xs
xsm
sm
md
lg

บทเพลงแห่งการจากลาสุดอมตะ "ซ่งเปี๋ย"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เพลง "ซ่งเปี๋ย(送别)" หรือเพลงอำลา แต่งขึ้นเมื่อปี 1915 โดย "หลี่ ซูถง(李叔同)"(ค.ศ. 1880-1942) ศิลปินระดับบรมครูชาวจีนที่ภายหลังละทางโลกออกบวชเป็นพระหงอีผู้โด่งดัง เพลงสั้นๆ แต่หมดจดด้วยท่วงทำนองและเนื้อเพลงที่งดงามราวบทกวี ส่งให้เพลงนี้คงความนิยมในแผ่นดินจีนมาทุกยุคทุกสมัย เป็นเพลงที่มักจะถูกนำมาใช้ในงานเลี้ยงอำลารูปแบบต่างๆ เช่นการเดินทางไกล การจบการศึกษา รวมถึงการไว้อาลัยให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
หลี่ ซูถง
แท้จริงแล้ว ท่วงทำนองอันไพเราะของเพลง ซ่งเปี๋ย มาจากเพลง "Dreaming of Home and Mother" ที่ประพันธ์ขึ้นเมื่อปี 1851 โดย John Pond Ordway ศิลปินผู้เป็นทั้งนักดนตรี แพทย์ และนักการเมือง และเพลงนี้เป็นที่รู้จักในยุคสงครามกลางเมือง แต่ภายหลังไม่ได้มีการบันทึกเอาไว้ ทำให้เพลงนี้แทบจะถูกลืมเลือนจากใจชาวอเมริกันไปนานกว่าครึ่งศตวรรษ

ปี 1904 ศิลปินชาวญี่ปุ่น K.Indo นำทำนองเพลง Dreaming of Home and Mother มาใส่เนื้อร้องภาษาญี่ปุ่น ในชื่อเพลงว่า "Ryoshu" ซึ่งหมายถึง ความโศกเศร้าของคนเดินทาง จนเพลงนี้โด่งดังมากในญี่ปุ่น ความไพเราะของบทเพลงประทับอยู่ในใจของผู้ฟัง รวมทั้งหลี่ ซูถง ซึ่งมีโอกาสได้รู้จักเพลงนี้ในช่วงที่เดินทางไปศึกษาต่อที่ญี่ปุ่นในปี 1905-1910 เพลงดังกล่าวจับใจเขาจนต้องการถ่ายทอดมาเป็นภาษาจีนให้ชาวจีนได้รับฟัง จวบจนเขาศึกษาจบกลับมารับตำแหน่งครูคนแรกของวิทยาลัยครูเจ้อเจียง เขาจึงได้นำทำนองเพลงนี้มาใส่เนื้อร้องภาษาจีน กลายเป็นเพลง ซ่งเปี๋ย ขึ้นมา

เพลงของทั้งสามชาติ แม้ว่าจะมีทำนองเดียวกัน แต่เนื้อร้องเป็นคนละความหมายซึ่งแตกต่างกันตามกรอบวัฒนธรรมของผู้แต่ง ในฟากของจีน เนื้อเพลง ซ่งเปี๋ย ได้รับการยกย่องว่าไพเราะ รวดรัด เข้าใจง่าย แต่งดงามราวบทกวี นอกจากจะเป็นเพลงอำลาแล้ว เพลงนี้ยังถูกนำมาใช้สอนเด็กๆ ในโรงเรียนประถมและมัธยมทั่วไป นอกจากนี้ยังถูกนำมาเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์จีนหลายเรื่อง ล่าสุดคือเรื่อง "让子弹飞(Let the Bullets Fly)"(2010) โดยผู้กำกับ เจียงเหวิน(姜文)

 

长亭外
chang2 ting2 wai4
ฉังถิงไว่
นอกศาลาที่พักคนจร

古道边
gu3 dao4 bian1
กู่เต้าเปียน
ข้างทางโบราณคร่ำคร่า

芳草碧连天
fang1 cao3 bi4 lian2 tian1
ฟังเฉ่าปี้เหลียนเทียน
ต้นหญ้าเขียวจรดนภา

晚风拂柳笛声残
wan3 feng1 fu2 liu3 di2 sheng1 can2
หวั่นเฟิงฝูหลิ่วตี๋เซิงฉาน
ลมราตรีระกิ่งหลิว ขลุ่ยแว่วเสียงลา

夕阳山外山
xi1 yang2 shan1 wai4 shan1
ซีหยังซานไว่ซาน
อาทิตย์อัศดงกลางขุนเขาซับซ้อน

天之涯
tian1 zhi1 ya2
เทียนจือหยา
สุดขอบฟ้า

地之角
di4 zhi1 jiao3
ตี้จือเจี่ยว
สุดแดนดิน

知交半零落
zhi1 jiao1 ban4 ling2 luo4
จือเจียวปั้นหลิงลั่ว
สหายรู้ใจร้างไร้โรยรา

一觚浊酒尽余欢
yi1 gu1 zhuo2 jiu3 jin4 yu2 huan1
อีกูจั๋วจิ่วจิ้นอี๋ว์ฮวน
สุราเกลี้ยงจอก ยังหลงเหลือความหรรษา

今宵别梦寒
jin1 xiao2 bie2 meng4 han2
จินเซียวเปี๋ยเมิ่งหาน
คืนนี้หลังจากลา แม้นนิทรายังหนาวใจ

 
 
**หมายเหตุ
ระบบพินอินในภาษาจีนมีเครื่องหมายแทนเสียงวรรณยุกต์ 4 เครื่องหมาย 5 เสียง ดังนี้
เสียงที่หนึ่ง (ˉ) เทียบเท่าเสียง สามัญหรือตรี ในภาษาไทย
เสียงที่สอง (ˊ) เทียบเท่าเสียง จัตวา ในภาษาไทย
เสียงที่สาม (ˇ) คล้ายเสียง เอก ในภาษาไทย
เสียงที่สี่ (ˋ) เทียบเท่าเสียง โท ในภาษาไทย
เสียงที่ห้า ไม่มีเครื่องหมาย บางครั้งใช้เครื่องหมาย (.)วางหน้าพยางค์
ในบทความนี้ เนื้อเพลงในส่วนอักษรภาษาอังกฤษ ใช้ตัวเลขแทนเครื่องหมายวรรณยุกต์ 1 2 3 4 5 ตามลำดับ
 
อธิบายศัพท์
长亭(chang2 ting2) แปลว่าศาลาที่พักริมทาง
古道(gu3 dao4) แปลว่า ทางสายเก่า บางครั้งใช้เปรียบเปรยกับขนบโบราณ
夕阳(xi1 yang2) แปลว่า อาทิตย์ยามอัศดง
零落(ling2 luo4) แปลว่า ร่วงโรยรา
"Ryoshu" ของญี่ปุ่น


เพลง "送别" ในภาพยนตร์เรื่อง "Let the Bullets Fly"


กำลังโหลดความคิดเห็น