xs
xsm
sm
md
lg

เผย 5 ข้อสงสัยเหตุรถไฟฯชนท้าย ผู้เชี่ยวชาญจีนชี้ระบบหละหลวม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อุบัติเหตุรถไฟความเร็วสูงชนท้ายที่เวินโจวเมื่อคืนวันเสาร์ที่ 23 ก.ค. สร้างความตกตะลึงแก่ผู้คนทั่วประเทศจีน อุทาน “จ้าวแห่งความเร็วจีน ที่เชิดหน้าชูตาระดับโลก ได้กลายเป็นหอยทากไปเสียแล้ว” ภาพ: ซากหัวรถไฟความเร็วสูงจีน (ภาพซินหวา)
สื่อจีนรายงานในวันจันทร์(25ก.ค.) นายหวัง หย่งผิง โฆษกกระทรวงการรถไฟจีนชี้แจงกรณีรถไฟชนท้ายกันที่เมืองเวินโจวเมื่อวันที่ 23 ก.ค.ระบุในชั้นต้นเข้าใจว่าสาเหตุของอุบัติครั้งนี้เกิดจากฟ้าผ่าทำให้อุปกรณ์ขัดข้อง ขณะนี้การตรวจสอบกำลังเดินหน้าไปเพื่อวิเคราะห์สาเหตุโดยละเอียด โดยนายหวังฯ กล่าวด้วยว่า เทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงของจีนอยู่ในชั้นแนวหน้า พวกเรายังสามารถมั่นใจรถไฟความเร็วสูงของจีนได้

แต่การชี้แจงเช่นนี้ยังไม่สามารถขจัดความสงสัยที่ภายนอกมีต่อจีนเกี่ยวกับอุบัติเหตุร้ายแรงดังกล่าวได้ ผู้สื่อข่าวจีนได้รวบรวม “คำถาม 5 ข้อ” ทั้งได้นำปัญหาเหล่านั้นไปสอบถามกับผู้เชี่ยวชาญด้วย แน่นอนว่าสาเหตุที่แท้จริงของอุบัติเหตุครั้งนี้ต้องได้รับการตรวจสอบโดยละเอียดเสียก่อน จึงจะสามารถยืนยันสรุปผลได้ แต่คำถามของประชาชนต่อการเกิดโศกนาฎกรรมใด คือ “สิทธิของผู้ประสบภัย” อันเป็นสิ่งที่ต้องเคารพมากที่สุด และเป็นการช่วยอุดรอยรั่วของหลักประกันความปลอดภัยด้วย

ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบรถไฟอธิบายว่า การรถไฟจีนมีความชำนัญด้านเทคโนโลยีและระบบป้องกันการชนท้าย อย่างไรก็ดี การเกิดอุบัติเหตุครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีและการจัดการดังกล่าวยังค่อนข้างหละหลวม

ข้อสงสัยที่ 1: เกิดอุบัติเหตุขึ้นเวลาใดกันแน่?

หลังเกิดอุบัติเหตุรถไฟความเร็วสูงชนท้าย สื่อทางการได้รายงานเป็นครั้งแรกว่าเหตุเกิดเวลา 20.34 น. และสำนักข่าวชินหฺวาก็ออกมารายงานอุบัติเหตุดังกล่าวในช่วงข่าวด่วนที่ออกอากาศเมื่อเวลา 22.04 น.โดยระบุเวลาเกิดเหตุเดียวกันนี้คือ 20.34 น.

แต่นักท่องอินเทอร์เน็ตพบว่า ตั้งแต่วันที่ 24 ก.ค. เป็นต้นมา เวลาเกิดเหตุที่ทางการออกมาแถลงกลับเปลี่ยนเป็น 20.27 น. ผู้สื่อข่าวได้ไปตรวจสอบแล้วพบว่า การเผยแพร่ข่าวในช่วงเที่ยงวันถัดมาของสำนักข่าวซินหฺวา ก็ได้ยึดเวลาเกิดเหตุใหม่นี้เช่นกัน นอกจากนี้ยังมีการรายงานว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่ใช้ชื่อว่า @SMM วิจารณ์บนเว็บบล็อกเว่ยปั๋ว (หรือทวิตเตอร์เวอร์ชั่นจีน) ว่า “พอเกิดฝนฟ้าคะนองแล้วรถจักรเป็นไรไป วิ่งช้ากว่าหอยทากอีกหรือ เรื่องนี้ไม่น่าจะเป็นไปได้” ซึ่งข้อความ 'เตือนภัย' นี้เป็นสัญญาณแรกจากนักท่องเน็ตในไมโครบล็อก เพราะหากยึดตาม @SMM แล้ว เมื่อเวลา 20.27 นาฬิกา เธอเห็นรถไฟความเร็วสูงขบวน D3115 กำลังลดความเร็วลง แต่ขณะนั้นยังไม่เกิดการเสยท้ายกัน ซึ่งมีความสัมพันธ์เชิงตรรกะกับเวลาเกิดเหตุที่ 20.34น. ที่ทางการประกาศแต่แรกมากกว่า และเวลาที่ประกาศออกมาใหม่นั้นเห็นได้ว่า 'ไม่สมเหตุสมผล'

