xs
xsm
sm
md
lg

ไช่ อิงเหวิน ชูนโยบายส่งเสริมการทหาร ถ่วงดุลอำนาจจีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไช่ อิงเหวิน ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวันแห่งพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (ดีพีพี) กำลังให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวที่สนามบินเถาหยวน ในกรุงไถเป่ย ไต้หวัน เมื่อวันที่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ไช่ อิงเหวินได้ให้คำมั่นกับสหรัฐฯว่า หากชนะการเลือกตั้งฯในปีหน้า(2555) ตนจะส่งเสริมงบประมาณด้านการทหารและการป้องกันประเทศ ของไต้หวัน เพื่อถ่วงดุลอำนาจจีน (ภาพเอเอฟพี)
เอเอฟพี - ไช่ อิงเหวิน ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยหน้าของไต้หวัน ได้ให้คำมั่นกับสหรัฐฯว่า หากชนะการเลือกตั้งฯในปีหน้า(2555) ตนจะส่งเสริมงบประมาณด้านการทหารและการป้องกันประเทศ ของไต้หวัน เพื่อถ่วงดุลอำนาจจีน

ไช่ อิงเหวิน วัย 54 ปี ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวันแห่งพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (ดีพีพี) ได้กล่าวที่สถาบันกิจการอเมริกันว่า “ฉันเข้าใจว่าในช่วงที่พรรคดีพีพีหมดอำนาจทางการเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯและไต้หวันไม่ค่อยราบรื่นนัก”

“พรรคดีพีพี ซึ่งชูนโยบายอิสรภาพและแบ่งแยกไต้หวันจากจีนมาตั้งแต่ในอดีต มีพัฒนาการทางการเมืองมาพร้อมกับการพัฒนาประชาธิปไตยในไต้หวัน และพรรคดีพีพีได้ใช้นโยบายแนวทางถ่วงดุลอำนาจกับจีนเสมอมา”

“นโยบายของเราต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของคนในสังคมส่วนใหญ่ รวมทั้งความคาดหวังนานาชาติ ดังนั้นเราจะหลีกเลี่ยงแนวทางสุดโต่งทั้งหลาย”

นอกจากนี้ ไช่ ได้วิจารณ์หม่า อิงจิ่ว ประธานาธิบดีไต้หวันคนปัจจุบันและตัวแทนผู้สมัครเลือกตั้งฯของพรรคก๊กมินตั๋ง ว่า “ในช่วงที่ไต้หวันเรียกร้องสหรัฐฯให้ยอมขายเครื่องบินขับไล่ให้ หม่า ไม่ยอมสละแม้แต่เงิน 3 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี มาใช้จ่ายด้านการทหาร แต่หม่ากลับอ้างว่าเงินงบประมาณควรนำมาใช้จ่ายในด้านอื่นๆที่สำคัญกว่า อย่างเช่นแก้ปัญหาที่ได้รับผลกระทบจากจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก”

“หากเรากลับมาครองอำนาจ เราจะแก้ไขสิ่งที่หม่าพลาดให้ถูกต้อง” ไช่ กล่าว

จีนและไต้หวันได้แบ่งแยกการปกครองหลังสิ้นสุดสงครามกลางเมืองปี 2492 ผู้นำเจี่ยง เจี้ยสือ (เจียง ไคเช็ก) ซึ่งเป็นฝ่ายแพ้ได้หนีไปตั้งรัฐบาลแยกต่างหากที่เกาะไต้หวัน อย่างไรก็ตามจีนยังคงอ้างว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีนที่รอการรวบรวม และหากจำเป็นก็จะใช้กำลังเข้ายึดครอง

ทั้งนี้ นับตั้งแต่หม่า อิงจิ่ว ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวันในปี 2551 ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับจีนก็พัฒนาขึ้น โดยทั้งสองฝ่ายได้บรรลุข้อตกลงทางการค้าหลายฉบับ ขณะที่ความตึงเครียดทางการเมืองของสองจีนก็ลดน้อยลงอย่างมาก ถือเป็นการปรับความสัมพันธ์ครั้งสำคัญของทั้งสองฝ่ายซึ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อกันนาน 61 ปี

สหรัฐฯยอมรับจีนเพียงหนึ่งเดียวนั่นคือจีนแผ่นดินใหญ่ ขณะที่ภายใต้กฎหมายความสัมพันธ์ไต้หวัน (Taiwan Relations Act) ที่สหรัฐฯให้การรับรองเมื่อปี 2522 (1979) ได้กำหนดไว้ว่าสหรัฐฯสามารถขายอาวุธเพื่อช่วยเหลือไต้หวันป้องกันตนเองได้ โดยในปี 2553 สหรัฐฯได้อนุมัติขายอาวุธแก่ไต้หวัน มูลค่า 6,400 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสร้างความขุ่นเคืองใจแก่จีนอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนส.ค.ที่ผ่านมา สหรัฐฯได้ระงับการขายเครื่องบินขับไล่เอฟ-16 รุ่นใหม่แก่ไต้หวัน แม้ว่าจะมีเสียงเรียกร้องจากบรรดาวุฒิสมาชิกสภาสหรัฐฯเกือบครึ่งด้วย และมีการประเมินว่าจีนกำลังพัฒนาแสนยานุภาพทางทหารอย่างต่อเนื่อง

