xs
xsm
sm
md
lg

เผยพบสัตว์ปีกติดหวัดนกอินโดฯ รอดสูงขึ้น เร่งวิจัยโรคใหม่-อุบัติซ้ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เนต
แพทย์-นักวิชาการ เร่งสัมมนาความรู้โรคอุบัติใหม่-อุบัติซ้ำ เผย พบสัตว์ปีกประเทศอินโดฯ มีเชื้อหวัดนก มีชีวิตรอดสูงขึ้น  ขณะเชื้อในหมูไม่แสดงอาการ ชี้ เสี่ยงมีการกลายพันธุ์ได้  เตือนไทยต้องเร่งเฝ้าระวัง พร้อมเตือนรับมือภัยจากโรคอุบัติซ้ำ  หัด  คางทูม ไอกรน หลังพบผู้ป่วยในวัยผู้ใหญ่ ระบุวัคซีนช่วยได้แต่อาจต้องให้ซ้ำเพื่อเพิ่มภูมิคุมกัน

            วันนี้ (6 ก.ค.)   ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี กล่าวในการเป็นประธานเปิดการสัมมนาระบาดวิทยาแห่งชาติ ครั้งที่ 21 เรื่อง ระบาดวิทยากับความท้าทายจากภัยสุขภาพโลกที่อุบัติใหม่ ที่จัดขึ้นโดยกรมควบคุมโรค  (คร.) ว่า  ปัจจุบัน ประชากรโลกเพิ่มขึ้น ดังนั้น ทรัพยากรก็จะถูกจำกัดและน้อยลง เกิดวิกฤตอาหาร ซึ่งส่งผลกระทบทำเสี่ยงต่อการเกิดโรคใหม่ๆ เพราะฉะนั้นไทยจึงควรมีการเตรียมรับมือ เช่น การจัดตั้งสำนักงานติดตามโรคจากทั่วโลก และควรมีหลักสูตรอบรมเพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานมีความรู้เพิ่มเติมขึ้นด้วย  

            รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ช่วงครึ่งปีแรกของปี 2554 ทั่วโลก พบผู้ป่วยไข้หวัดนก H5N1 ในจำนวนที่ใกล้เคียงกับจำนวนผู้ป่วยตลอดปี 2553  โดยพบว่า ในสุกรที่ติดเชื้อดังกล่าวนั้น ไม่มีการแสดงอาการของโรค   สะท้อนว่า ไวรัสดังกล่าวนั้นมีการปรับตัวเชื้อให้สามารถอยู่ได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่นเดียวกับในสัตว์ปีก  โดยราว 2 ปีที่ผ่านมา มีรายงานของประเทศอินโดนีเซีย ว่า สัตว์ปีกที่ติดเชื้อไวรัส H5N1  รอดชีวิตถึงร้อยละ 70 จากเดิมที่ตายทั้งหมด จึงน่าเชื่อได้ว่า มีอาจมีการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างของเชื้อแข็งแรงและยาวนานมากขึ้น  หรืออาจกล่าวได้ว่าเชื้อไวรัส ไข้หวัดนก เริ่มมีการกลายพันธุ์บ้างแล้วในแต่ละพื้นที่ ซึ่งเท่ากับเชื้อไวรัสจะสามารถแพร่เชื้อได้มากขึ้น อาจทำให้มีการระบาดของโรคไข้หวัดนกเหมือนการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ซึ่งเดิม ที่โรคไข้หวัดนกจะเป็นโรคของคนในชนบท ส่วนโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 เป็นโรคของคนเมือง หากไข้หวัดนกปรับตัวกลายเป็นโรคของคนเมืองเมื่อใด ก็เป็นสัญญาณไม่ดีแน่นอน   ประเทศไทยมีการเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างอย่างต่อเนื่อง

                   รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวต่อว่า สำหรับโรคอุบัติซ้ำ เช่น โรคหัด คางทูม วัณโรค ไอกรน อหิวาตกโรค และ โรคฉี่หนู เป็นต้น ซึ่งบางโรคเป็นโรคของเด็ก แต่หากเกิดขึ้นในผู้ใหญ่อาจถึงขั้นเสียชีวิต เช่น โรคหัด หรือ อีสุกอีใส อาการในผู้ใหญ่จะมีความรุนแรงกว่าในเด็กถึง  10 เท่า ขณะที่โรคไอกรน ปัจจุบันพบว่า เป็นโรคที่พบในผุ้ใหญ่ด้วย อย่างน้อยพบ 1 คนจาก 50  คนของผู้ใหญ่ที่ไอ เรื้อรังเกิน 2 สัปดาห์  

                 “จากการประเมินสถานการณ์นั้น เราจะใช้การศึกษาอุบัติการณ์ในต่างประเทศ  อย่างอเมริกาเป็นหลัก โดยประเทศไทยจะตามหลังอเมริกา ราว 15 ปี  และขณะนี้พบว่า ในรัฐแคลิฟอร์เนียของอเมริกา มีจำนวนผู้ป่วยไอกรนเพิ่มขึ้น จากอดีตมีในหลักร้อย ตอนนี้เพิ่มเป็นหลักพัน  โดยสาเหตุส่วนหนึ่งพบว่าผู้ป่วยได้รับวัคซีนป้องกันแต่ภูมิคุ้มกันตกลง เนื่องจากไม่ได้มีการกระตุ้นซ้ำ  ดังนั้น การฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ ก็ยังจำเป็นแต่ในอนาคตอาจจะต้องมีการกระตุ้นซ้ำ เพื่อป้องกันในระยะยาว เช่น อาจรายใดเคยฉีดตอน 4 หรือ 6  ขวบ ก็อาจจะฉีดในช่วงอายุ 12 ปี อีกครั้ง”   รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น