เอเจนซี/เอเอฟพี - สหประชาชาติแถลงเตือนในวันจันทร์ (29) ว่า “ไข้หวัดนก” แสดงสัญญาณที่จะกลับมาระบาดอีกครั้ง ขณะเดียวกันก็มีสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสH5N1นี้ กำลังแพร่ระบาดอยู่ในเอเชีย โดยทำท่าจะกระจายไปยังหลายๆ ประเทศ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือประเทศไทย
คำแถลงขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ระบุว่า ตั้งแต่ที่เชื้อไวรัสไข้หวัดนก H5N1 ปรากฏขึ้นครั้งแรกในปี 2003 นั้น ได้มีมนุษย์ป่วยติดเชื้อรวม 565 ราย และเสียชีวิตไป 331 คน พร้อมกันนี้เอฟเอโอก็เรียกร้องให้ประเทศทั้งหลายเพิ่มการติดตามเฝ้าระวัง และเตรียมพร้อมรับมือกับการแพร่ระบาดที่อาจจะเกิดขึ้นอีกครั้งของเชื้อร้ายนี้
เอฟเอโอบอกว่า ไวรัสตัวนี้ในช่วงระบาดสูงสุดเมื่อปี 2006 นั้นปรากฏอยู่ใน 63 ประเทศ แต่หลังจากนั้นก็ถูกกำจัดหมดสิ้นไปในประเทศส่วนใหญ่ ด้วยวิธีการฆ่าสัตว์ปีกที่ติดเชื้อทิ้งอย่างถอนรากถอนโคน อย่างไรก็ดี ปรากฏว่าตั้งแต่ปี 2008 เชื้อH5N1ก็กลับมาขยายตัวไปตามพื้นที่ภูมิศาสตร์ต่างๆ ทั้งในสัตว์ปีกที่มนุษย์เลี้ยง และในนกป่า สาเหตุของการขยายตัวนี้ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของแบบแผนการอพยพตามฤดูกาลของนก
ฆวน ลูบรอธ ประธานเจ้าหน้าที่ด้านสัตวแพทย์ของเอฟเอโอ กล่าวว่า ในช่วงระหว่างปี 2004 ถึง 2008 เราจะเห็นแนวโน้มการหดตัวลงเรื่อยๆ ของเชื้อร้ายนี้ แต่ปรากฏว่าในปัจจุบันไม่ได้เป็นเช่นนี้อีกแล้ว ดังนั้นเขาจึงคาดว่าเป็นไปได้ที่ H5N1จะกลับปะทุขึ้นมาใหม่ในฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาวของปีนี้
ลูบรอธบอกด้วยว่า เอฟเอโอมีความกังวลที่พบสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสH5N1ในจีนและเวียดนาม เนื่องจากสายพันธุ์ใหม่ดังกล่าวซึ่งรู้จักกันในชื่อ H5N1-2.3.2.1 ทำท่าจะสามารถหลบหลีกผ่านแนวป้องกันของวัคซีนชนิดต่างๆ ที่มีใช้สู้กับ H5N1 อยู่ในปัจจุบัน
การกระจายตัวของไวรัสกลายพันธุ์นี้ในเวียดนาม ยังเท่ากับเป็นภัยคุกคามโดยตรงต่อกัมพูชา, ไทย และมาเลเซีย ตลอดจนยังเป็นอันตรายต่อคาบสมุทรเกาหลีและญี่ปุ่นด้วย เอฟเอโอระบุ
ทั้งนี้ เอฟเอโอกล่าวต่อไปว่า มนุษย์รายล่าสุดที่เสียชีวิตจากเชื้อไวรัสไข้หวัดนก เกิดขึ้นเมื่อต้นเดือนนี้เองในกัมพูชา โดยที่เฉพาะภายในปีนี้ ในกัมพูชาได้มีกรณีผู้ติดเชื้อร้ายนี้เท่าที่มีบันทึกเอาไว้รวมทั้งสิ้น 8 ราย ทุกรายเสียชีวิตหมด
สำหรับประเทศที่อาจเผชิญปัญหาใหญ่ที่สุดจากเชื้อร้ายนี้นั้น เอฟเอโอระบุว่า ได้แก่ บังกลาเทศ, จีน, อียิปต์, อินโดนีเซีย และเวียดนาม เนื่องจากในประเทศเหล่านี้เชื้อไวรัสตัวนี้ยังคงกำลังแฝงฝังอยู่อย่างมั่นคง
ส่วนดินแดนอื่นๆ ที่เพิ่งถูกกระทบกระเทือนจากไวรัสร้ายนี้ เอฟเอโอกล่าวว่า ได้แก่ อิสราเอล, ดินแดนปาเลสไตน์, บัลแกเรีย, โรมาเนีย, เนปาล, และมองโกเลีย
“นกป่าอาจจะเป็นผู้ที่นำไวรัสมา ทว่าการกระทำของคนที่อยู่ในการผลิตและการทำตาลาดผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกต่างหาก คือสิ่งที่แพร่กระจายไวรัสนี้” ลูบรอธบอก
“การเตรียมตัวให้พร้อมและการติดตามเฝ้าระวัง ยังคงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ... ไม่ว่าใครก็ไม่สามารถปล่อยให้การ์ดตกได้ในการรับมือกับ H5N1” เขาระบุ