xs
xsm
sm
md
lg

องค์กรผู้บริโภคภาคอีสานเผยโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพไม่ได้รับอนุญาตเพียบวอน อย.จัดการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สารี อ๋องสมหวัง
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - องค์กรผู้บริโภคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยผลการเฝ้าระวังโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพบนสื่อวิทยุชุมชนและเคเบิลทีวี พบว่า เกินครึ่งเข้าข่ายน่าจะเป็นการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก อย.และกว่าครึ่งของโฆษณาที่น่าจะไม่ได้รับอนุญาต เป็นไปได้สูงที่จะไม่มีเลขทะเบียนอาหารหรือใช้ เลขทะเบียนอาหารปลอม เรียกร้องให้รัฐสนับสนุนให้เกิดกลไกการเฝ้าระวังโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ

เมื่อวันที่ 26 พ.ค.54 ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ) เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งประกอบด้วย สมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่นและสมาคมผู้บริโภคร้อยเอ็ด ได้ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แถลงข่าวผลการดำเนินงานเฝ้าระวังโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพบนสื่อวิทยุชุมชุนและเคเบิลทีวี อันเป็นกิจกรรมหนึ่งของโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งกลไกการคุ้มครองความปลอดภัยด้านอาหารโดยผู้บริโภคภายใต้การสนับสนุนของแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.)

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยถึงความจำเป็นในการดำเนินงานว่า ข้อมูลจากการสาธารณสุขไทย (2548-2550) ชี้ให้เห็นมูลค่าของการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ในช่วงปี พ.ศ.2532-2549 โดยเฉพาะการโฆษณาอาหารมีมูลค่าการโฆษณาสูงถึง 16,716 ล้านบาท ขณะที่ธุรกิจยาได้ทุ่มงบในการโฆษณายาสู่ผู้บริโภคในช่วงปี 2549-2551 สูงกว่า 2.5 พันล้านบาทต่อปี

มูลค่าการโฆษณายาและผลิตภัณฑ์สุขภาพนี้ ชี้ให้เห็นว่า ผู้ประกอบธุรกิจต่างทุ่มเทงบประมาณ เพื่อการโฆษณาให้ผลิตภัณฑ์ของตนเป็นที่รู้จักต่อผู้บริโภค ผลิตภัณฑ์ที่นำมาโฆษณามีความหลากหลายทั้งในส่วนของประเภทผลิตภัณฑ์และรูปแบบการโฆษณา

ในส่วนประเภทผลิตภัณฑ์พบว่ามีโฆษณายาและผลิตภัณฑ์สุขภาพแก่ผู้บริโภคในทุกช่วงอายุอย่างกว้างขวาง ทำให้ผู้บริโภคทุกช่วงอายุมีความเสี่ยงต่อการบริโภคสื่อโฆษณาหากไม่รู้เท่าทัน เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่ขาดความรู้ ทักษะในการค้นข้อมูล ขาดแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ และยังขาดความตระหนักในการประยุกต์ใช้กฎหมายคุ้มครองตนเอง

อีกทั้งผู้บริโภคในชนบทยังเชื่อในประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์และเชื่อในคำกล่าวอ้างว่าได้รับการรับรองจากหน่วยงานรัฐแล้วของผู้โฆษณา

ส่วนรูปแบบการโฆษณาโดยเฉพาะยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร พบว่า มีการใช้สื่อหลายแขนง โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ที่ผู้ประกอบการนิยมใช้เพื่อให้เข้าถึงคนหมู่มากในท้องถิ่นได้เป็น 2 กลุ่มสื่อหลักคือ วิทยุชุมชน และสถานีโทรทัศน์เคเบิลทีวี โดยมีอินเตอร์เน็ตเป็นสื่อกลางเพื่อให้เข้าถึงชนชั้นกลางในเมือง มีการใช้สื่อบุคคล เช่น ดารา นักวิชาการ บุคลากรทางการแพทย์ หรือแม้แต่ชาวบ้านในท้องถิ่น สร้างความน่าเชื่อถือให้กับผลิตภัณฑ์

เป็นที่สังเกตว่า มีการโฆษณาผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันในภูมิภาคโดยใช้เนื้อหาการนำเสนอที่ต่างกันไป แต่ให้นักจัดรายการเป็นตัวกลางในการสื่อสารเหมือนเดิม ซึ่งการโฆษณาดังกล่าว ทำให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลข่าวสารที่ก่อให้เกิดอุปสงค์เทียม มีโอกาสใช้ผลิตภัณฑ์มากเกินจำเป็น อันเป็นการเพิ่มความเสี่ยง หรืออันตรายให้แก่ผู้บริโภค เนื่องจากมีการโฆษณายาและผลิตภัณฑ์สุขภาพในลักษณะที่โอ้อวดเกินจริงและการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต

