เอเอฟพี - ไต้หวันและจีนได้ตกลงที่จะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดด้านความปลอดภัยพลังงานนิวเคลียร์ และการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติ หลังจากเห็นตัวอย่างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ญี่ปุ่นได้รับผลกระทบจากสึนามิ แล้วก่อปัญหาในปีนี้
สถาบันการแลกเปลี่ยนระหว่างช่องแคบไต้หวัน ซึ่งเป็นองค์กรกึ่งทางการของไต้หวัน เผยว่า “ทั้งสองฝ่าย (จีน-ไต้หวัน) จะได้ลงนามในข้อตกลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในการเจรจารอบต่อไป ระหว่างตัวแทนของผู้นำระดับสูง ในวันที่ 20 ต.ค.นี้ ที่มหานครเทียนจิน”
ภายใต้การเจรจาข้อตกลงดังกล่าว สภาพลังงานปรมาณูแห่งไต้หวันและหน่วยงานของจีนที่รับผิดชอบเรื่องนี้จะพร้อมใจกันและกระตือรือร้นแก้ปัญหาหากเกิดภัยพิบัติทำให้มีการรั่วไหลของนิวเคลียร์ และจะร่วมกันจำกัดความสูญเสียให้น้อยที่สุด สถาบันการแลกเปลี่ยนฯ ไต้หวันเผย
การเจาจาข้อตกลงนี้ถือว่าจำเป็น เพราะว่าโรงพลังงานนิวเคลียร์ของจีนแผ่นดินใหญ่ตั้งอยู่ทางแถบชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งห่างจากไต้หวันเพียง 100-200 กม. เท่านั้น
ก่อนหน้านี้ จีนเคยประกาศแผนว่าจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใหม่อีกกว่า 20 แห่ง
อย่างไรก็ตาม สถาบันการแลกเปลี่ยนระหว่างช่องแคบไต้หวัน เผยว่า พวกเขาจะยังคงเจรจากับปักกิ่งในเรื่องข้อตกลงการป้องกันการลงทุนด้วย ซึ่งสองฝ่ายหวังว่าจะบรรลุในปีที่แล้วแต่ก็ล้มเหลวไป ครั้งนี้จะรื้อขึ้นมาเจรจาใหม่อีกครั้ง
ไต้หวันเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในจีนในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เฉพาะด้านธุรกรรมการเงินก็มีมูลค่ากว่า 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แล้ว
ไต้หวันและจีนแบ่งแยกการปกครองกันมาตั้งแต่สิ้นสุดสงครามกลางเมืองเมื่อปี 2492 เมื่อเจียงไคเช็กพ่ายให้กับพรรคคอมมิวนิสต์ จนต้องถอยลงมาไต้หวัน ใช้ชื่อสาธารณรัฐจีนตราบเท่าปัจจุบัน แต่จีนยังคงมองว่าไต้หวันเป็นมณฑลหนึ่งของตนที่รอการหวนคืน หากจำเป็นอาจใช้กำลังทหารเป็นทางเลือกในการรวมชาติ
อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์ของสองฝ่ายค่อยขยับตัวดีขึ้นเมื่อหม่า อิงจิ่วแห่งพรรคก๊กมินตั๋ง ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2552 จีนและไต้หวันค่อยมีการเจรจาและลงนามข้อตกลงด้านเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ และการท่องเที่ยวฯ
เหตุการณ์แผ่นดินไหว 9 ริกเตอร์ เมื่อ 11 มี.ค. สร้างคลื่นสึนามิลูกใหญ่ซัดเข้าญี่ปุ่น ทำให้ระบบหล่อเย็นของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถูกทำลาย ทำให้เกิดรังสีรั่วไหลออกมา ส่งผลให้ต้องอพยพผู้คนนับหมื่น