบนเปลือกโลกถูกทำลาย ดังกล่าวนั้น กลับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ด้านรัฐบาลอนุรักษนิยมของนายกรัฐมนตรีสตีเฟน ฮาร์เปอร์ ได้เผยมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตัวเองในปีที่่ผ่านมา เช่นเดียวกับความพยายามของสหรัฐฯ โดยชี้ว่า ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายของพิธีสารเกียวโต ตามที่มีการตกลงกันในสมัยรัฐบาลชุดก่อนหน้าได้
การถอนตัวออกจากข้อตกลงแก้ไขปัญหาโลกร้อนฉบับนี้จะทำให้แคนาดาไม่ต้องจ่ายเงินค่าปรับมูลค่าร่วม 14,000 ดอลลาร์แคนาดา หรือราว 423,000 ล้านบาท สำหรับการที่ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซได้
ในวันอาทิตย์ (11) ที่ผ่านมา ที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ณ เมืองเดอร์บัน ประเทศแอฟริกาใต้ สามารถตกลงกันได้สำเร็จเกี่ยวกับแผนโรดแมป ซึ่งจะนำไปสู่ข้อตกลงฉบับแรกที่จะบังคับชาติผู้สร้างมลพิษรายใหญ่ทั้งหมดต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก