xs
xsm
sm
md
lg

ประเด็นหลักที่ประชุมเดอร์บัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - ที่ประชุมยูเอ็นปิดฉากลงเมื่อวันอาทิตย์ (11) โดยตกลงกันได้เกี่ยวกับมาตรการต่างๆ ที่มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และช่วยเหลือประเทศยากจนรับมือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งพอจะสรุปได้ดังนี้

**ข้อตกลงภูมิอากาศระดับโลก**

ความสำเร็จที่เป็นหัวใจสำคัญของการเจรจาที่เดอร์บันคือ การเปิดตัวโรดแมปที่มุ่งสู่ข้อตกลงระดับโลกว่าด้วยภูมิอากาศ ซึ่งจะครอบคลุมชาติผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ทั้งหมด

จนถึงขณะนี้ ผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนอันดับ 1 และ 3 คือจีนและอินเดีย ได้รับการยกเว้นจากข้อผูกมัดในพิธีสารเกียวโต เนื่องจากเป็นประเทศกำลังพัฒนา ขณะที่ผู้ปล่อยมลพิษอันดับ 2 คือสหรัฐฯ ประกาศไม่ร่วมพิธีสารเกียวโต

ข้อตกลงใหม่นี้จะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2015 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นไป

**กองทุนภูมิอากาศสีเขียว**

ในการประชุมสุดยอดที่โคเปนเฮเกน เดนมาร์ก ปี 2009 ประเทศพัฒนาแล้วได้ยอมรับที่จะตั้งกองทุนภูมิอากาศสีเขียว ที่จะอัดฉีดเงินอย่างน้อยปีละ 100,000 ล้านดอลลาร์นับจากปี 2020 เพื่อช่วยชาติยากจนต่อสู้และรับมือการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

การเจรจาที่เดอร์บันสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ในการออกแบบกองทุน กระนั้น กองทุนยังไม่มีเงินในคลัง ข้อเสนอเก็บภาษี “ถังเชื้อเพลิง” จากอุตสาหกรรมการขนส่งระดับโลก ได้รับการสนับสนุนบ้างระหว่างการเจรจานาน 14 วัน แต่สุดท้ายไม่ผ่านการรับรอง

ประเด็นอื่นๆ ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขรวมถึงสัดส่วนการสนับสนุนจากแหล่งเงินสาธารณะ และสัดส่วนสมทบจากภาคเอกชน

**พิธีสารเกียวโต**

ข้อตกลงระดับโลกเพียงฉบับเดียวที่มีข้อผูกพันทางกฎหมายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฉบับนี้ ได้รับการต่ออายุเมื่อสหภาพยุโรป (อียู) สวิตเซอร์แลนด์ และนอร์เวย์ ประกาศสนับสนุนการผูกมัดรอบใหม่ในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน หลังจากที่พิธีสารนี้ที่ลงนามรับรองในปี 1997 จะสิ้นสุดผลบังคับลงปลายปีหน้า

อย่างไรก็ดี หลายชาติ อาทิ ญี่ปุ่น รัสเซีย และแคนาดา แสดงท่าทีชัดเจนว่า จะไม่รับการผูกมัดตามพิธีสารเกียวโตอีก ถ้าหากพวกชาติผู้ปล่อยมลพิษรายใหญ่ๆ ยังคงไม่เข้ารับการผูกพันตามกฎหมายด้วย

เพื่อซื้อใจประเทศกำลังพัฒนา อียูประกาศว่า หากจำเป็นก็พร้อมจะลงนามในข้อผูกมัดใหม่เพียงลำพังแลกกับข้อตกลงปี 2015

พันธะสัญญาใหม่นี้จะมีระยะเวลาบังคับใช้นานเท่าใดนั้น จะมีการตัดสินใจกันกลางปีหน้า

**การปฏิบัติตามกฎลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน**

การผลักดันเพื่อให้มีการลดการปล่อยมลพิษตามความสมัครใจ (เอ็มอาร์วี) เริ่มต้นขึ้นเมื่อปีที่แล้วระหว่างการเจรจายูเอ็นที่แคนคูน เม็กซิโก ทว่า จนถึงวันนี้ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ สำหรับเอ็มอาร์วีที่สามารถตรวจวัด รายงาน และตรวจสอบได้

กรอบโครงความรับผิดชอบร่วมสำหรับประเทศพัฒนาแล้ว และประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ในท้ายที่สุด นับเป็นองค์ประกอบหลักที่สำคัญในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

ความคืบหน้าเรื่องนี้ถูกขัดขวางจากความลังเลของประเทศกำลังพัฒนา โดยพวกเขาไม่เห็นด้วยที่จะต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบโดยละเอียดในระดับเดียวกับประเทศพัฒนาแล้ว

ชาติมั่งคั่งกล่าวว่า ในอนาคตแล้ว พวกเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ยักษ์ใหญ่คือผู้ที่ต้องรับผิดชอบการลดการปล่อยมลพิษในสัดส่วนสูงสุด ดังนั้น จึงต้องทำให้ “เอ็มอาร์วี” เป็นที่น่าเชื่อถือ โดยเฉพาะสหรัฐฯ นั้น ยืนกรานให้ใช้มาตรฐานการตรวจสอบเดียวกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น