xs
xsm
sm
md
lg

สธ.แนะ ปชช.ใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสมแก้เชื้อดื้อยา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
“จุรินทร์” เผย สาเหตุหลักเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ มาจากการใช้ยาโดยไม่จำเป็น เลือกใช้ยาไม่เหมาะกับเชื้อ ปัญหาการควบคุมเชื้อในโรงพยาบาล และประชาชนไม่มีความรู้ รวมพลังภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องหาร่วมแก้ปัญหา เนื่องในวันอนามัยโลก ปี 54

วันนี้ (25 เม.ย.) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และดร.มัวรีน เบอร์มิงแฮม ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ร่วมกันเปิดงานวันอนามัยโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 7 เมษายนของทุกปี โดยในปีนี้ องค์การอนามัยโลกได้กำหนดประเด็นปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ เพื่อให้ประเทศสมาชิกใช้เป็นแนวทางรณรงค์ให้ความรู้แก่กลุ่มผู้ให้บริการสาธารณสุขทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมและจำหน่ายยา และประชาชนทั่วไป ในเรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้องและเหมาะสม โดยกำหนดคำขวัญว่า “ใช้ยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้อง ป้องกันเชื้อดื้อยา เพื่อการรักษาที่ได้ผล” (Combat drug resistance - No action today, no cure tomorrow)

งานรณรงค์วันอนามัยโลกครั้งนี้ จัดโดยองค์การอนามัยโลก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมประชาสัมพันธ์ แพทยสภา สภาเภสัชกรรม และสมาคมเภสัชกรรมชุมชน ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข กิจกรรมประกอบด้วย การมอบรางวัลแก่ผู้ชนะการประกวดเรียงความตามคำขวัญวันอนามัยโลก นิทรรศการเผยแพร่ความรู้และสร้างความตระหนักในการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้องเหมาะสม และการประชุมเสวนาภาคีเครือข่าย เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นายจุรินทร์ กล่าวว่า สธ. มีนโยบายมุ่งเน้นการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพ การควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะปัญหาเชื้อดื้อยา ซึ่งมีสาเหตุสำคัญจากการใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น การเลือกใช้ยาที่ไม่เหมาะสมกับเชื้อแบคทีเรีย การควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาลไม่ดีพอ และการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ที่ไม่เหมาะสม รวมทั้งการที่ประชาชนไม่มีความรู้เกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะที่ถูกต้อง ทำให้รับประทานยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น เปลี่ยนยาบ่อย หรือกินไม่ครบขนาดตามที่แพทย์สั่ง ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้แล้ว ยังทำให้สังคมรอบข้างเสี่ยงต่อการติดเชื้อดื้อยา

นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า การแก้ไขปัญหาเชื้อดื้อยาที่ดีที่สุด ก็คือ การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผล ดังนั้น ประชาชน หรือผู้ที่ได้รับยาจะต้องได้รับความรู้ในเรื่องการใช้ยา และกินยาให้ครบตามคำสั่งของแพทย์ ผู้จ่ายยาต้องจ่ายยาที่ถูกต้องมีความเหมาะสม ขณะเดียวกัน ปศุสัตว์ต้องให้ความรู้ในการใช้ยาที่ถูกต้องในสัตว์ รวมทั้งโรงพยาบาลต้องมีการควบคุมโรคให้เป็นไปตามมาตรฐานการติดเชื้อดื้อยาในโรงพยาบาล ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือ และการประสานงานจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง กับการรักษา การควบคุมและการจำหน่ายยา ทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น แพทย์ผู้รักษาและสั่งยา เภสัชกร ร้านขายยา ผู้ผลิตและนำเข้ายา และประชาชน โดยเริ่มตั้งแต่สถาบันการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงเรียนแพทย์และเภสัช ให้ผลิตบุคลากรที่มีแนวคิดการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล และเน้นย้ำเรื่องการไม่ใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น รวมถึงการเพิ่มเนื้อหาวิชาการให้นักเรียนและประชาชนให้มีความรู้ในเรื่องดังกล่าวอย่างถูกต้อง

ด้าน นายแพทย์ ไพจิตร์ กล่าวว่า จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา พบว่า ตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา ไทยมีการผลิตและนำเข้ากลุ่มยาฆ่าเชื้อ ได้แก่ ยาปฏิชีวนะหรือยาต้านแบคทีเรีย ยาต้านไวรัส ยาต้านเชื้อรา และยาฆ่าเชื้ออื่นๆ สูงเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ ในปี 2550 มีมูลค่ารวมประมาณ 2 หมื่นล้านบาท หรือเกือบร้อยละ 20 ของมูลค่ายาทั้งหมด และจากการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์การดื้อยาของเชื้อแบคทีเรีย มานานกว่า 10 ปีของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่า เชื้อแบคทีเรียที่มีการดื้อยาสูงขึ้น ได้แก่

