เอเอฟพี - วิกฤตหนี้สาธารณะในกลุ่มชาติผู้ใช้เงินสกุลยูโร หรือยูโรโซนกระทบยอดส่งออกสินค้าจากแดนมังกรอย่างหนัก และอาจผลักดันให้ชาติเศรษฐกิจขนาดใหญ่หลายชาติต้องกลับเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกครั้ง
อู๋ เวินหลง เจ้าของโรงงานผู้ผลิตเข็มขัดในมณฑลเจ้อเจียง ระบุว่า คำสั่งซื้อจากยุโรปเข้ามายังโรงงานของเขาดิ่งลงถึงร้อยละ 50 และช่องทางของตลาดเข็มขัดในอนาคตยังซบเซา แต่เขายังไม่มีการลอยแพคนงานในขณะนี้
ภาคการผลิตในจีน ซึ่งขับเคลื่อนด้วยการส่งออก อยู่ในภาวะหดตัวมานานหลายเดือนแล้ว เนื่องจากความต้องการนำเข้ารองเท้าและสินค้ากระจุกกระจิกของจีนในต่างประเทศลดน้อยลง นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า สถานการณ์จะเลวร้ายยิ่งกว่านี้ หากวิกฤตหนี้สาธารณะในยูโรโซนทรุดหนัก
นักวิเคราะห์ระบุว่า สหภาพยุโรป หรืออียูเป็นผู้นำเข้าสินค้าจากจีนรายใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีมูลค่าสูงถึงราว 380,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2553 ความต้องการของผู้ซื้อ ที่หดลงอาจทำให้โรงงานบนแดนมังกร ซึ่งจ้างคนงานหลายล้านคน ต้องปลดคนงานครั้งใหญ่
นายเอสวาร์ ปราสาท ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยคอร์เนลในนิวยอร์ก และอดีตหัวหน้าแผนกจีนของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟชี้ว่า วิกฤตหนี้สินในยูโรโซน ที่ขยายลุกลาม จะนำความโชคร้ายมาสู่จีนถึง 3 ประการ โดยจะส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ และเงินหยวนแข็งค่าขึ้น อีกทั้งกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในยุโรป ซึ่งยังคงเป็นตลาดส่งออกรายใหญ่ที่สุดของจีน
ขณะเดียวกัน ยังก่อผลกระทบในทางอ้อมต่อความเชื่อมั่นและต่อตลาดการเงินของชาติเศรษฐกิจ ที่ก้าวหน้ารายอื่น ๆ ซึ่งพลอยทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าจากจีนลดน้อยลงไปด้วย
ทั้งนี้ แม้บรรดาผู้นำจีนต่างออกมาแสดงความเชื่อมั่นอยู่หลายครั้งต่อเศรษฐกิจของยูโรโซนในยามเผชิญวิกฤตหนี้สินสาธารณะ และจีน ซึ่งมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศมากที่สุดในโลก ได้เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ ซึ่งอยู่ในรูปเงินสกุลยูโรมากขึ้น เพื่อป้องกันความเสี่ยง
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลปักกิ่งก็ระบุว่า จีนจะไม่กระตุ้นอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ เพื่อช่วยกอบกู้เศรษฐกิจโลกครั้งล่าสุด
นายโจว เสี่ยวฉวน ผู้ว่าการธนาคารกลางจีนกล่าวในการประชุมประจำปีของไอเอ็มเอฟ และธนาคารโลกที่กรุงวอชิงตันเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า เงินเฟ้อยังคงเป็นสิ่งที่ผู้กำหนดนโยบายของจีนวิตกกังวลมากที่สุด
เขายังระบุด้วยว่า ชาติเศรษฐกิจเกิดใหม่ เช่นจีน ซึ่งมีส่วนอย่างมากในการช่วยให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวจากวิกฤตการณ์เมื่อปี 2551 ในเวลานี้กำลังเผชิญกระแสลมแรงจัดจาก “สภาพคล่องที่ล้นเกินในโลก การทะลักเข้ามาเก็งกำไรของเม็ดเงินต่างชาติ ความต้องการซื้อที่ลดลงจากภายนอก และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ที่ผันผวน”
นายมาร์ก วิลเลียมส์ นักเศรษฐศาสตร์ด้านจีนของบริษัทวิจัยแคปปิตอล อีโคโนมิกส์ ในกรุงลอนดอนระบุว่า ขณะนี้ รัฐบาลจีนดูเหมือนไม่มีความกระหาย ที่จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวนมหาศาลครั้งใหม่ หลังจากได้ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวน 586,000 ล้านดอลลาร์ และสั่งให้ธนาคารของรัฐปล่อยสินเชื่ออย่างมโหฬาร เพื่อกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจเมื่อปลายปี 2551 ไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม ด้านนายปราสาทเห็นว่า ผู้กำหนดนโยบายของจีนจะไม่รีรอให้การช่วยเหลือ เพื่อกอบกู้วิกฤตหนี้สินของยูโรโซนอย่างแข็งขัน หากวิกฤตนั้นจะเป็นอันตรายต่อการจ้างงานในจีน ซึ่งบรรดาผู้นำวิตกกังวลแนวโน้ม ที่อาจเกิดความวุ่นวายในสังคมตามมาในประเทศ ที่มีประชากรมากกว่า1,300 ล้านคน
“การขยายตัวของการจ้างงานน่าจะเป็นเรื่องที่ต้องมาก่อน” นายปราสาทระบุ โดยคาดการณ์ว่า การแก้ไขปัญหาการว่างงานน่าจะเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรกของรัฐบาลจีน ก่อนเรื่องการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