เอเอฟพี/เอเจนซี - ที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ณ เมืองเดอร์บัน บรรลุข้อตกลงใหม่ในวันนี้(11) ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ประเทศผู้ปลดปล่อยคาร์บอนรายใหญ่ถูกดึงเข้ามามีส่วนในพันธะสัญญาลดภาวะโลกร้อน
ข้อตกลงดังกล่าวนับเป็นผลสำเร็จจากความพยายามอันไร้ผลมานานหลายปีที่จะสร้างข้อผูกมัดทางกฎหมายกับนานาประเทศ รวมถึงประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่สำคัญอย่าง จีน และอินเดีย โดยมีกำหนดลงนามในปี 2015 และมีผลบังคับไปจนถึงปี 2020
ที่ผ่านมา กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาต่างยอมรับในพิธีสารเกียวโต ซึ่งมีการลงนามเมื่อปี 1997และจะหมดอายุลงในปีหน้า ขณะที่สหรัฐฯซึ่งเป็นผู้ปลดปล่อยคาร์บอนอันดับ 2ปฏิเสธที่จะลงนามในข้อตกลงดังกล่าว
หลังจากผ่านการถกเถียงอย่างเผ็ดร้อนมานานหลายวัน ประธานการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเรียกร้องให้ผู้แทนชาติต่างๆยอมรับข้อตกลง 4 ชุด ซึ่งจะมีผลบังคับในทางกฎหมาย
“เรามาประชุมกันที่นี่พร้อมด้วยแผน A และเราได้สรุปการประชุมในครั้งนี้ด้วยแผน A ซึ่งจะช่วยปกป้องโลกให้แก่ลูกหลานของเราในอนาคต” ไมเต นโกอานา มาชาบาเน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศแอฟริกาใต้ ระบุ
“เราได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่แล้ว” เธอกล่าว พร้อมปิดการประชุมที่ยืดเยื้อมานานกว่า 2 สัปดาห์ และนับเป็นการประชุมสภาพอากาศของยูเอ็นที่ใช้เวลานานที่สุดในรอบ 2 ทศวรรษ
ข้อตกลงดังกล่าวได้รับการตอบรับที่ดีจากบราซิล ซึ่งเป็นหนึ่งในมหาอำนาจเกิดใหม่ของโลก
“ผมโล่งใจที่เราได้รับสิ่งที่คาดหวังจากประชุมคราวนี้ เราได้ข้อตกลงที่ดีเลิศและแข็งแกร่งว่าด้วยขั้นตอนต่อไปในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในระดับนานาชาติ ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทันที” ลูอิส อัลแบร์โต ฟิกูเอเรโด ผู้แทนเจรจาจากบราซิล กล่าว
การประชุมสภาพอากาศที่เดอร์บันมีกำหนดปิดฉากลงเมื่อวันศุกร์(9)ที่ผ่านมา ทว่าต้องยืดเยื้อต่อมาจนถึงวันนี้(11) เนื่องจากมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับการใช้ถ้อยคำในพันธะสัญญาทางกฎหมาย
สหภาพยุโรปสนับสนุนให้ใช้ถ้อยคำที่แข็งกร้าว แต่ถูกประเทศผู้ปลดปล่อยคาร์บอนรายใหญ่อย่างสหรัฐฯ, จีน และอินเดีย คัดค้าน
“เราเจรจากันอย่างเคร่งเครียดพอแล้ว เราไม่ต้องการพิจารณาข้อตกลงนี้ใหม่อีก แต่เห็นแก่ความยืดหยุ่นและการผ่อนปรนที่ทุกประเทศแสดงออก เราจึงยอมยืดหยุ่นให้ เรายอมรับถ้อยคำที่ท่านกล่าวมา และจะนำไปปฏิบัติตาม” ชายันธี นาตาราจัน รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมอินเดีย กล่าว
วัตถุประสงค์หลักของการประชุมที่เมืองเดอร์บันอยู่ที่การดึงสหรัฐฯ, จีน และอินเดียให้เข้ามามีส่วนร่วม โดยร่างข้อตกลงอย่างกว้างๆเพื่อให้มหาอำนาจเหล่านี้เบาใจว่า ผลประโยชน์ที่สูญเสียจะไม่มากเกินรับไหว
ด้านนักอนุรักษ์และประเทศหมู่เกาะ ซึ่งเกรงว่าระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นจากภาวะโลกร้อนจะทำให้บ้านเมืองของตนจมหายไป เห็นว่าถ้อยคำในข้อตกลงใหม่ยังไม่รุนแรงมากพอ