เรื่องการ 'ปรับลด' เวลาเกิดเหตุลง 7 นาทีนี้ ยังไม่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาให้ความกระจ่าง

นอกจากนี้ยังมีรายการข่าวโทรทัศน์ที่รายงานเวลาเกิดเหตุเป็น 20.50 น. และที่ประหลาดยิ่งกว่าคือ ในรายงานข่าวช่วงเวลา 16.12 น.สำนักข่าวซินหฺวากลับมารายงานว่าเหตุเกิดเมื่อเวลา 20.38 น.
คุณพ่อคนหนึ่งสิ้นแรง ร้องไห้โฮ หลังจากที่มาระบุตัวบุตรสาววัย 12 ปี ที่ได้กลายเป็นศพไปแล้วจากอุบัติเหตุรถไฟชนเมื่อวันที่ 23 ก.ค. (ภาพเอเจนซี)
ข้อสงสัยที่ 2: ที่จริงแล้วฟ้าผ่าทำให้อุปกรณ์ส่วนใดเสีย? อุปกรณ์ขับเคลื่อนหรือเครื่องมือสื่อสาร?

โฆษกกระทรวงรถไฟจีนนายหวัง หย่งผิง ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 24 ว่าอุบัติเหตุรถไฟชนกันครั้งใหญ่ '23 ก.ค.' นั้น ในชั้นแรกเข้าใจว่าสาเหตุที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุน่าจะมาจากฟ้าผ่าลงมาทำให้อุปกรณ์เสียหาย ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบโดยละเอียดอยู่ในขณะนี้

แต่การอ้าง 'เรื่องฟ้าผ่า' ของทางการกลับทำให้ประชาชนยิ่งเกิดข้อสงสัยมากขึ้นไปอีก

.ข้อสงสัย “เรื่องฟ้าผ่า” ได้แก่ ที่จริงแล้วฟ้าผ่าลงมาตรงจุดไหน รางรถไฟหรือรถไฟขบวน D3115? พอฟ้าผ่าแล้วทำให้อุปกรณ์ชิ้นไหนเสียหายกันแน่ การขับเคลื่อนหรือการสื่อสาร? เมื่อรถไฟ D3115 สูญเสียการควบคุมแล้ว เหตุใดจึงไม่สามารถแจ้งให้รถไฟขบวนที่ตามมา และฝ่ายอำนวยการระบบรางรถไฟทราบได้? ฝ่ายอำนวยการระบบรางรถไฟเหตุใดจึงไม่สามารถตรวจพบขบวนรถของเส้นทางที่เกิดปัญหาได้? มีชาวเน็ตบางคนตั้งข้อสงสัยอีกด้วยว่า หลังจากกระแสไฟฟ้าดับแล้ว ไม่ได้ใช้ระบบส่งสัญญาเพื่อประกันการส่งข้อมูลฉุกเฉินหรือ? หรือมิฉะนั้นโทรศัพท์มือถือก็สามารถใช้แจ้งข้อมูลเร่งด่วนได้

นายซุน จาง ผู้เชี่ยวชาญด้านรถไฟความเร็วสูงชื่อดังของจีนให้สัมภาษณ์ว่า อุบัติเหตุครั้งนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเทคโนโลยีและการจัดการระบบการส่งสัญญาณของรถไฟจีนยังมีช่องโหว่และค่อนข้างหละหลวม หากยึดตามมาตรฐานการติดตั้งโดยทั่วไปแล้ว แม้ว่าระบบส่งสัญญาณของขบวนรถจักรจะถูกฟ้าผ่าเสียหาย แต่ก็ควรจะมี 'ระบบแบ็กอัพ' ในกรณีเร่งด่วนที่ระบบส่งสัญญาณไม่ทำงาน
ญาติผู้เสียชีวิตคนหนึ่งน้ำตาไหลพรากไม่หยุด หลังจากที่มาระบุตัวญาติที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถไฟชน (ภาพเอเจนซี)
ข้อสงสัยที่ 3: ในขณะที่เกิดเหตุ “ระบบตัดรางอัตโนมัติ” อยู่ที่ไหน?

