เหตุการณ์ประท้วงใหญ่ของแรงงานอพยพใน ซินถัง ชานเมืองกว่างโจว (กวางเจา) เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา นับเป็นข่าวครึกโครมสำหรับผู้สนใจความเป็นไปในจีน รายงานข่าวบางชิ้นอธิบายว่าเหตุการณ์เกิดจาก “น้ำผึ้งหยดเดียว” คือการที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยทำร้ายร่างกายแรงงานอพยพ เพื่อรีดไถเงิน บ้างก็สรุปว่าเกิดจากการกดขี่แรงงานอพยพจนสุดกลั้น คำอธิบายเหล่านี้ไม่ “ผิด” แต่ก็ไม่ “ถูก” เสียทั้งหมด เพราะยังมีปัจจัยอื่น ๆ รอบด้านที่ไม่ได้กล่าวถึง
เราจำเป็นต้องหาคำอธิบายที่ทรงพลัง สำหรับการทำความเข้าใจการประท้วงของแรงงานอพยพในเมือง ด้วยคาดว่าการเคลื่อนไหวประท้วงของแรงงานอพยพในเมืองใหญ่ น่าจะมีอีกหลายครั้ง แต่จะปรากฏเป็นข่าวให้เรารับรู้หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง (อย่าลืมว่าสื่ออยู่ในมือรัฐ) เพราะแรงงานอพยพทั่วประเทศจีนมีจำนวนมาก การสำรวจเมื่อปี 2010 ชี้ว่าจนถึงปี 2010 มีแรงงานอพยพทั่วประเทศจีนราว 230 ล้านคน และคาดว่าภายในปี 2012 ตัวเลขจะทะลุหลัก 250 ล้านคน
การประท้วงที่ “ซินถัง” เป็นเพียง “สะเก็ดไฟเล็กๆ” ที่กระเด็นออกจาก “กองเพลิงใหญ่” หากต้องการเข้าใจการประท้วงที่ “ซินถัง” ได้อย่างแจ่มชัด จำต้องเข้าใจ “ปรากฏการณ์แรงงานอพยพ” อันเป็น “กองเพลิงใหญ่” เสียก่อน
กำเนิดปรากฏการณ์แรงงานอพยพ
นโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศของเติ้ง เสี่ยวผิงซึ่งเริ่มในปลายทศวรรษ 1970 ทำให้เศรษฐกิจจีนพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว กระทั่งก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างไพศาลในพื้นที่เมืองและชนบท การเติบโตของเศรษฐกิจภาคเมืองอย่างรวดเร็ว จนถึงขั้นเกิดความต้องการแรงงานราคาถูกจำนวนมหาศาล เพื่อหล่อเลี้ยง การเติบโตของเมืองอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดปรากฏการณ์แรงงานอพยพจากชนบทสู่เมืองเริ่มในปี 1992 กอปรกับในระยะเดียวกัน เศรษฐกิจชนบทเองก็เริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลง ด้วยเกิดการผลิตภาคเกษตรแบบเข้มข้นที่ต้องอาศัยทุนเป็นปัจจัยสำคัญมากขึ้น รวมทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อม อันเกิดจากการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ทำให้เกษตรกรชนบทจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถปรับตัวเท่าทันกับความเปลี่ยนแปลง สูญเสียทรัพยากรในการผลิต กระทั่งจำต้องหอบผ้า บ่ายหน้าเข้าเมืองใหญ่ เพื่อหารายได้เลี้ยงครอบครัว โดยคาดหวังว่าชีวิตจะดีขึ้น
แรงงานอพยพชาย มักเข้ามาทำงานเป็นช่างก่อสร้างในเมือง ส่วนแรงงานอพยพหญิง ก็มักประกอบอาชีพแรงงานราคาถูกในโรงงาน เช่น เย็บผ้า จากการสำรวจของสื่อหลายสำนักพบว่าแต่ละปีจะมีแรงงานอพยพจากชนบทสู่เมืองราว 13 ล้านคน โดยแรงงานอพยพส่วนใหญ่มาจากมณฑล ซื่อชวน, หูหนัน, เหอหนัน, อันฮุย และเจียงซี และมักบ่ายหน้าอพยพสู่เมืองใหญ่ทางภาคตะวันออก โดยเมืองยอดนิยมได้แก่ ปักกิ่ง, เซี่ยงไฮ้, เซินเจิ้น และ เมืองชายฝั่งทะเลอื่น ๆ เฉพาะในปักกิ่งคาดว่ามีแรงงานอพยพอย่างน้อยราว 4 ล้านคน