1.เชื้อสเตรปโตค็อกคัส นิวโมเนียอี (Streptococcus pneumoniae) ที่ทำให้เกิดโรคปอดบวม และเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ดื้อยาเพนนิซิลินเพิ่มจากร้อยละ 47 ในปี 2541 เป็นร้อยละ 64 ในปี 2553 และดื้อยาอิริโธมัยซินจากร้อยละ 27 เป็นร้อยละ 54 และขณะนี้เริ่มพบการดื้อยาตัวใหม่ที่พัฒนาขึ้นมาทดแทนแล้ว

2.เชื้ออี โคไล (Escherichia coli) ที่ทำให้เกิดโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ และการติดเชื้อในช่องท้อง ดื้อยาปฏิชีวนะกลุ่มที่ออกฤทธิ์กว้าง คือสามารถฆ่าเชื้อได้หลายชนิด เพิ่มจากร้อยละ 19 ในปี 2542 เป็นร้อยละ 52 ในปี 2548 และดื้อต่อยาในกลุ่มฟลูโอโรควิโนโลน (fluoroquinolone) ถึงร้อยละ 60 ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะที่หาซื้อได้ง่าย มีผลข้างเคียงไม่มาก จึงทำให้มีการใช้เกินความจำเป็นอย่างมาก ทั้งในคนและในสัตว์เลี้ยงในฟาร์ม

3.เชื้ออะซีนีโตแบคเตอร์ บอแมนนิอาย (Acinetobacter baumannii) เป็นเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคในโรงพยาบาล พบมีการระบาดของเชื้อชนิดนี้ดื้อยากลุ่มคาบาพีเนม ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์ต้านเชื้อได้มากชนิดที่สุด เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.1 ในปี 2543 เป็นร้อยละ 63 ในปี 2553 และดื้อยาเซฟโฟเพอราโซน/ซาลแบคแทม ซึ่งเป็นยาด่านสุดท้ายที่ใช้ในการรักษาเชื้อนี้จากร้อยละ 3 เพิ่มเป็นร้อยละ 44 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และ4.เชื้อสูโดโมแนส แอรูจิโนซา (Pseudomonas aeruginosa) ซึ่งเป็นเชื้อฉวยโอกาสทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ ทางเดินปัสสาวะ และระบบไหลเวียนโลหิต พบการดื้อยาร้อยละ 20-40

ขณะที่ ผศ.นพ.กำธร มาลาธรรม หัวหน้าหน่วยโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์การดื้อยานั้นพบได้ทั้งในพื้นที่ชุมชนทั่วไปและในโรงพยาบาล โดยส่วนมากเป็นพื้นที่ของชุมชนเมือง โดยผู้ป่วยมีการติดเชื้อดื้อยาเนื่องจากพฤติกรรมการใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่เหมาะสม และบางรายใช้ยาไม่ตรงตามคำสั่งแพทย์ ทั้งนี้ พบว่า ผู้ป่วยที่มีการเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือ ผู้ป่วยในทั่วไปมีอัตราการดื้อยาราว 10% ขณะที่ผู้ป่วยซึ่งนอนพักในห้องไอซียู มีอัตราการดื้อยาราว 50-70% สถานการณ์ดังกล่าวถือว่าน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะบางรายนอกจากจะดื้อยาจากที่บ้านแล้วยังพบว่า ยังเกิดอาการดื้อยา เนื่องจากการรักษาตัวในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นด้วย เช่น ผู้ป่วยที่ต้องผ่าตัดนั้น แพทย์จำเป็นต้องให้ยาฆ่าเชื้อ ซึ่งบางครั้งผู้ป่วยก็ไม่ได้แจ้งให้แพทย์ทราบว่าใช้ยาปฏิชีวนะมาก่อน เมื่อแพทย์ไม่ทราบก็ให้ไปโดยไม่รู้ กรณีนี้จะส่งผลให้เชื้อดื้อยาแรงขึ้นมากกว่าเดิม ดังนั้น นอกจากรณรงค์การใช้ยาของผู้ป่วยแล้ว ยังต้องเร่งทำความเข้าใจในนักเรียนแพทย์ด้วย

“ สำหรับแนวทางในการป้องการการดื้อยาที่ผู้ป่วยสามารถปฏิบัติได้เอง คือ 1 ทานยาตรงตามขนาดและตรงกับเวลา ที่แพทย์สั่ง เช่น แพทย์ระบุว่าต้องทานให้ครบ 3 เม็ด ก็ต้องทานครบตามนั้นจะทานแค่ 1-2 เม็ดไม่ได้” ผศ.นพ.กำธร กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น