xs
xsm
sm
md
lg

ไช่ อิงเหวิน เลือกอดีต รมต.เกษตร เป็นคู่หูชิงเก้าอี้ผู้นำไต้หวัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(ซ้าย) ไช่ อิงเหวิน ผู้สมัครลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยหน้าของไต้หวัน / (ขวา) ซู จยาเฉวียน ชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีของไช่ (ภาพเอเยนซีจีน)
เอเอฟพี - ไช่ อิงเหวิน ผู้สมัครลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยหน้าของไต้หวัน ประกาศ(9 ก.ย.)ว่า ตนได้เลือกอดีตรัฐมนตรีกระทรวงเกษตร เป็นคู่ชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีของตน เพื่อเรียกเสียงสนับสนุนจากชาวชนบท สำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันในปีหน้า(2555)

ไช่ อิงเหวิน ซึ่งหากชนะการเลือกตั้งเธอจะได้เป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของไต้หวัน ได้ประกาศเลือกซู จยาเฉวียน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและกระทรวงมหาดไทยไต้หวัน ในช่วงที่พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า(ดีพีพี)ครองอำนาจ เข้ามาเป็นคู่สมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีของตน

ไช่ ให้สัมภาษณ์ว่า “ฉันรู้สึกมั่นใจมากว่าเราจะชนะการเลือกตั้ง... และการที่เราเลือกนายซู หมายความว่าพรรคดีพีพีให้ความสำคัญกับการเกษตรและชนชั้นเกษตรกรอย่างมาก”

ไช่ ให้ความเห็นว่า “การเลือกนายซูซึ่งเป็นตัวเลือกสุดท้าย ไม่ได้ส่งผลเสียแต่อย่างใด และเขาจะเป็นตัวเลือกที่ดีสุดที่เข้ามาเสริมทีมฉัน”

ซู จยาเฉวียน วัย 54 ปี เป็นหนึ่งในสมาชิกก่อตั้งพรรคดีพีพีและสร้างผลงานชิ้นสำคัญด้วยการกู้ชื่อเสียงพรรคดีพีพีกลับมา หลังจากพ่ายแพ้การเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2551 ให้แก่พรรคก๊กมินตั๋ง

ไช่ อิงเหวิน และซู จยาเฉวียน ตัวแทนพรรคดีพีพี จะต้องเผชิญกับตัวแทนพรรคก๊กมินตั๋ง ได้แก่ หม่า อิงจิ่ว ประธานาธิบดีไต้หวันคนปัจจุบันและ อู๋ ตุนอี้ อดีตนายกรัฐมนตรีไต้หวัน ในศึกการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันปีหน้า(2555)

ไช่ อิงเหวิน ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและประธานสภากิจการจีนแผ่นดินใหญ่ ในช่วงที่ผู้นำพรรคดีพีพี เฉิน สุ่ยเปี่ยน เป็นประธานาธิบดี 8 ปี (2543-2551) เธอได้วิพากษ์วิจารณ์หม่า อิงจิ่ว ว่า ดำเนินนโยบายประณีประณอมโอนอ่อนผ่อนตามจีนมากเกินไป

ทั้งนี้ นับตั้งแต่นายหม่า อิงจิ่ว ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวันในปี 2551 ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับจีนก็พัฒนาขึ้น โดยทั้งสองฝ่ายได้บรรลุข้อตกลงทางการค้าหลายฉบับ ขณะที่ความตึงเครียดทางการเมืองของสองจีนก็ลดน้อยลงอย่างมาก ถือเป็นการปรับความสัมพันธ์ครั้งสำคัญของทั้งสองฝ่ายซึ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อกันนาน 61 ปี นับจากวันที่ผู้นำเจี่ยง เจี้ยสือ (เจียง ไคเช็ก) แพ้สงครามกลางเมือง (พ.ศ. 2492) และหนีไปตั้งรัฐบาลแยกต่างหากที่เกาะไต้หวัน

อย่างไรก็ตาม นับแต่จีนและไต้หวันได้แบ่งแยกการปกครองหลังสิ้นสุดสงครามกลางเมืองปี 2492 จีนยังคงอ้างเสมอว่า ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน ที่รอการรวบรวม และหากจำเป็นก็จะใช้กำลังเข้ายึดครอง
กำลังโหลดความคิดเห็น