คลื่นมนุษย์ที่อพยพเข้าสู่ภาคเมืองมหาศาลนี้ทำให้ไม่น่าแปลกใจเลยว่า เมื่อถึงวันหยุดยาวช่วงตรุษจีน จะพบเห็นปรากฏการณ์คลื่นมนุษย์แออัดกันกลับบ้านเกิด จนเกิดปัญหาแย่งชิงตั๋วรถไฟขั้นวิกฤต ประมาณกันว่า ตรุษจีนแต่ละปีจะมีแรงงานอพยพเดินทางกลับบ้านเกิดเป็นจำนวนถึง 130 ล้านคน
แรงงานอพยพและความเปลี่ยนแปลงของชนบท
แรงงานอพยพต่างคาดหวังถึงชีวิตที่ดีขึ้น เมื่อมาเผชิญโชคในเมืองใหญ่ รายได้ส่วนหนึ่งที่หาได้นอกจากจะใช้จ่ายแล้ว ยังถูกแบ่งเป็นการเก็บออมสำหรับลงทุนในอนาคต อีกส่วนหนึ่งก็ถูกส่งไปยังภูมิลำเนา พวกเขาจึงเป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทในการเชื่อมต่อเศรษฐกิจภาคเมืองและชนบทในทางอ้อม รวมทั้งก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางเศรษฐกิจ-สังคมของชนบทด้วย เนื่องจากแรงงานอพยพมี 2 ประเภทคือ กลุ่มอพยพถาวรโดยไม่คิดกลับไปบ้านเกิดเลย นอกจากเยี่ยมเป็นครั้งคราว และกลุ่มอพยพชั่วคราวที่หวังว่าจะกลับไปใช้ชีวิตบั้นปลายในบ้านเกิด หากประสบความสำเร็จ ในการสะสมทุนจำนวนหนึ่งจากการทำงานในเมือง
กลุ่มอพยพชั่วคราวมักเข้ามาทำงานในเมืองราว 8 เดือน เมื่อถึงฤดูใบไม้ผลิ และฤดูใบไม้ร่วงก็มักเดินทางกลับบ้านเกิดเพื่อนไปทำการเกษตร โดยอาศัยเงินที่ได้จากการทำงานในเมืองเป็นทุน นอกจากนี้รายได้ที่ถูกส่งไปบำรุงบ้านเกิดในชนบท ยังนำไปสู่การผุดขึ้นของบ้านเรือนทันสมัยที่อุดมไปด้วยเครื่องอำนวยความสะดวกในแบบสังคมเมือง เช่น โทรทัศน์ และตู้เย็น หลายรายที่สามารถเก็บเงินพอที่จะทำทุนกิจการเล็กได้ หลังจากเป็นแรงงานอพยพในเมืองใหญ่มาหลายปี ก็มักนำเงินที่ได้ไปลงทุนเปิดกิจการเล็กในบ้านเกิด เช่นร้านขายของชำ พวกเขาจึงมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของชนบทอย่างมาก
ข้อจำกัดของแรงงาน และ “เมือง” ซ้อน “เมือง”
ระบบฮู่โค่ว (户口)หรือการลงทะเบียนครัวเรือนของจีน ที่กำหนดสิทธิประโยชน์ที่พลเมืองพึงได้ตามภูมิลำเนาที่ได้ลงทะเบียนไว้ ก่อปัญหาให้กับแรงงานอพยพอย่างมาก เนื่องจากพวกเขาเป็นคนชนบทที่อพยพสู่เมืองทำให้ไม่มีชื่ออยู่ในระบบ ส่งผลให้ไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการที่รัฐจัดสรรให้ ขณะเดียวกันระบบนี้ก็ถูกออกแบบขึ้น เพื่อกันมิให้แรงงานจากชนบทไหลทะลักสู่เมืองมากเกินไป เมื่อไม่มีเอกสารแสดงตนว่าเป็นพลเมืองในเมืองตามที่ระบุในระบบฮู่โค่ว ก็เท่ากับเป็นคนเถื่อน ที่ไม่ได้อยู่อาศัยอย่างถูกต้องตามระบบ แรงงานอพยพก็มักถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจในเมืองรีดไถได้ง่าย ถึงแม้ปัจจุบันจะมีการผ่อนคลายกฎระเบียบบ้าง แต่ก็ยังขาดการปฏิรูประบบอย่างแท้จริง ทำให้แรงงานอพยพยังเผชิญปัญหาอยู่
การที่ต้องเผชิญกับปัญหานานัปการในเขตเมือง อาทิ ค่าครองชีพแพง ที่อยู่อาศัย และการกดขี่ว่าเป็น “พลเมืองชั้นสอง” ทำให้แรงงานอพยพเลือกที่จะอาศัยอยู่ในบริเวณที่ใกล้เคียงกัน จนทำให้เกิด “เมือง” ซ้อน “เมือง” หรือ ชุมชนของแรงงานอพยพขนาดใหญ่ขึ้นในพื้นที่ส่วนหนึ่งของเมือง (แบบเดียวกับไชน่าทาวน์ที่ผุดตามเมืองต่าง ๆ ในต่างประเทศ ต่างแค่ในที่นี้เป็นชุมชนแรงงานอพยพชาวจีนในประเทศจีน) การอาศัยอยู่ในชุมชนที่ทำให้เกิดการพึ่งพา และพบเห็นซึ่งกันและกัน กระทั่งนำมาสู่การจัดสร้างสวัสดิการเพื่อเลี้ยงคนในชุมชนด้วยตัวเอง
ด้วยพื้นที่อันจำกัด ผมขอจบบทความเพียงเท่านี้ ส่วนคราวหน้าจะเป็นการลงลึกถึง “ชีวิต ความคาดหวัง และสำนึกร่วมของแรงงานอพยพในเขตเมือง”