xs
xsm
sm
md
lg

ชาวจีนรู้สึกแย่ ผจญวิบากกรรมอาหารปนเปื้อนระลอกใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ถุงบรรจุสารปรุงแต่งอาหารในร้านแห่งหนึ่งที่กรุงปักกิ่ง ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 25 เม.ย.2554 – เอเอฟพี
เอเอฟพี - สังคมจีนต้องมีชีวิตอยู่อย่างหวาดผวาความปลอดภัยด้านอาหารอีกครั้ง หลังจากเกิดข่าวครึกโครมเกี่ยวกับอาหารปนเปื้อนสารพิษติด ๆ กันหลายเรื่องเมื่อเร็ว ๆ นี้ แม้รัฐบาลจีนประกาศกร้าวล้างบางอุตสหกรรมอาหาร ภายหลังนมปนเปื้อนสารเมลามีนระบาดเมื่อ 3 ปีก่อนแล้วก็ตาม
ฝิ่นเป็นส่วนประกอบอาหารต้องห้าม แต่พ่อค้าหัวใสกลับนิยมใช้ผสมในเครื่องชูรสอาหารประเภทสุกี้หม้อร้อนที่ร้านอาหารในเมืองอี้ชาง, มณฑลหูเป่ย ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 25 เม.ย.2554 – เอเอฟพี
ข่าวเนื้อหมู, นม และข้าวปนเปื้อนสารพิษ ที่เกิดขึ้นในช่วงไมีกี่สัปดาห์ ที่ผ่านมา สะท้อนว่ารัฐบาลจีนไร้ฝีมือในการควบคุมดูแลอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งมีขนาดใหญ่ของประเทศ

นายกรัฐมนตรีเวิน จยาเป่าถึงกับกล่าวประณามพวกผู้ผลิตอาหาร ที่ไม่ซื่อสัตย์ว่า" เหตุการณ์ลุกลาม ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับอาหารเหล่านี้เผยให้เห็นถึงสถานการณ์ อันร้ายแรงของความไม่ซื่อสัตย์ และความเสื่อมโทรมของศีลธรรม "นายเวินกล่าวสุนทรพจน์ต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ข่าวครึกโครม ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานรวมถึงเรื่องการพบเนื้อหมูในตลาด เป็นเนื้อหมู ซึ่งมีเชื้อแบคทีเรียเต็มไปหมด จนเนื้อหมูเรืองแสงในความมืด นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่ยังพบถั่วงอกปนเปื้อนสารไนเตรต ซึ่งก่อมะเร็ง และซาลาเปานึ่ง ซึ่งมีส่วนผสมของสารกันบูด ที่ห้ามใช้ และเมล็ดข้าวปนเปื้อนโลหะหนัก

ทั้งนี้ หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของนมปนเปื้อนสารเมลามีนเมื่อปี 2551 ซึ่งคร่าชีวิตทารกอย่างน้อย 6 คน และเด็กล้มป่วย 3 แสนคน ทำให้ความปลอดภัยด้านอาหารกลายเป็นประเด็น ที่สังคมวิตกกังวลมาเป็นอันดับหนึ่ง ต่อมาจีนจึงได้ผ่านร่างกฎหมายความปลอดภัยด้านอาหารในปี 2552 แต่ก็ไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของอาหารปนเปื้อนสารพิษได้

ล่าสุดเมื่อวันจันทร์ (25 เม.ย.) กระทรวงสาธารณสุขได้กวาดล้างสารปรุงแต่งอาหารต้องห้าม 151 รายการ ขณะที่รัฐบาลจีนประกาศออกกฎระเบียบควบคุมความปลอดภัยด้านอาหารชุดใหม่ในปีนี้ ซึ่งเท่ากับเป็นการยอมรับว่ากฎหมายความปลอดภัยอาหาร และมาตรการอื่น ๆ ที่ผ่านมา ประสบความล้มเหลว
ขวดบรรจุสารปรุงแต่ง ที่วางขายในกรุงปักกิ่ง ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 25 เม.ย.2554 – เอเอฟพี
นายเป่า เฉิงเซิง อาจารย์ด้านรัฐศาสตร์และกฎหมายประจำมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้ระบุว่า ปัญหาความปลอดภัยด้านอาหารในจีนเกิดจากสาเหตุหลายประการ โดยระบบกฎหมายของจีนยังขาดความสมบูรณ์ การวางระเบียบข้อบังคับมากมายขาดความชัดเจน จึงทำให้เกิดช่องโหว่

นอกจากนั้น บทลงโทษยังไม่มีความเข้มงวด เปิดโอกาสให้ผู้ผลิตอาหารรายย่อยในจีน ซึ่งมีจำนวนมากมายจนนับไม่ถ้วนติดสินบนเจ้าหน้าที่ ยกตัวอย่างกรณีพ่อค้าหมูมักติดสินบนเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจความปลอดภัยด้านอาหารให้หลับหูหลับตาไม่สนใจเนื้อหมูปนเปื้อน

วิธีการดังกล่าวทำให้ตลาดเต็มไปด้วยซากเนื้อหมู ที่ล้มตายจากเชื้อโรค ทั้งที่ควรมีการทำลายซากหมูเหล่านี้ โดยผู้เชี่ยวชาญระบุว่า มีเนื้อหมูปนเปื้อน ซึ่งชำแหละจากซากสุกร ที่ติดเชื้อราว 20-30 ล้านตัว เข้าสู่ตลาดบนแดนมังกรในแต่ละปี

ขณะที่นาย ซาง หลี่เหว่ย นักกฎหมาย ซึ่งร่วมในการร่างกฎหมายความปลอดภัยด้านอาหารกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ทุจริตเหล่านี้ถูกลงโทษเพียงเล็กน้อย ทั้งที่ควรมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนด้วย

เมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้ว ชาวบ้าน 286 คนในมณฑลหูหนัน ทางภาคกลางของจีนต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล หลังจากกินเนื้อหมูปนเปื้อนสารเคลนบูเทอรอล (clenbuterol) ซึ่งทำให้เนื้อหมูมีไขมันน้อยลง

ถึงแม้ทางการประกาศว่า ได้ยึด หรือทำลายผลิตภัณฑ์นม ที่ปนเปื้อนสารเมลามีนทั้งหมดแล้ว แต่นมอันตรายเหล่านี้ก็ยังนำออกมาวางขายเกร่อในตลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่า กระทั่งล่าสุดเจ้าหน้าที่เมืองฉงชิ่งทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีนได้ยึดนมผงปนเปื้อนสารเมลามีนได้ถึง 26 ตัน

ข่าวอื้อฉาวเกี่ยวกับอาหารปนเปื้อน ที่ปรากฎขึ้นมาไม่หยุดหย่อนทำให้ผู้บริโภคไม่รู้ว่าจะเชื่อใครดี

“มันแย่มากตรงที่ไม่มีใครรู้ได้เลยว่าอาหารไหนปลอดภัย และอันไหนมีพิษ” พนักงานของบริษัทรายหนึ่งในกรุงปักกิ่งระบุ
กำลังโหลดความคิดเห็น