“หมอสำลี” แนะไทยควรปรับโครงสร้างสาธารณสุข เน้นสอนให้ประชาชนป้องกันสุขภาพด้วยตนเอง ชี้ ภาวะโลกร้อนไทยยังต้องเฝ้าระวังโรคหวัด หลังแค่ครึ่งปี 54 พบหวัดนก ระบาดกว่า 30 ราย ทั่วโลก ขณะตลอดปี 53 พบแค่ 40 รายทั่วโลก แนะไทยไม่ควรประมาท เพราะ เขมร-เวียดนาม-บังกลาเทศ ยังพบระบาดเยอะ
วันนี้ (28 เม.ย.) นพ.สำลี เปลี่ยนบางช้าง ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (WHO - SEARO) กล่าวในงานประชุมวิชาการสารณสุขแห่งชาติ ครั้งที่ 13 ปาฐกถาพิเศษ “วิกฤตโลก : ความท้าทายในงานสาธารในงานสาธารณสุข (Global Crisis : Public Health Challenge)” ที่จัดโดย มหาวิทยาลัยมหิดล ว่า สำหรับปัญหาด้านสาธารณสุขที่ยังต้องเฝ้าระวังของประเทศไทย ยังคงเป็นเรื่องของโรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำ คือ โรคหวัด และโรคเรื้อรังในผู้สูงอายุ เช่น เบาหวาน ความดัน โดยสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากโลกร้อนและสภาพแวดล้อมที่แย่ลงกว่าเดิม โดยอย่าง แรกที่ประเทศไทยต้องปรับปรุง คือ เรื่องของโครงสร้างด้านสาธารณสุข ที่ต้องเน้นเรื่องการป้องกันและสร้างเสริมสุขภาพ มากกว่าการรักษา และเน้นให้เกิดการส่งเสริมการศึกษาด้านสาธารณสุข (สธ.) ให้แก่ประชาชนด้วย เพื่อให้เกิดการเข้าใจในการป้องกันสุขภาพให้ปลอดโรคมากขึ้น
ด้าน รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินิ กล่าวว่า สถานการณ์เรื่องโรคอุบัติใหม่ และโรคอุบัติซ้ำที่น่าห่วง คือ เรื่องไข้หวัดนกที่เกิดจากเชื้อ H5N1 ซึ่งปีที่แล้ว ปี 2553 พบการระบาดโดยรวมทั้งปีสถิติทั่วโลกพบมีจำนวนกว่า 40 ราย ขณะที่ปี 2554 มี 30 รายทั่วโลก โดยอัตราการตายอยู่ที่ 60-70% ซึ่ง ถือว่ามีอัตราการระบาดไม่มากแต่ก็มีแนวโน้มสูงขึ้น เพราะไม่อาจทราบได้ว่าในอีก 5-6 เดือนจะเป็นอย่างไร เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านนั้นยังคงมีการระบาดต่อเนื่องทั้งในกัมพูชา เวียดนาม และ บังกลาเทศ ประเทศไทยจึงยังคงจำเป็นต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดทั้งการระบาดในคนและในสัตว์
“ขณะนี้ยังไม่พบว่า เชื้อมีการกลายพันธุ์ แต่ก็ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าจะไม่เกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้นทุกอย่างต้องมีการรับมือ และควบคุมการระบาดให้ได้ โดยเฉพาะในสัตว์ปีก คือ ต้องหมั่นเช็คความผิดปกติในสัตว์ปีกต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการระบาดสู่คน” รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าว
รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์การระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่เกิดจากเชื้อไวรัส H1N1 นั้น เนื่องจากขณะนี้มีวัคซีนป้องกันได้ แต่ก็ป้องกันได้ราว 40-50% เท่านั้น แม้จะยังไม่พบการระบาดในระลอกใหม่แต่ก็ยังต้องเฝ้าระวังเช่นกัน
ขณะที่ ศ.นพ.ยงค์ ภู่วรวรรณ หัวหน้าหน่วยวิจัยอณูชีววิทยาทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ของเชื้อดื้อยาโอเซลทามิเวียร์ของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ 2009 นั้น จากการศึกษาภาวะดื้อยาในจำนวนราว 1,200 สายพันธุ์ พบว่า อัตราดารดื้อยาเพิ่มสูงขึ้น โดยการระบาดระลอกในประเทศไทยเมื่อเดือน พ.ค.-ส.ค.2552 ไม่พบการดื้อยา การระบาดระลอก 2 ช่วงปลายปี 2552 ถึงต้นปี 2553 พบการดื้อยา 0.2% และการระบาดระลอก 3 ช่วงเดือน มิ.ย.- สิ้นปี 2553 พบดื้อยา 0.8% ซึ่งการดื้อยามีแนวโน้มสูงขึ้น แต่ในอัตราน้อยมากและไม่ได้อยู่ในภาวะต้องตกใจหรือกังวล ยาโอเซลทามิเวียร์ยังใช้ในการรักษาได้
“การแก้ปัญหาของเรื่องนี้ เนื่องจากปัจจุบันพบว่า เชื้อไข้หวัด 2009 ขณะนี้มีความรุนแรงคล้ายกับไข้หวัดตามฤดูกาลตัวอื่น ดัง นั้นประชาชนไม่ควรจะตื่นตระหนกกับการรับยามากนัก โดยแพทย์เองควรเน้นที่ การใช้ยาในภาวะจำเป็นจำเป็นและให้เฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ที่ป่วยโรคเรื้อรัง และอาจมีอาการของโรครุนแรงเท่านั้น ไม่ควรจ่ายแจกไปทั่ว” ศ.นพ.ยงค์ กล่าว