xs
xsm
sm
md
lg

อาหารปนเปื้อนไต้หวัน ยิ่งสาวยิ่งช็อก! พบDEHPในอาหารเด็กเกินขีดปลอดภัยกว่าพันเท่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรณีอื้อฉาวสารพลาสติสไซเซอร์ปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์อาหารไต้หวันยิ่งโดนแฉอย่างเลวร้ายราวพายุหิมะที่ทวีความรุนแรง ในภาพ:เจ้าหน้าที่รุมถ่ายภาพบริษัทอาหารจินกั่วหวังในย่านซื่อหลินเมื่อวันที่ 30 พ.ค. จินกั่วหวังจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารอาทิ น้ำผลไม้ ผงชูรส และอื่นๆที่มีสารปนเปื้อนพลาสติไซเซอร์ (ภาพซินหวา)
เอเจนซี- ไต้หวันลุย“ดี-เดย์” (31 พ.ค.) กวาดล้างผลิตภัณฑ์อาหารปนเปื้อนสารอันตรายพลาสติไซเซอร์ DEHP พบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับเด็กประเภทโปรไบโอติก อาหารเสริมสำหรับเด็ก ‘DODO’ มี DEHP ถึง 2108 ppm และ 1675 ppm ซึ่งเกินขีดปลอดภัยกว่า 1,000 เท่า ผู้เชี่ยวชาญชี้สารพลาสติไซเซอร์อันตรายกว่าเมลามีน 20 เท่า!

กรณีอื้อฉาวสารพลาสติสไซเซอร์ปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์อาหารไต้หวันยิ่งโดนแฉอย่างเลวร้ายราวพายุหิมะที่ทวีความรุนแรง โดยเจ้าหน้าที่พบผลิตภัณฑ์อาหารปนเปื้อนฯระบาดไปทั่ว ทั้งในตลาดกลางคืนชื่อดังของนครไทเปอย่างตลาดซื่อหลิน รายงานข่าวของสื่อจีนในวานนี้(31 พ.ค.) ระบุมีบริษัทในไต้หวันอย่างน้อย 156 ราย ที่เกี่ยวข้องกับกรณีอื้อฉาว DEHP และพบผลิตภัณฑ์ที่มีสารปนเปื้อนพลาติไซเซอร์ มากกว่า 500 รายการแล้ว

นอกจากนี้ ยังพบผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม 3 ชนิดของบริษัทชั้นนำไต้หวัน “ถ่งอี กรุ๊ป” ได้แก่ เครื่องดื่มเกลือแร่เสริมสุขภาพ น้ำแอสพารากัส และเครื่องดื่มเกลือแร่โซเดียมต่ำ 7-SELECT มีสารปนเปื้อนพลาสติไซเซอร์ด้วย ซึ่งผลิตภัณฑ์ 3 ชนิดนี้ ถูกโละลงจากชั้นจำหน่ายในไต้หวันแล้ว สำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มยี่ห้อดังของไต้หวันที่พบสารปนเปื้อน DEHP ได้แก่ Yes, Taiwan Yes และ SunKist

คุณแม่รายหนึ่งในไต้หวัน เมื่อรับรู้ข่าวการตรวจพบสารพิษ DEHP ปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับเด็ก ก็รีบพาลูกที่กินผลิตภัณฑ์อาหารเสริมมาเป็นเวลานานไปยังโรงพยาบาลให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ปรากฏว่าปัสสาวะเด็กมีเลือดปน แต่ก็ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด

ทั้งนี้ พลาสติกไซเซอร์เป็นสารที่ใช้ผสมในโพลิเมอร์หรือผลิตภัณฑ์พลาสติก มีหลายตัว นอกจาก DEHP แล้ว ก็ยังมีอาทิ DNOP, BBP, DBP, DINP, DIDP ตามกฎระเบียบของสำนักงานควบคุมอาหารและยา (อย.)ไต้หวันระบุว่าปริมาณสาร DEHP ในผลิตภัณฑ์พลาสติกหรือของเล่นเด็กห้ามเกิน1.5 ppm และห้ามใส่ลงในอาหารหรือเครื่องดื่ม เพราะการบริโภคสารดังกล่าวเป็นเวลานานจะทำลายตับและไต ไปถึงขึ้นเป็นมะเร็ง

สำนักข่าวไทยรายงานคำกล่าวของ นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาไทย ระบุว่าผู้บริโภคอาจจะได้รับสาร DEHPจากการใช้ภาชนะพลาสติกพีวีซี บรรจุอาหาร จึงมีข้อห้ามใช้กับอาหารที่มีไขมันมาก ประเทศต่างๆก็ได้มีการเฝ้าระวังและตรวจสอบผลิตภัณฑ์พลาสติกอย่างเข้มงวด ขณะที่สารดังกล่าวยังสามารถใช้ผสมอาหาร เนื่องจากมีคุณสมบัติทำให้สารละลายไม่ตกตะกอน เครื่องดื่มจะดูเข้มข้นเสมอกันตลอดขวด แต่มีข้อห้ามไม่ให้เกิน 15 ppm หรือ 15 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งผลที่เกิดขึ้นหากร่างกายได้รับสารในปริมาณมากและเป็นเวลานาน จะมีผลก่อให้เกิดสารก่อมะเร็งและมีบุตรยาก