กระทรวงรถไฟจีนเคยชี้แจงเมื่อปี พ.ศ. 2550 ว่าประเทศจีนได้ริเริ่มการวิจัยระบบตัดรางอัตโนมัติ สามารถควบคุมความปลอดภัยของบนเส้นทางรถไฟสายที่มีรถจักรวิ่งหลายขบวนพร้อมกัน ซึ่งจะช่วยป้องกันอุบัติเหตุรถไฟชนท้ายด้วย ทั้งยังมีระบบควบคุมอัตราความเร็วสูงสุดของรถไม่ให้ขบวนรถวิ่งเร็วเกินที่กำหนดไว้ ซึ่งระบบจะส่งสัญญาณเตือนให้ลดความเร็ว ถ้าหากพนักงานขับรถไม่ลดความเร็ว รถไฟก็จะหยุดวิ่งโดยอัตโนมัติในทันที โดยใช้เวลาเพียง 55 วินาทีในการหยุดวิ่งจากความเร็ว 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

อาจารย์เซี่ย เหว่ยต๋า รองคณบดีสถาบันวิจัยการรถไฟและการคมนาคมด้วยรถรางในเมืองแห่งมหาวิทยาลัยถงจี้ให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวว่า รถจักรและรถไฟของประเทศจีนมีระบบ ATC (Automatic Train Control) ให้รถไฟสามารถทำงานโดยอัตโนมัติได้ ซึ่งระบบนี้ทำหน้าที่รับประกันความปลอดภัย ป้องกันรถไฟเสยท้ายหรือปะทะกัน ซึ่งระบบตัดรางอัตโนมัติก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบนี้

จากคำอธิบายของอาจารย์เซี่ยฯ ในการเดินขบวนรถไฟที่ในปัจจุบันได้ใช้วิธีการตัดรางเพื่อป้องกันรถไฟชนกัน อธิบายโดยง่ายก็คือในเส้นทางรถไฟสายหนึ่งๆ จะแบ่งพื้นที่ตัดรางออกเป็นช่วงๆ (เรียกว่า ตอนสัญญาณ ซึ่งหลักความปลอดภัยกำหนดว่าจะมีรถขบวนเดียวเข้าไปอยู่ในตอนสัญญาณตอนหนึ่ง) พร้อมกับเปิดระบบตัดรางในตอนสัญญาณที่มีรถไฟเดินอยู่ อุปกรณ์รับส่งและไฟสัญญาณต่างๆในตอนสัญญาณจะเปิดไฟแดงเตือนหากขบวนรถไฟอื่นที่ตามมา และศูนย์อำนวยการทั้งคู่จะได้รับไฟสัญญาณสีแดงด้วย

ส่วนข้อสงสัยที่มีผู้เชี่ยวชาญแสดงความเห็นว่าอุบัติเหตุครั้งนี้อาจเกิดจากความบกพร่องของพนักงานขับรถไฟ อาจารย์เซี่ย แสดงความเห็นที่ต่างออกไปว่า หากระบบตัดรางอัตโนมัติทำงาน รางรถไฟช่วงก่อนบริเวณจุดเกิดเหตุจะส่งสัญญาณไฟสีแดง แม้ว่าพนักงานขับรถจะ 'งีบหลับ' ระบบ ATC ก็จะหยุดรถโดยอัตโนมัติอยู่ดี
ระหว่างการแถลงข่าววันที่ 24 ก.ค. เกี่ยวกับอุบัติเหตุรถไฟความเร็วสูงชนท้ายที่เวินโจว โฆษกกระทรวงรถไฟจีน นาย หวัง หย่งผิง โค้งตัวเป็นคันศร กล่าวขอโทษแก่เหยื่อผู้ประสบภัยจากอุบัติเหตุรถไฟชน ขณะที่กระแสความโกรธแค้นท่วมท้นสังคมออนไลน์จีน ชี้ คำขอโทษไม่เพียงพอ มีแต่การตรวจสอบและชี้แจงสาเหตุอุบัติเหตุเท่านั้นที่จะเพียงพอ (ภาพเอเจนซี)
ข้อสงสัยที่ 4: เหตุใดรถไฟขบวน D301 จึงมาวิ่งอยู่ข้างหลังขบวน D3115 ได้?