ไช่ เผยว่า “เราเรียกร้องให้สหรัฐฯตัดสินใจขายอาวุธที่จำเป็นให้แก่ไต้หวัน แต่ขณะเดียวกันเราเองก็มีจุดยืนว่าเราต้องการป้องกันตนเอง”

พรรคดีพีพีได้วิจารณ์ข้อตกลงการค้าเสรีไต้หวัน-จีน หรือ ข้อตกลงกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจ (Economic Cooperation Framework Agreement -ECFA) ซึ่งเป็นผลงานรัฐบาลหม่า อิงจิ่ว ได้ลงนามร่วมกับจีนเมื่อปี 2553 ว่า “ข้อตกลงดังกล่าวอาจนำไปสู่การครอบครองไต้หวันได้โดยไม่ต้องใช้วิธีการทางทหาร อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการลงนามข้อตกลงฯกันไปแล้ว พรรคดีพีพีจะพิจารณาปรับแก้เงื่อนไขข้อตกลงดังกล่าวผ่านกระบวนการทางการเมืองเท่านั้น”

ทีมหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีของหม่า อิงจิ่ว ได้เดินทางมายังสหรัฐฯเช่นกัน พร้อมเผยว่า “หากหม่า อิงจิ่ว ได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวันอีกสมัย จะเป็นการเอื้อประโยชน์แก่สหรัฐฯ”

ฟรานซิส กาน อี้หวา ผู้ช่วยผู้อำนวยการกิจการภายในของทีมหาเสียงเลือกตั้งหม่า อิงจิ่ว ได้เผยว่า “เฉิน สุยเปี่ยน อดีตประธานาธิบดีไต้หวัน ซึ่งชูนโยบายอิสรภาพจากจีนอย่างชัดแจ้ง ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างช่องแคบไต้หวัน-จีนย่ำแย่หนัก ขณะที่เราไม่ต้องการทำผิดซ้ำอีก อย่างแรกสุดเราจำเป็นต้องลดความตึงเครียดระหว่างจีน-ไต้หวันก่อน ซึ่งสหรัฐฯมีอิทธิพลต่อเรื่องนี้มาก”

เจิง หย่งเฉวียน รองประธานรัฐสภาและสมาชิกพรรคก๊กมินตั๋ง เผยว่า “การที่สหรัฐฯสนับสนุนให้ลดความตึงเครียดระหว่างจีน-ไต้หวัน ถือเป็นผลดีต่อการเลือกตั้งของเรา แต่ไต้หวันจะรู้สึกเสียใจมากหากสหรัฐฯไม่ยอมขายเครื่องบินเอฟ-16 รุ่นใหม่ให้”

นอกจากนี้ เจิง ได้เรียกร้องให้รัฐบาลโอบามาผ่อนข้อกำหนดอนุญาตให้ชาวไต้หวันเดินทางไปสหรัฐฯได้โดยไม่ต้องใช้วีซ่า

ขณะที่ล่าสุด(14 ก.ย.) หม่า อิงจิ่ว ประธานาธิบดีไต้หวัน ได้เผยว่า ไต้หวันและสหรัฐฯสามารถร่วมกันสำรวจตลาดจีนได้ เนื่องจากไต้หวันและจีน ได้ลงนามข้อตกลงกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (ECFA) เมื่อปีที่ผ่านมา(2553)

หม่า อิงจิ่ว กล่าวกับ ซูเรส คูมาร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ว่า “ไต้หวันและสหรัฐฯสามารถใช้โอกาสทางธุรกิจภายใต้ข้อตกลง ECFA ซึ่งสนับสนุนการลงทุนระหว่างจีน-ไต้หวัน มาร่วมกันพัฒนาตลาดในจีนได้”

ทั้งนี้ ภายใต้ข้อตกลง ECFA จะช่วยส่งเสริมการส่งออก ดึงดูดการลงทุน และกระตุ้นการจ้างงานระหว่างจีน-ไต้หวัน อีกทั้งจีนจะลดภาษีสินค้านำเข้าจากไต้หวัน 539 รายการ ขณะที่ไต้หวันจะลดภาษีสินค้านำเข้าจากจีน 267 รายการ ทั้งยังเปิดทางให้จีนเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมภาคบริการได้
กำลังโหลดความคิดเห็น