เอเยนซี - จีนสั่งการให้สื่อในสังกัดรัฐหยุดสืบสาวราวเรื่องจำนวนผู้เสียชีวิต จากเหตุรถไฟความเร็วสูงเส้นทางปักกิ่ง-ฝูเจี้ยน พุ่งชนท้ายรถไฟฯ ขบวนหังโจว-ฝูโจวตกสะพาน ณ เมืองเวินโจว มณฑลเจ้อเจียง เมื่อคืนวันเสาร์ที่ผ่านมา (23 ก.ค.) อันจะเป็นเหตุกระตุ้นความโกรธเคืองในบรรดาประชาชน และก่อให้เกิดคำถามเกี่ยวกับการพัฒนาระบบรถไฟของจีนที่เร็วเกินไป
ทั้งบล็อกเกอร์จีนและสำนักข่าวไชน่าดิจิตัลไทม์ส เผยว่า “นักข่าวถูกสั่งให้นำเสนอเฉพาะประเด็น “สะเทือนอารมณ์” หรือเรื่องที่มีเนื้อหาซาบซึ้งเท่านั้น และห้ามตั้งคำถามเกี่ยวกับความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่รัฐต่อความพินาศที่ได้คร่าชีวิตคนไปอย่างน้อย 39 ศพ (ตามรายงานของรัฐบาลจีน)”
รัฐมนตรีกระทรวงรถไฟจีนออกมาชี้แจงว่า อุบัติเหตุเมื่อวันเสาร์ที่ส่งผลให้ผู้คนเกือบ 200 ได้รับบาดเจ็บนั้นถือว่าเป็นอุบัติเหตุจากรถไฟความเร็วสูงที่รุนแรงสุดที่จีนเคยประสบ และครั้งนี้ถือว่าเป็นบทเรียนที่ขมขื่นของจีน
“พวกเราต้องกลั่นกรอง ตรวจสอบและไตร่ตรองบทเรียนที่ได้รับเหล่านี้อย่างลึกซึ้ง และพวกเราต้องเตือนตัวเองให้ฟื้นจากฝันร้าย และหันมาตั้งใจตรวจสอบแก้ไขปัญหาระบบความปลอดภัยจะดีกว่า” เซิ่ง กวงจู่ รมต.รถไฟชี้
ทั้งขอโทษทั้งชดเชย แต่มิอาจฟื้นภาพลักษณ์
สำนักข่าวซินหวาเผย กระทรวงรถไฟจีนจ่ายเงิน 500,000 หยวน (78,000 เหรียญ) เป็นค่าชดเชยสำหรับเหยื่อแต่ละราย
เพื่อแสดงความรับผิดชอบ ก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ไล่เจ้าหน้าที่รถไฟฯ ระดับสูงออก 3 คน พร้อมกับประกาศยกระดับความปลอดภัยรถไฟความเร็วสูงจีนขึ้นสู่ระดับ “ฉุกเฉิน”
แต่ไม่ว่ารัฐจะเคลื่อนไหวกู้ภาพลักษณ์อย่างไรก็ไม่สามารถทำให้กระแสวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นการรับมือปัญหาวินาศภัยลดลงได้ โดยเฉพาะความแคลงใจต่อรายงานที่รัฐอ้างว่า “สาเหตุที่รถไฟขบวนหน้าหยุดนิ่งเพียงเพราะถูกฟ้าผ่า”
แม้ว่ารัฐจะสั่งห้ามการนำเสนอข่าว แต่หลายคำถามก็ยังคงผุดขึ้นมาไม่ขาดสาย เช่น ทำไมคนบังคับรถไฟขบวนที่สองที่เสยขบวนหน้า ถึงไม่ได้รับคำสั่งอย่างทันท่วงทีให้หยุดขบวนรถฯ
สื่อรัฐเองยังมิวายวิจารณ์ฯ
สื่อทางการแม้แต่ไชน่าเดลียังออกมาเผยเมื่อวาน (26 ก.ค.) ว่ายังมีคำถามที่ไร้คำตอบเกี่ยวกับระบบการแจ้งเตือนฯ พร้อมกับยกคำกล่าวของผู้เชี่ยวชาญว่า สาเหตุของอุบัติเหตุในครั้งนี้คือปัญหาเรื่อง “การจัดการการสื่อสาร”
ส่วนหน้าแรกของหนังสือพิมพ์โกลบอลไทม์ส กระบอกเสียงรัฐบาลจีน ยังพาดหัวว่า “ความโกรธทวีเมื่อไร้คำตอบจากรัฐ” พร้อมกับไปสัมภาษณ์สมาชิกครอบครัวของเหยื่อ พวกเขาก็ตั้งคำถามเกี่ยวกับยอดผู้เสียชีวิตอีกว่า “39 ใช่ตัวเลขคนตายจริงหรือ”
ในคอลัมน์วิพากษ์วิจารณ์ มีความเห็นหนึ่งระบุว่า ความปลอดภัยควรจะเป็นหัวใจหลักของการพัฒนาของจีน แต่จีนก็ไม่เลิกทำงานแบบลวก ๆ บางทีก็ทำเป็นตาบอด ไม่ใส่ใจคุณภาพ
แม้กระทั่งสำนักข่าวของรัฐอย่างซินหวา ก็ยังตีพิมพ์บทความกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่ล้นหลามต่ออุบัติเหตุดังกล่าว โดยระบุว่า “สิ่งที่รัฐบาลทำลงไปหลังจากเกิดเหตุการณ์ฯ เหมือนกับไม่ได้ทำให้ประชนฟื้นความเชื่อถือรัฐขึ้นมาได้เลย”
อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวซึ่งมีความเห็นของผู้รอดชีวิต ชาวเน็ตและนักวิเคราะห์ มีตีพิมพ์เป็นเพียงภาษาอังกฤษเท่านั้น ไม่มีเป็นภาษาจีน ซึ่งก็หมายความว่า สัญญาณไม่ดีเหล่านี้ถูกส่งไปให้ชาวต่างชาติที่ติดตามข่าวจีนเท่านั้น
เสียงวิจารณ์บนโลกอินเทอร์เน็ตดังขึ้นเรื่อย ๆ บรรดานักเขียนบล็อกเกอร์ต่างโกรธเคืองอย่างมาก
ทง ต้าหวน ชื่อแฝงบล็อกเกอร์คนหนึ่งเขียนข้อความว่า “บางทีความจริงที่เราต้องเจอก็คือ เราต้องมารับผลกรรมจากการพัฒนาที่เร็วจนเกินไป”
ผลกระทบข้างเคียง
หุ้นบริษัทรถไฟก็ตกลงมาอีกเมื่อวันอังคาร แม้ว่าเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาจะไม่ได้ตกแบบฮวบฮาบก็ตาม
หุ้นในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ ของบริษัท China South Locomotive and Rolling Stock (CSL) ซึ่งมีส่วนสร้างรถไฟที่ประสบอุบัติเหตุทั้งสองขบวน ปิดตัวที่ 3.6 เปอร์เซ็นต์
ระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูงจีนเปิดให้บริการกับผู้โดยสารเมื่อปี 2550 แต่ก็พัฒนาเติบโตรวดเร็วจนน่ากลัว เพื่อต้องการเอาหน้ากับรัฐบาล ที่ทุ่มงบมหาศาลและต้องการให้มีเครือข่ายรถไฟยาวสุดในโลกที่ 8,358 กม. เมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา
รถไฟที่ประสบอุบัติเหตุเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาเป็นรถไฟความเร็วสูงจีนรุ่นแรก และออกแบบให้วิ่งที่ความเร็วสูงสุด 250 กม. ต่อชั่วโมง
ซึ่งต่อมาจีนได้หันมาใช้ชุดรถไฟรุ่นที่ 2 (เช่นสายปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้) ซึ่งสามารถวิ่งได้เร็วสุดถึง 380 กม. ต่อชั่วโมง แต่วิ่งจริงได้ไม่เกิน 300 กม. ต่อชั่วโมงเพื่อความปลอดภัย
สื่อจีนชำแหละ วิธีคิดแบบราชการล้าหลังเกินรับได้
สำนักข่าวโกลบอลไทม์ส เปรียบเปรยวิธีคิดแบบ “ระบบราชการ” ของเจ้าหน้าที่จีน กับ “ระบอบประชาธิปไตยเพื่อสาธารณะ” บนอินเทอร์เน็ต ในช่องบทบรรณาธิการซึ่งถือเป็นการวิจารณ์รุนแรงอย่างไม่เคยเกิดมาก่อนทั้งฉบับภาษาอังกฤษและภาษาจีน ระบุว่า
“พวกเขา (รัฐบาล) คุ้นเคยแต่การขุดเรื่องอดีตมาชื่นชมเวลาเจอวิกฤติ และก็เชื่อฝังหัวว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยระเบียบวิธีแบบราชการแบบเก่า” หนังสือพิมพ์ระบุ
“อย่างไรก็ตาม มติมหาประชาชนคนจีนมิอาจรับความคิดแบบนี้ได้อีกต่อไป”
ผลสำรวจออนไลน์ทางเว็บ Sina และบริการทวิตเตอร์ ซึ่งมีคนกว่า 35,600 คนเข้าร่วมตอบแบบสอบถาม ปรากฏว่า ร้อยละ 97 ไม่เชื่อว่าสิ่งที่โฆษกกระทรวงการรถไฟพูดเป็นความจริง
ฝ่ายกระทรวงโฆษณาการของจีน มีคำสั่งจำกัดการรายงานข่าวอุบัติเหตุรถไฟอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเป็นความลำบากใจของรัฐบาล
สื่อจีน เดอะ ไชน่า ดิจิตัล ไทม์ส ถูกสั่งให้รายงานข่าวเฉพาะเรื่องราวด้านบวก เช่น การบริจาคโลหิต และการให้บริการแท็กซี่ฟรี ฯ โดยคำสั่งทางการจีนระบุว่า “อุบัติเหตุในครั้งนี้เป็นโศกนาฏกรรมของจีน และประเด็นความรักที่ยิ่งใหญ่ สายธารน้ำใจเป็นประเด็นหลักที่ต้องนำเสนอ”
“อย่าตั้งคำถาม อย่าอธิบาย เราไม่อนุญาตให้โพสต์ข้อความใด ๆ ลงไมโครบล็อกด้วย”
หนังสือพิมพ์พีเพิลเดลี กระบอกเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์จีนจึงได้นำเสนอเรื่องราวเมื่อวันอังคารเกี่ยวกับวิธีการที่ชาวบ้านในหมู่บ้านที่เห็นเหตุการณ์เข้าไปช่วยผู้ประสบภัยหลังจากการชนท้าย ตามที่รัฐบาลต้องการ