xs
xsm
sm
md
lg

จีนเฮ “วาร์ยัก” บรรลุภารกิจทดสอบปฏิบัติการในทะเลครั้งแรก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 วาร์ยัก เรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกของจีน พร้อมเรือพ่วงอีก 7 ลำ กำลังกลับเข้าสู่อู่เรือของบริษัทอุตสาหกรรมการต่อเรือต้าเหลียน(Dalian Shipbuilding Industry Co Ltd) ในมณฑลเหลียวหนิง เมื่อวันที่ 14 ส.ค.ที่ผ่านมา(ภาพไชน่า เดลี)
เซาท์ไชน่า มอร์นิ่งโพสต์ / เอเอฟพี - เรือบรรทุกเครื่องบินวาร์ยัก(Varyag) กลับสู่อู่เรือในเมืองต้าเหลียน มณฑลเหลียวหนิง หลังเสร็จสิ้นภารกิจทดสอบปฏิบัติการในทะเลครั้งแรก เป็นเวลา 5 วัน ขณะที่ไต้หวันส่งสัญญาณตอบโต้ว่ากำลังพัฒนาขีปนาวุธพิฆาตเรือบรรทุกเครื่องบินรุ่นใหม่

เรือเดินสมุทร 7 ลำ ได้ลากจูงเรือบรรทุกเครื่องบินวาร์ยัก(Varyag) กลับสู่อู่เรือเมืองต้าเหลียน มณฑลเหลียวหนิง ช่วงประมาณ 11.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น เมื่อวาน(14 ส.ค.) หลังเสร็จสิ้นภารกิจทดสอบปฏิบัติการในทะเลเหลือง อ่าวเหลียวตงตอนเหนือ เป็นเวลา 5 วัน(10-14 ส.ค.) ขณะที่เหล่าแรงงานในอู่เรือต่างจุดประทัด พลุดอกไม้ไฟ และโชว์ป้ายสีแดงเฉลิมฉลองการทดสอบในทะเล

สำนักข่าวซินหวาไม่ได้เผยถึงรายละเอียดเกี่ยวกับปฏิบัติการภารกิจการทดสอบดังกล่าว อย่างไรก็ตามโกลบอล ไทมส์ ได้เผยรายละเอียดดังกล่าวซึ่งตีพิมพ์โดยพีเพิล เดลี ว่า ในการทดสอบครั้งนี้ เรือวาร์ยักได้ปฏิบัติการจำลองการส่งเครื่องบินขึ้นและลงจอดบนดาดฟ้าเรือแบบมุมโค้ง (Ski jump) แต่ไม่ได้ระบุว่าทดสอบกับเครื่องบินประเภทใด ขณะที่มีกระแสคาดการณ์ว่าอาจเป็นเครื่องบินขับไล่รุ่น J-15 ที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ซึ่งดัดแปลงจากต้นแบบจากเครื่องบินไอพ่นขับไล่ของรัสเซียรุ่น Su-33

Anthony Wong Dong ประธานสมาคมการทหารระหว่างประเทศ (International Military Association) ในมาเก๊า ได้เผยว่า “เทคโนโลยีของเรือบรรทุกเครื่องบินวาร์ยักยังแปลกใหม่เกินไปที่จะปฏิบัติภารกิจจริงในการส่งเครื่องบินขึ้นและลงจอดขณะอยู่กลางทะเล ด้วยว่าความเสี่ยงเกิดข้อผิดพลาดมีสูง”

ทั้งนี้ เป็นที่เชื่อว่ากองทัพปลดแอกประชาชนจีน หรือ กองทัพพีแอลเอ มีเครื่องบินขับไล่ต้นแบบรุ่นJ-15 เพียง 3 ลำ และจะเสร็จสมบูรณ์พร้อมปฏิบัติการอย่างเร็วสุดภายในปี 2556

สำนักข่าวซินหวาอ้างข้อมูลจากเว็บไซต์การทหารรัสเซียว่า รัฐบาลจีนกำลังเจรจากับรัฐบาลยูเครนเพื่อขอซื้อเครื่องยนต์ที่สามารถประกอบเรือบรรทุกเครื่องบินลำที่ 2 ของจีน

ทั้งนี้ เรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกของจีนนี้ เป็นเรือฯชั้น Kuznetsov ออกแบบโดยรัสเซีย มีความยาว 300 เมตร ต่อขึ้นในยุคสหภาพโซเวียต แต่สร้างไปได้ 60 เปอร์เซ็นต์ การก่อสร้างก็หยุดชะงัก เนื่องจากสหภาพโซเวียตล่มสลายเมื่อปี 2534 และเนื่องจากอู่ต่อเรือฯลำนี้อยู่ในยูเครน กรรมสิทธิ์เรือฯจึงตกเป็นของยูเครน ขณะนั้นเรือบรรทุกเครื่องบินลำนี้มีแต่ตัวเรือเปล่าๆ ต่อมากองทัพปลดแอกประชาชนจีน(พีแอลเอ) ได้ซื้อเรือฯลำนี้ในมูลค่า 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และลากมาดำเนินการซ่อมแซมปรับปรุงที่อู่ที่ต้าเหลียน มณฑลเหลียวหนิงเมื่อปี 2541

