xs
xsm
sm
md
lg

ภาวะกระดูกพรุนกับกีฬากอล์ฟ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักกอล์ฟหญิงสูงอายุท่านหนึ่งเกิดความกังวลเมื่ออ่านพบว่า อาจเกิดกระดูกสันหลังยุบจากการเล่นกอล์ฟได้ ซึ่งเป็นการบาดเจ็บหรืออันตรายที่พบได้ในสนามกอล์ฟ คุณป้าได้รับการผ่าตัดรังไข่ออกแล้วทั้ง 2 ข้าง และแพทย์ให้ฮอร์โมนทดแทนอยู่ มีอาการปวดกระดูกเป็นครั้งคราว และความสูงลดลงไป 3 เซนติเมตร แต่ยังอยากเล่นกอล์ฟเป็นชีวิตจิตใจมาขอคำปรึกษาจึงถือโอกาสเล่าเรื่อง “ภาวะกระดูกพรุน” ให้เป็นความรู้พอสังเขปในสัปดาห์นี้

ผู้ที่มีภาวะกระดูกพรุน จะส่งผลให้มีกระดูกที่เปราะบาง ทำให้หักง่ายกว่าปกติ โดยเฉพาะกระดูกสันหลัง กระดูกสะโพก กระดูกต้นขา และกระดูกข้อมือ กระดูกพรุนหรือ OSTEOPOROSIS คือภาวะที่ความหนาแน่นของกระดูกลดลงกว่าปกติ เป็นการเปลี่ยนแปลงลักษณะโครงสร้างของกระดูก มีผลทำให้กระดูกไม่สามารถที่จะทนต่อแรงกดดันหรือแรงกระแทกกระเทือนได้อย่างปกติ กระดูกจึงหักได้ง่าย ตามธรรมดาร่างกายคนเราจะมีการสร้างกระดูกมากกว่าการทำลาย เพื่อให้กระดูกมีความแข็งแรง ใหญ่ออกและยาวขึ้น พร้อมทั้งหนาตัวขึ้นด้วย

ในช่วงประมาณอายุ 30 ปี กระดูกจะแข็งแรงและหนาแน่นสูงสุด โดยมีโปรตีนและแคลเซี่ยมเป็นสารหลักในการสร้างกระดูกให้มีความแข็งแรง เมื่อเลยวัย 30 ปีไปแล้ว จะมีการสูญเสียเนื้อกระดูกไปในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 0.5-1 ต่อปี จะเห็นว่า กระดูกเป็นอวัยวะที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยจะมีการทำลายและสร้างทดแทนวนเวียนกันไปเช่นนี้ แต่ถ้าเมื่อใดร่างกายมีการทำลายกระดูกมากกว่าการสร้างกระดูก ก็จะทำให้เกิดภาวะกระดูกโปร่งบางขึ้น ซึ่งถ้าปล่อยให้เป็นเช่นนี้นานๆ ผลที่ตามมาก็คือ จะเกิดการยุบตัวลงของกระดูกสันหลัง ทำให้ตัวเตี้ยลง หลังโก่ง มีอาการปวดหลังและกระดูกหักได้ง่าย

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนมีหลายอย่างเช่น 1.อายุมากขึ้น 2.มีประวัติในครอบครัว 3.เชื้อชาติ พบมากในคนผิวขาวและคนเอเชีย 4.วัยทอง หรือวัยหมดประจำเดือน จะขาดฮอร์โมนเพศหญิงคือ เอสโตรเจน 5.รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมต่ำ ดื่มเหล้า แอลกอฮอล์และคาเฟอีน 6.ขาดการออกกำลังกาย 7.โรคบางชนิด เช่น โรคตับ โรคไต มะเร็ง ไทรอยด์ 8.ยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์ ยากันชัก ยาขับปัสสาวะ

ข้อควรปฏิบัติเพื่อป้องกันและรักษาโรคกระดูกพรุน ก็คือ ให้หมั่นออกกำลังกายที่เหมาะสมและสม่ำเสมอ เช่น เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ว่ายน้ำ เต้นรำ เลือกรับประทานอาหารที่มีแคลเซี่ยมสูง เช่น ปลากรอบ กุ้งฝอย พืชสวนครัว เช่น ตำลึง ถั่วพู หรือการดื่มนม สำหรับผู้สูงอายุควรรับประทานแคลเซี่ยมวันละ 1,000-2,000มิลลิกรัม ลดหรือหรือเลี่ยงการดื่มเหล้า แอลกอฮอร์ คาเฟอีน และยาบางชนิด ส่วนการใช้ยาป้องกันและรักษาโรคกระดูกพรุน เช่น ยาในกลุ่มบิสฟอสโฟเนท ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งการสลายกระดูก ทำให้เนื้อกระดูกคงตัว แข็งแรง ป้องกันกระดูกหัก ภายใต้การควบคุมของแพทย์

ดังนั้นผู้สูงวัยที่รักกีฬากอล์ฟจึงควรสำรวจตัวเองว่ามีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดภาวะกระดูกพรุนหรือไม่ และพยายามหลีกเลี่ยงสาเหตุดังกล่าว รวมทั้งพยายามเสริมสร้างให้กระดูกแข็งแรง โดยทำตามข้อปฏิบัติที่ได้ให้ไว้ และควรตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูก (BMD) ตามระยะเวลาที่แพทย์แนะนำ แล้วขอให้เล่นกอล์ฟให้สนุกนะครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น