xs
xsm
sm
md
lg

ไต้หวันระดมขีปนาวุธต่อต้านเรือรบ “ซูเปอร์โซนิค”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพเมื่อปี 2550 ไต้หวันเปิดตัว สงเฟิง 3 ขีปนาวุธต่อต้านเรือรบที่มีความเร็วเหนือเสียง ณ กรุงไถเป่ย (ภาพเอเอฟพี)
เอเอฟพี - ไต้หวันเสริมเขี้ยวเล็บทัพเรือ ติดตั้งขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงให้กับฝูงเรือรบ โต้ตอบการขยายแสนยานุภาพทางยุทธนาวีของจีน

หลิน อี้ฟัง สมาชิกสภานิติบัญญัติจากพรรคก๊กมินตั๋งอ้างคำกล่าวของ ลี เหา พลเรือโทแห่งกองทัพเรือไต้หวัน(8 พ.ค.) ว่า “กองทัพไต้หวันกำลังเตรียมระดมขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงผลิตในไต้หวัน “สงเฟิง 3” (Hsiung-feng 3) มาติดตั้งกับเรือรบฟริเกท ชั้นเพอร์รี่ จำนวน 8 ลำ และเรือลาดตระเวน 7ลำ”

บรรดานักวิเคราะห์ ชี้ว่า สงเฟิง3 ถูกออกแบบให้โจมตีเป้าหมายด้วยความเร็วไม่ต่ำกว่า 2 มัค หรือมีความเร็วเหนือเสียง 2 เท่า ระยะทำการ 130 กิโลเมตร(80ไมล์) จึงยากมากที่เป้าหมายจะหลบพ้น

สำหรับการติดตั้งขีปนาวุธดังกล่าว ถือเป็นสัญญาณเตือนจากกระทรวงกลาโหมไต้หวัน หลังจากที่ จีนเผยโฉม Varyag เรือบรรทุกเครื่องบินลำแรก ออกทดสอบในทะเล และเป็นข่าวฮือฮาในเดือนม.ค.ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม เหล่าผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า กองทัพปลดแอกประชาชนจีน หรือ พีแอลเอ ยังอาจต้องใช้เวลาสักพักสำหรับปฏิบัติการทดสอบเรือบรรทุกเครื่องบินดังกล่าว

ไช่ เต๋อเซิ่ง ผู้อำนวยการสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ ได้ยืนยันเมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ว่า เรือบรรทุกเครื่องบินดังกล่าวของจีน ได้รับการคาดการณ์ว่า จะออกปฏิบัติการสู่ท้องทะเลเป็นครั้งแรกภายในสิ้นปีนี้

ทั้งนี้ เรือบรรทุกเครื่องบิน "Varyag" ต่อขึ้นในยุคสหภาพโซเวียต แต่สร้างได้ 60 เปอร์เซ็นต์ การก่อสร้างก็หยุดชะงักกลางคัน เนื่องจากสหภาพโซเวียดล่มสลายเมื่อปี 2534 ต่อมาจีนได้ซื้อมาเพื่อปรับปรุงใหม่เมื่อปี 2541 โดยมีวัตถุประสงค์ใช้ในการฝึกและเป็นต้นแบบในการต่อเรือในประเทศ

นายไช่ เผยว่า เรือรบบรรทุกเครื่องบินของจีน จะมีประสิทธิภาพทางการรบขั้นสูง และจะใช้เป็นฐานประจำการสำหรับเครื่องบินขับไล่ ที่พัฒนาโดยจีน ซึ่งดัดแปลงจากต้นแบบจากเครื่องบินไอพ่นขับไล่ของรัสเซียรุ่น Su-33s

เจ้าหน้าที่การทหารไต้หวัน เผย ไต้หวันวางแผนที่จะสร้างเรือรบเทคโนโลยีสเตลท์ ติดขีปนาวุธนำวิถี ในปีหน้า(2555)

อนึ่ง นับตั้งแต่เมื่อปี 2551ที่ หม่า อิงจิ่ว ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวัน และได้ให้คำมั่นว่าจะใช้นโยบายเลี่ยงการเผชิญหน้ากับจีน ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างจีน-ไต้หวัน พัฒนาขึ้น อย่างไรก็ตาม จีนยังคงมองว่า ไต้หวันเป็นดินแดนส่วนหนึ่งที่รอการรวมกลับเข้ามา และหากมีความจำเป็นก็จะใช้กำลังเข้ายึด
กำลังโหลดความคิดเห็น