ตามตารางการเดินรถ D3115 จากหังโจวไปฝูโจว (สถานีใต้) ระบุว่า เวลา 19.12 น. ถึงไถโจว, 19.23 น.ถึงเวินหลิ่ง, 19.57 น.ถึงเวินโจว (ใต้), ส่วนขบวนรถ D301 วิ่งจากปักกิ่ง (สถานีใต้) ไปฝูโจว เวลา 19.00 น. ถึงไถโจว, 19.12 น.ถึงเวินหลิ่ง แล้วเหตุใดขบวน D301 ถึงไปวิ่งอยู่หลังขบวน D3115 ได้?

หลังการสอบถามผู้สื่อข่าวพบว่า ขบวน D301 เป็นรถไฟใหม่ที่เพิ่งวิ่งใช้งานตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. และอยู่ในการควบคุมของสำนักการรถไฟปักกิ่ง ทั้งยังเป็นขบวนรถไฟที่วิ่งด้วยระยะทางไกลที่สุดด้วย โดยวิ่งจากปักกิ่ง ผ่านเหอเป่ย เทียนจิน ซันตง เจียงซู ซั่งไห่ เจ้อเจียง และฝูเจี้ยน รวมแปดมณฑล/มหานคร อัตราความเร็วอยู่ที่ 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้เวลาทั้งสิ้น 13 ชั่วโมง 36 นาที

จากตารางเดินรถ หากขบวน D3115 มาถึงสถานีฝั่งใต้ของเมืองเวินโจวอย่างตรงเวลา คือ 19.57 น. ขบวนรถไฟ D301 ควรถึงเวินโจว 19.42 น. รถไฟทั้งสองขบวนควรวิ่งถึงเวินโจวเหลื่อมกัน 15 นาที โดยขบวน D301 ควรถึงก่อนขบวน D3115 ฉะนั้นตามเหตุผลแล้วไม่ควรเกิดการชนท้ายในลักษณะที่เกิดอุบัติเหตุครั้งนี้

อุบัติเหตุครั้งนี้เกิดเมื่อเวลา 20.27 น.ของวันที่ 23 ก.ค. สถานที่คือก่อนถึงสถานีใต้ของเมืองเวินโจว 10 กิโลเมตร หากวิเคราะห์ความล่าช้าของรถไฟทั้งสองขบวนจากเหตุสภาพอากาศแล้ว พบว่าขบวน D301 นั้นต้องวิ่งเข้ามาถึงสายกว่าขบวน 3115 เสียอีก

ข้อสงสัยที่ 5:เหตุใดจึงต้อง “ขุดหลุมฝังกลบ” ?

นายเฉิน อี้ว์เจี๋ย ผู้สื่อข่าวสถานีคมนาคมแห่งเจ้อเจียงได้เข้าไปเก็บภาพบริเวณที่เกิดเหตุ พบรถขุดดิน (แบ็กโฮ) เจ็ดแปดคันอยู่ในบริเวณนั้น ซึ่งมาขุดดินบริเวณที่ขบวนรถไฟตกลงมา เป็นหลุมขนาดใหญ่กว่า 10 เมตร รถแบ็กโฮได้ทำลายตัวรถโดยตรง ทั้งยังได้นำชิ้นส่วนของรถมาบดบี้ จากนั้นก็โยนลงไปในหลุมเอาดินกลบฝัง

ข่าวการขุดหลุมที่แพร่กระจายไปในเว็บบล็อกนี้ ทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยตั้งข้อสงสัยว่าการฝังกลบขบวนรถนี้เป็น “การทำลายหลักฐาน” ซึ่งในเรื่องนี้ ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบได้ออกมาชี้แจงว่าการขุดหลุมดังกล่าวมิได้เพื่อฝังกลบขบวนรถ แต่เป็นการเตรียมพื้นที่ให้รถยกขนย้ายซากรถไฟออกจากสะพาน ซึ่งจำเป็นต้องใช้รถยกขนาด 300 ตัน และรถยกจำเป็นต้องมีพื้นที่ว่างในการปฏิบัติงานดังกล่าว

ห้าคลิปสลด อุบัติเหตุรถไฟหัวกระสุนจีนฯ ที่เวินโจว
กำลังโหลดความคิดเห็น