xs
xsm
sm
md
lg

กุนซือหาเสียงของหม่า อิงจิ่ว ชี้ ปธน.ไต้หวันเยือนแดนมังกร อาจเป็นไปได้!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จิน ผู่ชง กุนซือหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันของหม่า อิงจิ่ว ผู้นำพรรคก๊กมินตั๋งและประธานาธิบดีไต้หวันคนปัจจุบัน กำลังกล่าวปราศรัยถึงวิสัยทัศน์ของพรรคก๊กมินตั๋งในไต้หวัน เมื่อวันที่ 2 ก.ย.ที่ผ่านมา(ภาพไถเป่ย ไทมส์)
เอเอฟพี - กุนซือหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีของหม่า อิงจิ่ว ประธานาธิบดีไต้หวันคนปัจจุบัน เผยกับสื่อว่า หากหม่า องจิ่ว ชนะเลือกตั้งฯสมัยที่ 2 เขาอาจเป็นประธานาธิบดีไต้หวันคนแรกที่เยือนจีนแผ่นดินใหญ่

หม่า อิงจิ่ว ผู้นำพรรคก๊กมินตั๋งและประธานาธิบดีไต้หวันคนปัจจุบัน ได้เผยก่อนหน้านี้ว่า ก่อนจะมีการเยือนระหว่างกัน จีนกับไต้หวันมีประเด็นปัญหาที่ยังต้องแก้ไขอีกมาก

ทั้งนี้ นับตั้งแต่จีนและไต้หวันได้แบ่งแยกการปกครองหลังสิ้นสุดสงครามกลางเมืองเมื่อปี 2492 หลังจากนั้นก็ยังไม่มีผู้นำไต้หวันคนใดเยือนจีนแม้แต่ครั้งเดียว

จิน ผู่ชง กุนซือผู้ช่วยหาเสียงเลือกตั้งให้แก่หม่า อิงจิ่ว ได้ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ฟีนิกส์ในประเทศสหรัฐฯ(12 ก.ย.) ว่า “หม่า อิงจิ่ว ไม่ได้ปฏิเสธถึงความเป็นไปได้ที่จะเยือนจีนแผ่นดินใหญ่อย่างเป็นทางการ หากเขาชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันอีกสมัย”

“ในอดีตจีนและไต้หวันได้สร้างนัยความเข้าใจต่อกันและสามารถแก้ปัญหาขัดแย้งระหว่างกันในเชิงปฏิบัติได้ ความเป็นไปได้ของสิ่งเหล่านี้และการแก้ปัญหาอื่นๆต่อไป ขึ้นอยู่กับการเลือกตั้งผู้นำไต้หวันในปีหน้า(2555)”

จิน เผยระหว่างหาเสียงให้หม่า อิงจิ่ว ในประเทศสหรัฐฯว่า “จีนและไต้หวันอาจเจรจาหารือกันมากขึ้นในเรื่องต่างๆ อาทิ ด้านวัฒนธรรม กีฬา เศรษฐกิจ และแม้กระทั่งการเมือง”

ขณะที่โฆษกของหม่า อิงจิ่ว ได้ให้สัมภาษณ์ต่อประเด็นที่นายจินได้กล่าวไว้ ว่า “ตอนนี้เรายังไม่มีแผนการในทำนองนั้น”

อนึ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างจีน-ไต้หวัน พัฒนามากขึ้นนับตั้งแต่นายหม่า อิงจิ่ว ผู้นำพรรคก๊กมินตั๋ง ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวันในปี 2551 ทั้งสองฝ่ายได้บรรลุข้อตกลงทางการค้าหลายฉบับ โดยเฉพาะในเดือนมิ.ย.ปีที่ผ่านมา(2553) ไต้หวันและจีนได้บรรลุข้อตกลงกรอบงานความร่วมมือเศรษฐกิจ (economic co-operation framework agreement -ECFA) อันเป็นย่างก้าวสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงการประณีประณอมกันมากขึ้น

ขณะที่ความตึงเครียดทางการเมืองของสองจีนก็ลดน้อยลงอย่างมาก ถือเป็นการปรับความสัมพันธ์ครั้งสำคัญของทั้งสองฝ่ายซึ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อกันนาน 61 ปี นับจากวันที่ผู้นำเจี่ยง เจี้ยสือ (เจียง ไคเช็ก) แพ้สงครามกลางเมือง (พ.ศ. 2492) และหนีไปตั้งรัฐบาลแยกต่างหากที่เกาะไต้หวัน

อย่างไรก็ตาม นับแต่จีนและไต้หวันได้แบ่งแยกการปกครองหลังสิ้นสุดสงครามกลางเมืองปี 2492 จีนยังคงอ้างเสมอว่า ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน ที่รอการรวบรวมและหากจำเป็นก็จะใช้กำลังเข้ายึดครอง
กำลังโหลดความคิดเห็น