ไต้หวันเผชิญวิกฤตความปลอดภัยอาหารครั้งใหญ่จากการตรวจสอบคุณภาพอาหารทั่วประเทศ ที่เผยออกมาเมื่อวันที่ 23 พ.ค. โดยเจ้าหน้าที่พบสาร DEHP ปนเปื้อนในคลาวดิ่ง(Clouding agent) ที่ผสมในเครื่องดื่มเกลือแร่ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเครื่องดื่มน้ำผลไม้บางกลุ่มก็พบพลาสติไซเซอร์ตัวอื่นๆปนเปื้อนด้วยได้แก่ DNOP, BBP, DBP, DINP, DIDP

สำหรับคลาวดิ่ง กฎหมายให้การรับรองเป็นสารปรุงแต่งอาหาร คลาวดิ่งเป็นเคมีอาหารชนิดหนึ่ง มีคุณสมบัติช่วยเพิ่มความขุ่นให้กับเครื่องดื่ม , ทำให้ผลิตภัณฑ์มีลักษณะดีขึ้น น่าบริโภคมากขึ้น ผู้ผลิตจึงมักใช้ในน้ำผลไม้ ,เยลลี่ผลไม้, ส่วนผสมของผงโยเกิร์ต และเครื่องดื่มชนิดอื่น ๆ

รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขไต้หวัน นาย ชิว เหวินต๋าได้ประกาศ (28 พ.ค.) ห้ามสารพลาสติไซเซอร์ 6 ชนิด ผสมในคลาวดิ่งที่ใช้ในผลิตภัณฑ์อาหาร 5 ประเภท ได้แก่ เครื่องดื่มเกลือแร่ น้ำผลไม้ ชา แยมผลไม้หรือไซรัป ตลอดจนผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดเม็ดหรือผง โดยคลาวดิ่งที่จะใช้ในผลิตภัณฑ์อาหารทั้ง 5 ประเภทนี้ จะต้องมีใบอนุญาตซึ่งรับรองว่าไร้สารพลาสติไซเซอร์ทั้ง 6 ตัวนี้ มิฉะนั้นล้ว ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะถูกห้ามจำหน่ายจ่ายแจก

นอกจากนี้ ชิวได้ประกาศกำหนดวันอังคารที่ 31 พ.ค.เป็นวันดี-เดย์ในการปราบปรามผลิตภัณฑ์อาหารปนเปื้อนพลาสติกไซเซอร์

ผู้อำนวยการสำนักงานอาหารและยา (อย.) แห่งไต้หวัน นาย คัง เจ้าโจว กล่าวว่าอย.ไต้หวันได้สั่งการผู้จัดจำหน่ายให้เรียกเก็บคืนอาหารและเครื่องดื่มทั้งหมดที่มีคลาวดิ่ง และจะส่งสินค้าเหล่านี้คืนแก่ร้านค้าหลังจากที่เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบและออกใบอนุญาตรับรองความปลอดภัยแล้วเท่านั้น

นายกเทศมนตรีไถ่เป่ย (ไทเป) กล่าวว่าไทเปได้ตั้งศูนย์บริการตรวจสอบ DEHP ฟรีใน 12 เขตของเมือง โดยให้บริการทั้งผู้อาศัยในเป รวมทั้งผู้บริโภคทุกคนในไต้หวันด้วย พร้อมสัญญาว่าจะขยายศูนย์บริการฯไปยังที่อื่นๆ

นอกจากนี้ โรงพยาบาลในนครไทเป อาทิ โรงพยาบาลเหลียนเหอได้ร่วมเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับอันตรายของสารพลาสติไซเซอร์ และในวันที่ 10 เดือนมิ.ย.เป็นต้นไป โรงพยาบาลเหลียนเหอสาขาต่างๆก็จะเปิดบริการให้ข้อมูลเกี่ยวกับสารพลาสติไซเซอร์ ให้ประชาชนได้รู้ถึงอันตรายของมัน

ผู้เชี่ยวชาญสำนักงานการวิจัยด้านอาหาร แห่งมหาวิทยาลัยไต้หวัน นาง ซุน ลู่ซี เผยว่าสาร DEHP มีพิษร้ายแรงมากกว่าเมลามีน 20 เท่า คนที่กินเครื่องดื่มที่ปนเปื้อนสารตัวนี้ 500 มิลลิลิตร ก็นับว่าเกินขีดจำกัดการบริโภคภายในหนึ่งวันแล้ว กรณีอื้อฉาวสารพิษปนเปื้อนในอาหารครั้งนี้ ร้ายแรงมากที่สุดในรอบ 30 ปีนี้เท่าที่เธอได้พบเห็นมา.
7-SELECT หนึ่งในผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มของบริษัทชั้นนำในไต้หวัน “ถ่งอี กรุ๊ป” ก็โดนตรวจพบสารพลาสติไซเซอร์
ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มจากไต้หวันบางกลุ่มยังมีวางขายที่ซูเปอร์มาร์เก็ตในนครเซี่ยงไฮ้ พนักงานซูเปอร์มาร์เก็ตบอกกว่าพวกเขาไม่ได้รับคำสั่งเก็บสินค้าเหล่านี้ ซึ่งมีใบรับรองคุณภาพ (ภาพอีสต์เน็ต)
โรงพยาบาลเหลียนเหอในนครไทเป เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับอันตรายของสารพลาสติไซเซอร์ ซึ่งมีหลายตัวอาทิ DEHP, DNOP, BBP, DBP, DINP, DIDP และในวันที่ 10 เดือนมิ.ย.เป็นต้นไป โรงพยาบาลเหลียนเหอสาขาต่างๆก็จะเปิดบริการให้ข้อมูลเกี่ยวกับสารพลาสติไซเซอร์ (ภาพซินหวา)
กำลังโหลดความคิดเห็น