xs
xsm
sm
md
lg

แฉ! กลยุทธ์ “ยา-อาหารเสริม” ใช้ อย.ปลอมลวง ปชช.ผ่านสื่อชุมชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดโปงกลยุทธ์ของ “ยา-อาหารเสริม”  เข้าข่ายหลอกลวงประชาชน อวดอ้างสรรพคุณว่อนผ่านสื่อชุมชน  เผย พบผู้บริโภคภาคอีสาน อาการแย่หลังใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ด้าน อย.ชี้ หากพบผิดจริงก็พร้อมเอาผิด
 
วันนี้ (26 พ.ค.) น.ส.สารี   อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิผู้บริโภค  กล่าวในการแถลงข่าว “ผลการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารและการเฝ้าระวังสื่อโฆษณาพร้อมเสนอการแก้ปัญหา”  ภายใต้โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งกลไกการคุ้มครองความปลอดภัยด้านอาหาร ว่า ในการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารในปัจจุบัน พบว่า มีมูลค่าการโฆษณาสูงถึง 16,716  ล้านบาท ในปี 2532-2549  ขณะที่ธุรกิจยาได้ทุ่มงบในการโฆษณาสู่ผู้บริโภคในช่วงปี 2549-2551 สูงกว่า 2.5 พันล้านบาท ต่อปี เพื่อให้สินค้ากลายเป็นที่รู้จักของผู้บริโภค  แต่เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่มักขาดทักษะในการสืบค้นข้อมูล และขาดแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ รวมทั้งขาดความตระหนักในการใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิของตนเอง จึงได้หลงเชื่อไปกับคำกล่าวอ้างของสื่อที่มีการอวดสรรพคุณและสิทธิประโยชน์เกินจริงของสินค้า   ทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการตกเป็นเหยื่อของสินค้าเพิ่มขึ้น ดังนั้นมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงได้ร่วมกับองค์กรผู้บริโภคใน 15 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ กาญจนบุรี  สมุทรสงคราม ราชบุรี ตราด สระบุรี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด ลำปาง พะเยา เชียงราย เชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี  ตรัง และ สตูล ดำเนินการเฝ้าระวังเกี่ยวกับการโฆษณาผลิตภัณฑ์ในสื่อทุกประเภท 
 
               
นายเทพรักษ์ บุญรักษา เจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียน ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค  สมาคมผู้บริโภค จ.ขอนแก่น กล่าวว่า จากการติดตามโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ ในสื่อวิทยุชุมชนจำนวน 4 คลื่น ได้แก่  คลื่น 94.25 MHz บิ๊กเอฟเอ็ม และ FM 105.25 MHz, 88.75 MHz และ 90.60 MHz ในวันที่ 24, 26 และ 29 เม.ย.2554 พบว่า มีการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพรวม 27 ชิ้น วนซ้ำทั้งวันอย่างน้อยวันละ 4 ครั้งต่อชิ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เครื่องดื่มชนิดต่างๆ ทั้งยาสมุนไพรและกาแฟ  รวมทั้งอาหารเสริมชนิดต่างๆ  นอกจากนี้ ยังพบว่าบางชนิดมีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อเคเบิ้ลทีวีไปในลักษณะเดียวกันด้วย

“ในผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่มีกว่า 27 ชิ้นนั้น พบว่า มีจำนวน 14  ชิ้นที่เข้าข่ายน่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย.เนื่องจากมีการอวดอ้างสรรพคุณทางการบำบัดรักษาทั้งที่เป็นแค่อาหารเสริมเท่านั้น ขณะที่การโฆษณายานั้นมีการอวดอ้างชื่อบุคคลมารับรองคุณภาพสินค้า ยกย่องประสิทธิพลที่ดูเกินจริง ขณะที่มีจำนวน 7 ชิ้น เช่น โฆษณากาแฟปรุงสำเร็จยี่ห้อ โกรเฮง อ้างเลขทะเบียนสารบบอาหาร 21-2-01751-2-0006 จาก อย.แต่เมื่อตรวจสอบเลขทะเบียนจากระบบของ อย.ก็พบว่าไม่มีข้อมูล โดยมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีกที่ไม่พบข้อมูลเช่นกัน ได้แก่ กาแฟตราฟ้าใส  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจมูกข้าวกล้อง ตราทิพย์ เครื่องดื่มผสมข้าวตราเอจิ และ ยากษัยแคปซูลตรา ปอ.ไม่ทราบข้อมูล  ซึ่งไม่แน่ว่า อาจจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่เลียนแบบยี่ห้อ ซึ่งมีการจดทะเบียนถูกต้องหรือไม่ อย่างไร หรือเลขทะเบียนหมดอายุแล้วยังไม่มีการต่อทะเบียน ซึ่งส่วนนี้อยากให้ อย.มีการตรวจสอบด้วย ”       นายเทพรักษ์ กล่าว
 

นางอาภรณ์  อะทาโส  ผู้จัดการสมาคมผู้บริโภค จ.ร้อยเอ็ด  กล่าวว่า จากปัญหาการโฆษณาที่แอบอ้างนี้ส่งผลให้เกิดผลกระทบกับผู้บริโภค ที่ตกเป็นเหยื่ออย่างมาก  ล่าสุด เกิดขึ้นกับประชาชน จ.ร้อยเอ็ด ที่หลงซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารน้ำสมุนไพรมาดื่มแล้วเกิดความเสียหายด้านสุขภาพจนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ถึง 4 ราย รายแรกมีอาการปวดต้นคอ เมื่อยล้า อ่อนเพลีย  เข้ารักษาในโรงพยาบาลนาน  2 เดือน ส่วนรายที่สอง มีโรคประจำตัว คือ พาร์กินสัน พบว่า อาการหนักขึ้นหลังจากใช้ผลิตภัณฑ์ และรายที่สาม เป็นโรคไทรอยด์ พบว่า มีอาการอ่อนเพลีย เมื่อไปพบแพทย์ พบว่า ป่วยเป็นโรครูมาตอยด์เพิ่มขึ้นมา  และในรายสุดท้ายเป็นโรคกระดูกพรุน มีอาการปวดตามข้อ จึงหยุดกินหลังจากซื้อมารับประทานแล้ว  1 ขวด โดยผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีราคาสูงถึงขวดละ 1,400 บาท ซึ่งส่วนมากมักจะขายตรงและผ่านการโฆษณาของสื่อในชุมชน
 

ขณะที่ นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการ อย.กล่าวว่า  บทลงโทษในการเผยแพร่อาหารและยา ซึ่งไม่ได้รับการอนุญาตจาก อย.นั้น หากมีการตรวจสอบว่าผิดจริงจะมีบทลงโทษอยู่ที่ จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 10,000 บาท อย่างไรก็ตาม ในส่วนของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ทางมูลนิธิผู้บริโภคได้ช่วยกันเฝ้าระวังนั้น อย.จะเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยเร็ว แต่คงต้องยอมรับว่า ยากที่จะควบคุม เนื่องจากการคุมโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ นั้นเราต้องร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อเฝ้าระวังให้เข็มงวดยิ่งขึ้น แต่ในส่วนของการอ้างสรรพคุณยา และอาหารเสริมที่ไม่ได้รับอนุญาตนั้น อย.จะดำเนินการตรวจสอบโดยเร็ว แต่เบื้องต้นขออย่าให้ประชาชนหลงเชื่อ การอวดอ้าง
กำลังโหลดความคิดเห็น