ถึงแม้ว่าหน่วยงานกำกับดูแลของรัฐจะได้มีการทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคจากการโฆษณาที่โอ้อวด เกินจริง หรือทำให้หลงเชื่อเหล่านี้แล้วก็ตาม แต่ด้วยข้อจำกัดต่าง ๆ และความแตกต่างระหว่างจำนวนผู้ประกอบการสถานีวิทยุชุมชน ผู้ประกอบการธุรกิจผลิตภัณฑ์สุขภาพกับจำนวนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ซึ่งแตกต่างกันมาก จึงเป็นปัญหาสำคัญสร้างความเสียหายกับผู้บริโภคทั้งรุนแรงต่อชีวิต และสิ้นเปลืองทรัพย์สินโดยไม่จำเป็น

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงได้ร่วมกับองค์กรผู้บริโภคใน 15 จังหวัด จาก 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ ได้แก่ สมุทรสงคราม กาญจนบุรี ราชบุรี ตราด สระบุรี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด ลำปาง พะเยา เชียงราย เชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี ตรัง สงขลา และสตูล ดำเนินงานเฝ้าระวังโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อทุกประเภท

นายเทพรักษ์ บุญรักษา เจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียน ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า จากการติดตามโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ บนวิทยุชุมชน จำนวน 4 คลื่น ได้แก่ คลื่น 94.25 MHz บิ๊กเอฟเอ็ม กับ คลื่น FM 105.25 MHz ของจังหวัดขอนแก่น และคลื่น 88.75 MHz โอเคลูกทุ่งสนุกทั่วไทย กับ คลื่น 90.60 MHz วิทยุชุมชนหลักเมืองพลาญชัย ในระหว่างวันวันที่ 24, 26, และ 29 เมษายน 2554 บวกกับหนึ่งเคเบิลทีวี คือ เคทีวีของจังหวัดขอนแก่น ที่ออกอากาศในวันที่ 24 เมษายน 2554พบว่า มีโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพรวมทั้งสิ้น 27 ชิ้น ที่ฉายวนไปวนมาตลอดทั้งวัน ซ้ำไปซ้ำมาอย่างน้อย 4 ครั้ง สูงสุดถึง 11 ครั้งต่อวัน

โดยแบ่งเป็นโฆษณายา 2 ชิ้น (ทั้งหมดเป็นยาแผนโบราณ) โฆษณาเครื่องสำอาง 4 ชิ้น และโฆษณาอาหาร 21 ชิ้น โดยในกลุ่มโฆษณาอาหารแบ่งออกเป็น โฆษณากาแฟ (อวดอ้างสรรพคุณ) จำนวน 7 ชิ้น โฆษณาเครื่องดื่มชนิดต่างๆ จำนวน 6 รายการ โฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดต่างๆ ทั้งแบบแคปซูลและแบบเครื่องดื่มจำนวน 5 ชิ้น โฆษณาร้านอาหารจำนวน 2 ชิ้น และโฆษณานมจำนวน 1 ชิ้น

จากโฆษณาทั้งหมด 27 ชิ้น พบว่า มีโฆษณาจำนวน 14 ชิ้น (กว่าร้อยละ 50) ที่เข้าข่ายน่าจะไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เนื่องจากมีการอวดอ้างสรรพคุณทางการบำบัดรักษาทั้งที่เป็นผลิตภัณฑ์อาหารหรืออาหารเสริม ในกรณียา มีการใช้คำโฆษณาที่ไม่ถูกต้องหลายรูปแบบทั้งใช้บุคคลอื่นรับรองหรือยกย่องสรรพคุณ ชักชวนให้ใช้อย่างพร่ำเพรื่อเกินจำเป็น หรือระบุสถานที่จำหน่ายโดยไม่มีหลักฐานว่าสถานที่นั้นได้รับใบอนุญาตให้จำหน่าย

