เอเอฟพี - อุบัติเหตุเครื่องบินเจ็ทยุคสงครามเวียดนาม 2 ลำตกที่ไต้หวัน ส่งผลให้มีนักบินเสียชีวิต 3 คน จุดชนวนการเรียกร้องสหรัฐฯให้อนุมัติขายเครื่องบินรบรุ่นใหม่แก่ไต้หวัน เพื่อไม่ให้นักบินเสี่ยงชีวิตจากการใช้เครื่องบินรบรุ่นเก่า
หลังจากเกิดเหตุเครื่องบินตก 2 ลำ ส่งผลให้นักบินเสียชีวิต 3 คน สมาชิกสภานิติบัญญัติและเจ้าหน้าที่รัฐไต้หวันได้เรียกร้องให้สหรัฐฯขายเครื่องบินขับไล่เอฟ 16 รุ่นใหม่ให้แก่ไต้หวันทันที
หลิน อี้ว์ฟัง สมาชิกสภานิติบัญญัติจากพรรคก๊กมินตั๋งของไต้หวัน เผยว่า “การใช้เครื่องบินรุ่นเก่า เปรียบเสมือนกับการขอให้คนชราวัย 90 ปี วิดพื้น 100 ครั้งให้ดู”
กระทรวงกลาโหมไต้หวัน เผยว่า เครื่องบินลาดตระเวนตรวจการณ์ทางอากาศรุ่นอาร์เอฟ-5 และเครื่องบินฝึก 2 ที่นั่งรุ่นเอฟ-5เอฟ ได้หายไปจากจอเรดาร์เมื่อเวลา 19.52 น. ตามเวลาท้องถิ่น ในวันอังคาร(13 ก.ย.) เพียงแค่ 13 นาทีหลังบินขึ้นจากฐานทัพอากาศในเมืองฮวาเหลียน ไต้หวัน เพื่อปฏิบัติภารกิจการฝึก
กองทัพไต้หวันยืนยัน(14 ก.ย.)ว่า เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยพบศพนักบินและซากเครื่องบินดังกล่าวอยู่บริเวณข้างภูเขาลูกหนึ่ง ซึ่งเครื่องบินทั้ง 2 ลำได้พุ่งชน ขณะที่อุบัติเหตุดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการสืบสวน
เดวิด หลัว โฆษกกระทรวงกลาโหมไต้หวัน เผยว่า อุบัติเหตุดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าไต้หวันต้องการเครื่องบินรบรุ่นใหม่เพื่อมาทดแทนฝูงบินเอฟ-5 ที่ใช้งานมานานกว่า 35 ปี และกองทัพไม่ต้องการให้นักบินต้องเสี่ยงชีวิตอีกต่อไป
กองทัพอากาศไต้หวันมีฝูงบินรบหลัก ได้แก่ เครื่องบินเอฟ-5 ราว 60 ลำ เครื่องบินขับไล่แบบป้องกันตนเองไอดีเอฟ (Indigenous Defense Fighters) จำนวน 126 ลำ เครื่องบินขับไล่เอฟ-16 รุ่นเอ/บี ที่ผลิตโดยสหรัฐฯ จำนวน 146 ลำ และเครื่องบินมิราจ 2000-5 จากฝรั่งเศส จำนวน 56 ลำ
ไต้หวันได้ขอซื้อเครื่องบินขับไล่เอฟ16 รุ่นซี/ดี จำนวน 66 ลำ ซึ่งมีระบบเรดาร์และอาวุธที่ทรงอานุภาพมากกว่า เครื่องบินขับไล่เอฟ-16 รุ่นเอ/บี จากสหรัฐฯ มาตั้งแต่ปี 2549 เพื่อโต้ตอบการขยายแสนยานุภาพทางทหารของจีน อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบันสหรัฐฯยังไม่ตกลงว่าจะขายให้
เดวิด หลัว เผยว่า “เราหวังว่าสหรัฐฯจะขายเครื่องบินขับไล่เอฟ16 รุ่นซี/ดี ให้ไต้หวันโดยเร็วที่สุด”
หลิน อี้ว์ฟัง ได้เรียกร้องให้กองทัพอากาศไต้หวันตรวจเช็คความปลอดภัยของฝูงบินขับไล่เอฟ-5 ซึ่งไม่มีระบบหาพิกัดบนพื้นโลก (จีพีเอส) และระบบนำร่องที่ทันสมัย
นิตยสารกลาโหมสหรัฐฯ รายงานไม่นานมานี้ว่า สหรัฐฯได้เผยว่าจะไม่ขายเครื่องบินขับไล่เอฟ16 รุ่นซี/ดี ให้ไต้หวัน แต่ทั้งทางการสหรัฐฯและไต้หวัน ต่างยืนกรานว่ายังไม่มีการตัดสินขั้นสุดท้ายในประเด็นดังกล่าว ขณะที่จีนได้แสดงท่าทีคัดค้านอย่างชัดเจน
สหรัฐฯยอมรับจีนมากกว่าไต้หวัน แต่สหรัฐฯยังคงเป็นผู้ขายอาวุธหลักแก่ไต้หวัน ขณะที่ไต้หวันชี้ว่า การสั่งซื้ออาวุธจากสหรัฐฯ มีจุดประสงค์เพื่อถ่วงดุลอำนาจทางทหารของจีน
ซ่วย ฮว่าหมิน แห่งพรรคก๊กมินตั๋ง ได้เผยว่า “การซื้ออาวุธจากสหรัฐฯจะช่วยรักษาสมดุลระหว่างจีน-ไต้หวัน ขณะที่ไต้หวันต้องการยกระดับศักยภาพทางทหารให้มีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการเจรจาต่อรองกับจีน”
ความสัมพันธ์จีน-ไต้หวัน พัฒนามากขึ้นนับตั้งแต่ หม่า อิงจิ่ว ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวันในปี 2551 หม่าได้ดำเนินนโยบายผูกสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยีระดับสูงกับจีน อีกทั้งมีการลงนามข้อตกลงเขตการค้าเสรีไปบางส่วนเมื่อปีที่ผ่านมา(2553) หรือที่เรียกว่า ข้อตกลงกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นสัญญะของสัมพันธภาพที่ดีขึ้นทั้งสองฝ่าย
อย่างไรก็ตาม นับแต่จีนและไต้หวันได้แบ่งแยกการปกครองหลังสิ้นสุดสงครามกลางเมืองปี 2492 แต่จีนยังคงอ้างเสมอว่า ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน ที่รอการรวบรวม และหากจำเป็นก็จะใช้กำลังเข้ายึดครอง