รายงานข่าวระบุว่า เมื่อตอนที่จีนซื้อเรือบรรทุกเครื่องบินลำดังกล่าวมาจากยูเครน ชาติคู่แข่งด้านการทหารของจีน อาทิ สหรัฐฯ ได้แสดงความกังวลเพียงเล็กน้อย เนื่องจากในตอนนั้นกองทัพจีนยังขาดเครื่องบินขับไล่ประจำเรือบรรทุกเครื่องบิน แต่ในตอนนี้ศักยภาพทางทหารของกองทัพพีแอลเอได้พัฒนาขึ้นมากแล้ว ขณะที่เมื่อไม่นานมานี้ กองทัพพีแอลเอจีนได้เผยว่า จีนต้องการเรือบรรทุกเครื่องบินอีกอย่างน้อย 3 ลำ
การแสดงขีปนาวุธสยงเฟิง 3 ของกองทัพไต้หวัน และภาพฉากที่เขียนข้อความ  มือพิฆาตเรือบรรทุกเครื่องบิน เด่นหรากลางงานแสดงอุตสาหกรรมอวกาศและการป้องกันดินแดนในไต้หวันเมื่อวันพุธ(10 ส.ค.) วันเดียวกับที่ทัพจีนใหญ่เริ่มทดสอบเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกของประเทศ (ภาพเอเยนซี)
ไต้หวันพัฒนาสยงเฟิง 3 'มือพิฆาตเรือบรรทุกเครื่องบินรุ่นใหม่'

หลังจากจีนได้นำเรือบรรทุกเครื่องบินวาร์ยักทดสอบในทะเลครั้งแรกตั้งแต่เมื่อวันพุธ(10 ส.ค.) ทำให้บรรดาชาติต่างๆ อาทิ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และโดยเฉพาะไต้หวัน ได้แสดงความกังวลต่อศักยภาพทางทหารของจีน

หลิน อี้ฟัง สมาชิกสภานิติบัญญัติจากพรรคก๊กมินตั๋ง ซึ่งดำรงตำแหน่งคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งชาติ ได้กล่าวกับเอเอฟพีเมื่อวาน(14 ส.ค.)ว่า “ขณะนี้กองทัพไต้หวันกำลังดำเนินการวิจัยพัฒนาและปรับปรุงขีปนาวุธนำวิถีสยงเฟิง 3 ที่มีฐายยิงบนพื้นดิน”

หลิน เผยว่า “ขีปนาวุธสยงเฟิง 3 เวอร์ชั่นใหม่จะมีพิสัยทำการไกลขึ้นและบรรจุหัวรบที่มีความรุนแรงมากขึ้น และจะระดมอยู่บนฐานยิงเคลื่อนที่ได้ เพื่อเพิ่มโอกาสหลบหลีกจากการเป็นเป้าถูกทิ้งระเบิด”

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา สื่อมวลชนได้รับเชิญให้เข้าชมขีปนาวุธสยงเฟิง 3 แบบดั้งเดิม ก่อนหน้างานแสดงเทคโนโลยีอวกาศนานาชาติ และอุตสาหกรรมยุทโธปกรณ์เพื่อการป้องกันดินแดนประจำปี 2011 ที่จัดขึ้นในไต้หวัน เมื่อวันที่ 10 - 14ส.ค.ที่ผ่านมา โดยการแสดงขีปนาวุธดังกล่าว ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็นเสมือน ' มือพิฆาตเรือบรรทุกเครื่องบิน' ได้รับความสนใจอย่างมาก

นาย เจียง อู่อิง รองหัวหน้าโครงการพัฒนาขีปนาวุธนำวิถีสยงเฟิงของสำนักงานยุทโธปกรณ์ สังกัดสถาบันการวิจัยวิทยาศาสตร์จงซัน ได้เผยว่า "ขีปนาวุธต่อต้านเรือผิวน้ำความเร็วเหนือเสียง 'สยงเฟิง 3' สามารถทะลวงถึงเรือศัตรูได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เพียงลั่นกระสุน 1 - 2 ลูก ก็สามารถจมเรือของศัตรู โดยมีอัตราความสำเร็จสูง"

บรรดานักวิเคราะห์ชี้ว่า ขีปนาวุธสยงเฟิง 3 สงเฟิง3 ซึ่งได้รับการออกแบบให้โจมตีเป้าหมายด้วยความเร็วไม่ต่ำกว่า 2 มัค หรือมีความเร็วเหนือเสียง 2 เท่า ระยะทำการ 130 กิโลเมตร(80ไมล์) ถูกติดตั้งให้กับเรือรบฟริเกทและเรือลาดตระเวนของกองทัพเรือไต้หวันแล้ว

สำหรับการพัฒนาขีปนาวุธดังกล่าวถือเป็นสัญญาณเตือนจากกระทรวงกลาโหมไต้หวันต่อกรณีที่จีนได้พัฒนาและทดสอบเรือบรรทุกเครื่องบินวาร์ยัก อย่างไรก็ตามเหล่าผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า กองทัพปลดแอกประชาชนจีน หรือ พีแอลเอ ยังอาจต้องใช้เวลาสักพักสำหรับปฏิบัติการทดสอบเรือบรรทุกเครื่องบินดังกล่าว

อนึ่ง นับตั้งแต่เมื่อปี 2551ที่ หม่า อิงจิ่ว ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวัน และได้ให้คำมั่นว่าจะใช้นโยบายเลี่ยงการเผชิญหน้ากับจีน ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีน-ไต้หวัน พัฒนาขึ้น อย่างไรก็ตาม จีนยังคงมองว่า ไต้หวันเป็นดินแดนส่วนหนึ่งที่รอการรวมกลับเข้ามา และหากมีความจำเป็นก็จะใช้กำลังเข้ายึด
กำลังโหลดความคิดเห็น