และในโฆษณาจำนวน 14 ชิ้นนี้ เมื่อได้หาข้อมูลของผลิตภัณฑ์เพิ่มเติมบนอินเตอร์เน็ต มี 7 ชิ้นที่ (ร้อยละ 50) ยังตรวจไม่พบว่าเลขสารบบอาหารที่กล่าวอ้างมีอยู่จริงหรือไม่สามารถหาข้อมูลที่แท้จริงเกี่ยวกับชื่อผู้ผลิตและเลขสารบบอาหารของผลิตภัณฑ์ได้ โดยโฆษณาทั้ง 7 ชิ้นประกอบด้วย

1.โฆษณากาแฟปรุงสำเร็จรูปโกรเฮง อ้างเลขสารบบอาหาร 21-2-01751-2-0006
2.กาแฟปรุงสำเร็จรูปผสมคอลลาเจน ตราฟ้าใสคอฟฟี่ อ้างเลขสารบบอาหาร 21-2-01751-2-0006 ซึ่งเป็นเลขสารบบเดียวกันกับกาแฟโกรเฮง
3.กาแฟปรุงสำเร็จ (สำหรับท่านชาย) วันแฟน จำนวน 2 ชิ้น (ขอนแก่นกับร้อยเอ็ด) อ้างเลขสารบบอาหาร 86-2-01847-2003
4.ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจมูกข้าวกล้องหอมนิล ตราทิพย์ อ้างว่าได้รับเครื่องหมาย อย. แต่ยังตรวจไม่พบเมื่อตรวจสอบกับระบบฐานข้อมูลการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ของ อย.
5.เครื่องดื่มมอลต์ผสมข้าวญี่ปุ่น รสช็อคโกแลต ตราเอจิ ที่ยังตรวจไม่พบตราสินค้าในฐานข้อมูลการขึ้นทะเบียนของอย.
6.ยากษัยแคปซูลตราปอ. 94 ที่ไม่ทราบข้อมูล

นางอาภรณ์ อะทาโส ผู้จัดการสมาคมผู้บริโภคร้อยเอ็ด กล่าวว่า นอกจากปัญหาโฆษณาที่มีจำนวนมากแล้ว มีผู้บริโภคมีปัญหาใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารน้ำสมุนไพร พบมีผู้เสียหาย 4 ราย

รายแรกเริ่มจากมีอาการปวดต้นคอ ปวดกล้ามเนื้อช่วงบน หลังใช้ผลิตภัณฑ์มีอาการอ่อนเพลีย เมื่อยล้า ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยลง ต้องเข้าโรงพยาบาล รักษาตัวนานถึง 2 เดือน ส่วนอีกรายมีโรคประจำตัว (พาร์กินสัน) พบว่า อาการเป็นมากขึ้นหลังจากบริโภคผลิตภัณฑ์ คนถัดมาเป็นโรคไทรอยด์ หลังจากใช้ผลิตภัณฑ์ได้ครึ่งขวด พบว่า มีอาการอ่อนเพลีย เดินไม่ได้ ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ และเมื่อไปพบแพทย์พบว่ามีอาการของโรครูมาตอยด์เพิ่มขึ้นมา ขณะที่ รายสุดท้าย เป็นโรคกระดูกพรุน และมีอาการปวดเข่า ปวดตามข้อ บอกว่ากินแล้ว 1 ขวด พบว่าอาการไม่ดีขึ้น ไม่มีการเปลี่ยนแปลงตามที่โฆษณา จึงได้หยุดกิน

นายพชร แกล้วกล้า ผู้ประสานโครงการฯ กล่าวว่า ผู้ผลิตต่างต้องการขายสินค้าของตนเองให้ได้มากที่สุด โฆษณาที่ออกมาส่วนใหญ่จึงไม่ค่อยตรงไปตรงมา เกินจริง อ้างสรรพคุณรักษาโรค ทั้งที่เป็นเพียงผลิตภัณฑ์อาหารหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ฉะนั้นผู้บริโภคจะต้องไม่หลงเชื่อโฆษณาเพราะมักจะแอบอ้างว่าได้รับการรับรองจาก อย.หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด พร้อมเรียกร้องให้ปรับปรุงบทลงโทษ (ค่าปรับ) ให้ยึดตามมูลความผิดแต่ละครั้ง และต้องปรับเชิงลงโทษในกรณีที่พบการกระทำผิดซ้ำซาก รวมทั้งเรียกร้องให้ อย. สนับสนุนองค์กรผู้บริโภคในจังหวัดอื่นๆ ให้มีส่วนช่วยสนับสนุนการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย
เทพรักษ์ บุญรักษา
อาภรณ์ อะทาโส
เพชร แกล้วกล้า
กำลังโหลดความคิดเห็น