xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ หลังปี 2020 จีนจะยอมอยู่ใต้กฎฯ ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายเสี่ย เจิ้นหวา รองประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาและการปฏิรูปแห่งชาติและผู้เจรจาตัวแทนจากจีน ขึ้นกล่าวในการเจรจาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ภายใต้การประชุมตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ณ เมืองเดอร์บัน ประเทศแอฟริกาใต้ (ภาพเอเอฟพี)
เอเยนซี - นายเสี่ย เจิ้นหวา รองประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาและการปฏิรูปแห่งชาติ ผู้แทนเจรจาจากจีนเผยว่าจีนได้วางเงื่อนไขเอาไว้ว่า จะยอมให้กฎลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มีผลผูกพันทางกฎหมายกับจีนได้หลังจากปี 2563 (ค.ศ.2020) ซึ่งเป็นปีที่จีนมองว่าขณะนั้นจะกลายเป็นประเทศพัฒนาที่มีศักยภาพสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้แล้ว

เงื่อนไขของจีนนั้นยังหมายรวมถึงความต้องการให้ชาติร่ำรวยทั้งหลายอยู่ภายใต้กฎการลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายใต้พิธีสารเกียวโตด้วย ซึ่งหากประเทศร่ำรวยอยู่ภายใต้ข้อผูกพันทางกฎหมายนี้แล้ว จะต้องจ่ายเงินเป็นกองทุนด้านสภาพภูมิอากาศ ช่วยเหลือประเทศที่ยากจนกว่าทั้งในระยะสั้นและระยะยาวหลายแสนล้านดอลลาร์ทีเดียว

"ผมคิดว่า หลังปี 2563 พวกเราควรจะมาพูดคุยกันเรื่องข้อผูกพันทางกฎหมายนี้ฯ กับจีนได้" เสี่ยบอกกลับกลุ่มเอ็นจีโอ (4ธ.ค.) ในการประชุมที่เมืองเดอร์บัน ภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

"ปัญหาในขณะนี้คือ พวกเราต้องดูว่ามีความพร้อมที่จะลงนามยอมรับข้อผูกพันทางกฎหมายนี้มากน้อยแค่ไหน"

ในการประชุม 194 ชาติซึ่งจะรวบยอดในวันศุกร์หน้านี้ มีหวังว่าจะบรรลุ "ข้อตกลงเดอร์บัน"

ข้อตกลงดังกล่าวอาจนำมาซึ่งหนทางการลงนามข้อตกลงในอนาคต ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ซึ่งจะไม่หมายรวมเฉพาะประเทศร่ำรวยเท่านั้นที่ต้องจ่ายเงินเหมือนกับพิธีสารเกียวโต แต่ทุกประเทศที่ปล่อยก๊าซฯ เฉกเช่นจีน อินเดียและบราซิล จะต้องมีส่วนรับผิดชอบกับสิ่งที่กระทำ

ประเทศที่เศรษฐกิจกำลังผงาดและชาติกำลังพัฒนาทั้งหลายรวมกันแล้วขณะนี้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าครึ่งของจำนวนทั้งหมด และภายใน 20 ปี ก็จะเพิ่มปริมาณการปล่อยมากขึ้นเป็นจำนวน 2 ใน 3

สหภาพยุโรปออกความคิดสนับสนุนพิธีสารเกียวโต ตลอดจนข้อตกลงว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2558 ด้วย

อย่างไรก็ตามสหรัฐฯและอินเดียยังคงไม่มีท่าทีใด ๆ กับข้อเสนอดังกล่าว ขณะที่เจ้าภาพอย่างแอฟริกาใต้ รวมทั้งบราซิล มีความเห็นเปิดกว้างยินดีกับข้อตกลงในอนาคต

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ เผยว่า เขายังไม่ได้เจรจากับเสี่ย และยังไม่ได้อ่านข้อความของจีน
"ปัญหาก็คือ พวกเขากำลังเตรียมจะตกลงอะไรกันในการเจรจารอบนี้" เจ้าหน้าที่มะกันถาม

จนกระทั่งขณะนี้จีนยังไม่ยอมให้กฎลดปล่อยก๊าซฯ มีผลผูกพันทางกฎหมายกับตน เนื่องจากบอกว่าเป็นประเทศกำลังพัฒนา เสี่ยชี้ว่าจีนมีประชากรที่มีรายได้ต่อวันไม่ถึง 1 ดอลลาร์มากถึง 122 ล้านคน ดังนั้นจีนยังคงต้องใช้ความพยายามในการพัฒนาประเทศต่อไป ดังนั้นจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะปล่อยก๊าซฯ

สิ่งสำคัญในการประชุมครั้งนี้คือ สหภาพยุโรปและอีกปลายประเทศลงนามยอมรับข้อผูกพันทางกฎหมาย ภายใต้พิธีสารเกียวโตแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น