เอเจนซี - เรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกของพญามังกร “วาร์ยัก” เริ่มล่องลาดตระเวนในทะเลเป็นครั้งที่ 2 (29 พ.ย.) ท่ามกลางกระแสตึงเครียดทางทะเลที่กำลังปะทุคุกรุ่นในภูมิภาค หลังจากจีนยกเครื่องเรือใหม่และทำการทดสอบไปรอบหนึ่งแล้ว
กระทรวงกลาโหมแดนมังกรแถลงผ่านเว็บไซต์ว่า เรือบรรทุกเครื่องบินวาร์ยักปฏิบัติการทดลองออกทะเลครั้งที่สองเมื่อวันอังคาร(29 พ.ย.) ที่นอกฝั่งท่าเรือต้าเหลียน มณฑลเหลียวหนิงทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน เพื่อทำการทดลองและวิจัยทางวิทยาศาสตร์
“เจ้าหน้าที่ได้ปรับความเหมาะสมของอุปกรณ์และระบบทุกอย่างของเรือบรรทุกเครื่องบินเรียบร้อยแล้ว หลังจากที่เรือฯวาร์ยักได้กลับเข้าท่าตามแผนเมื่อเสร็จสิ้นการออกทะเลครั้งแรกเมื่อเดือนส.ค.” เว็บไซต์กระทรวงกลาโหมแดนมังกร ระบุ
Antony Wong Dong ประธานสมาคมการทหารระหว่างประเทศ (International Military Association) ในมาเก๊า กล่าวเปรียบเทียบการออกทดสอบในทะเลของเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกของจีน ครั้งแรกกับครั้งนี้ว่า “บรรยากาศการออกทะเลครั้งสองนี้ สดใสกว่าครั้งแรก เรือวาร์ยักได้ออกจากท่าเรือต้าเหลียนราว 10.00 น. ของวันอังคาร มันเป็นการทดสอบอย่างเป็นทางการ ทีมเจ้าหน้าที่บนเรือมีความเชื่อมั่นมากกว่าครั้งแรก ผมเชื่อว่าการทดสอบครั้งนี้จะกินเวลานานกว่า โดยเรือจะแล่นไปไกลกว่า"
กลุ่มนักวิเคราะห์ชี้ว่าปกติจีนไม่ค่อยประกาศความเคลื่อนไหวทดสอบทางการทหาร การประกาศการทดสอบเรือบรรทุกเครื่องบินให้ชาวโลกรู้ทั่วกันเช่นนี้ แสดงถึงความเชื่อมั่นมากขึ้น และจีนต้องการโชว์ความสามารถทางทหารแก่โลก
เรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกของจีนนี้ เป็นเรือฯ ชั้น Kuznetsov ออกแบบโดยรัสเซีย มีความยาว 300 เมตร ต่อขึ้นในยุคสหภาพโซเวียต แต่สร้างไปได้ 60 เปอร์เซ็นต์ การก่อสร้างก็หยุดชะงัก เนื่องจากสหภาพโซเวียตล่มสลายเมื่อปี 2534 และเนื่องจากอู่ต่อเรือฯ ลำนี้อยู่ในยูเครน กรรมสิทธิ์เรือฯจึงตกเป็นของยูเครน ขณะนั้นเรือลำนี้มีแต่ตัวเรือ ต่อมากองทัพปลดแอกประชาชนจีนได้ซื้อมาในมูลค่า 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำมาดำเนินการซ่อมแซมปรับปรุงที่อู่ที่ต้าเหลียน มณฑลเหลียวหนิง เมื่อปี 2541
ปักกิ่งยอมรับว่านำเรือมาจากโซเวียตจริง และย้ำว่าไม่ได้นำมาเพื่อเป็นภัยคุกคามกับชาติใด แต่จะใช้ในการวิจัยและฝึกฝนเป็นหลักเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อเรือวาร์ยักปฏิบัติการทดสอบในทะเลครั้งแรกในเดือนส.ค. เป็นเวลา 5 วัน ส่งผลให้เกิดกระแสกังวลเกี่ยวกับการขยายอิทธิพลทางทะเลของจีน ภายในภูมิภาคไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ต่างจับตาตามความเคลื่อนไหวและดูจะต้องการคำอธิบายจากจีนว่า เหตุใดจึงใช้เรือบรรทุกเครื่องบิน
ในเดือนนี้ ประธานาธิบดีบารัก โอบามาของสหรัฐต้องการผลักดันบทบาทของสหรัฐฯเข้ามายังแปซิฟิกโดยให้กองกำลังทหารมาประจำการอยู่ที่ตอนเหนือของออสเตรเลีย และพยายามผลักดันข้อตกลงทางการค้ากับแปซิฟิกด้วย
จีนมองว่าการกระทำดังกล่าวของสหรัฐฯเป็นการล่วงล้ำพื้นที่อิทธิพล ซึ่งกำลังมีปัญหาอยู่ในทะเลจีนใต้ขณะนี้
จีนอ้างว่าพื้นที่ทั้งหมดที่กำลังเป็นข้อพิพาทเป็นของจีน รวมทั้งไต้หวัน ขณะที่อีก 4 ชาติอาเซียนก็อ้างว่าพื้นที่บางส่วนเป็นของตัว ซึ่งจีนมีปัญหากับเวียดนามและฟิลิปปินส์มากที่สุด
การประกาศออกเรือวาร์ยักครั้งที่สองนี้ เกิดขึ้นหลังจากจีนประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า จะปฏิบัติการฝึกซ้อมกองทัพเรือเป็นกิจวัตรในมหาสมุทรแปซิฟิกก่อนสิ้นเดือนพ.ย.นี้
กองทัพปลดแอกประชาชนจีน ซึ่งมีทหารพร้อมปฏิบัติการมากสุดในโลก ยังคงมีโครงการที่เป็นความลับทางกลาโหมอีกมาก ซึ่งเห็นได้จากงบประมาณกลาโหมที่มหาศาลที่ใช้ในแต่ละปี