ไชน่าเดลี - ไวรัสไข้หวัดนกหรือที่เรียกว่า H5N1 ดูเหมือนว่ายังไม่ล้มหายตายจากไปจากตลาดสัตว์ปีก โดยเฉพาะแถบตอนใต้ของแดนมังกร สร้างความลำบากให้กับภารกิจยับยั้งโรคระบาดของทีมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจีนอย่างมาก
กัว ฟู่เซิ่ง ที่ปรึกษาด้านเทคนิคสุขภาพสัตว์ประจำองค์การอาหารและเกษตรกรรมแห่งองค์การสหประชาชาติ (FAO) อ้างข้อมูลสถิติกระทรวงเกษตรของจีน ระบุว่า สถานการณ์แย่ลงไปอีกเมื่อพบเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ H5N1-2.3.2.1 ในสัตว์ปีกที่ยังไม่ตาย ซึ่งขณะนี้วัคซีนที่มีไม่สามารถยับยั้งเชื้อได้เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์
“ย่างเข้าฤดูใบไม้ร่วงและลมหนาวเริ่มพัดมา จีนต้องประสบกับภัยจากไข้หวัดนกระบาดในตลาดสัตว์ปีกอีก ซึ่งอาจส่งผลให้ประชาชนติดเชื้อได้” กัวเตือน
อี๋ว์ คังเจิ้น ประธานสัตวบาล แห่งกระทรวงเกษตรของจีน เผยก่อนหน้านี้ว่า เป็นการยากที่จะป้องกันไข้หวัดนกในช่วงใบไม้ร่วงและฤดูหนาว แต่โอกาสที่จะระบาดขนานใหญ่นั้นก็ถือว่ามีไม่มากนัก
ในช่วงปลายเดือน ส.ค. FAO ได้เตือนถึงการกลับมาของไข้หวัดนกที่อาจจะระบาดไปทั่วโลกอีกครั้ง นับแต่มีการตรวจพบครั้งแรกเมื่อปี 2546 ซึ่งมีผู้ติเชื้ออย่างต่ำ 560 รายทั่วโลก และในจำนวนนี้เสียชีวิต 331 คน
ซุน เหยียน เจ้าหน้าที่ของกรมสัตวบาลกระทรวงเกษตรจีนยอมรับว่า จีนมีความเสียงต่อไข้หวัดนกสูง เพราะจีนผลิตไก่ 25 เปอร์เซ็นต์ ห่าน 87 เปอร์เซ็นต์ และเป็ด 65 เปอร์เซ็นต์ของสัดส่วนทั้งโลก
ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรเผยว่า สำหรับกรณีไข้หวัดนกที่เกิดขึ้นในจีนนั้นมีถึง 50 กรณีนับแต่ปี 2547 ซึ่งในจำนวนดังกล่าวพบในปี 2548 ถึง 31 กรณี
ขณะที่สถิติของกระทรวงสาธารณสุขเผยว่า หวัดนกติดเชื้อในมนุษย์ 40 ราย และเสียชีวิตไปแล้ว 26 ราย
ซู เย่ว์หลง ผู้อำนวยการศูนย์ไข้หวัดแห่งชาติของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคจีนเผย ผู้ป่วยคนสุดท้ายเสียชีวิตไปเมื่อเดือนมิ.ย. ที่มณฑลหูเป่ย ซึ่งผลการตรวจสอบพบว่า เขาติดเชื้อ H5N1-2.3.2.1 ซึ่งเป็นเชื้อกลายพันธุ์
องค์การอนามัยโลกเผยว่า การติดเชื้อไปทั่วโลกนั้น ความเสี่ยงต่อมนุษย์ก็คือการติดเชื้อทางตรงและทางอ้อม โดยอาจติดได้จากการสัมผัสกับสัตว์ปีกที่ติดเชื้อโดยตรง หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีการปนเปื้อนเชื้อหวัด
กัวย้ำว่า “สัตว์ปีกนั้นกินได้ ปลอดภัย” พร้อมเสริมว่า เชื้อโรคจะถูกฆ่าไปอย่างง่ายดายในช่วงที่ปรุงอาหาร
วัคซีนป้องกัน H5N1-2.3.2.1 พัฒนาขึ้นโดยกระทรวงเกษตรของจีน ขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงการทดลองใช้
แต่ผลการฉีดวัคซีนในสัตว์ปีกที่ว่ายน้ำได้เช่นเป็ดนั้นอยู่ในระดับต่ำไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้เนื่องจากผู้ประกอบการเห็นว่า หลังจากฉีดวัคซีนแล้ว สัตว์จะออกไข่น้อยลง