แพทย์เผย โรค “ต้อกระจก สมองเสื่อม เบาหวาน” เป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้สูงอายุไทยพิการ และบั่นทอนคุณภาพชีวิต โดยพบว่า ชายก่อนวัยสูงอายุสูญเสียปีสุขภาวะจากโรคมะเร็งตับมากสุด ขณะที่หญิงก่อนวัยสูงอายุเสียชีวิตด้วยโรคเบาหวาน โรคซึมเศร้า ส่วนโรคหลอดเลือดหัวใจคร่าชีวิตกลุ่มชายวัยสูงอายุ
ทพ.ญ.กนิษฐา บุญธรรมเจริญ หัวหน้าโครงการศึกษาภาระโรคและปัจจัยของประเทศไทย สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ศึกษาปัจจัยภาระโรคและปัจจัยที่ทำให้ผู้สูงอายุของไทยพิการ หรือตายก่อนวัยอันควร จากการเก็บข้อมูลผู้มีอายุก่อนสูงวัย คือ อายุ 45-59 ปี และผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ทั้งจากสาเหตุการเสียชีวิตในมรณบัตรประชาชนของทะเบียนราษฎร และการศึกษาที่เกี่ยวข้องในปี 2552 เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูล ไปใช้วางแผนป้องกันปัจจัยเสี่ยงที่จะบั่นทอนสุขภาพ ความพิการ และการเสียชีวิตของผู้สูงอายุ พบสาเหตุที่บั่นทอนคุณภาพชีวิตอันดับแรก คือ โรคต้อกระจก โรคสมองเสื่อม รองลงมา คือ โรคเบาหวาน
ทพ.กนิษฐา กล่าวต่อว่า วิธีวัดปัญหาสุขภาพใช้ดัชนีที่เรียกว่า “การสูญเสียปีสุขภาวะ” ซึ่งหนึ่งปีสุขภาวะที่สูญเสียเท่ากับการสูญเสียการมีสุขภาพดีไปหนึ่งปี เป็นดัชนีที่บอกผลจากโรคทั้งในมุมมองของการทำให้ต้องตายก่อนวัยอันควร และทำให้ต้องทนทุกข์ทรมานจากความเจ็บป่วยหรือพิการ โดยกลุ่มชายก่อนวัยสูงอายุสูญเสียปีสุขภาวะจากโรคมะเร็งตับมากที่สุด ตามด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจ ส่วนหญิงก่อนวัยสูงอายุ คือ โรคเบาหวาน รองมาเป็นโรคซึมเศร้า ด้านกลุ่มชายวัยสูงอายุสูญเสียปีสุขภาวะด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจ ตามด้วย โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง เช่น ปอดอักเสบ หอบหืด
โดยหญิงสูงอายุสูญเสียปีสุขภาวะจากโรคเบาหวานมากที่สุด ขณะที่อุบัติเหตุจราจร การติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และโรคเอดส์ ที่พบว่า ติด 10 อันดับแรก ของสาเหตุของการสูญเสียปีสุขภาวะของวัยก่อนสูงอายุ แต่กลับไม่พบว่าติด 10 อันดับในสาเหตุการเสียปีสุขภาวะของวัยสูงอายุแต่อย่างใด เนื่องจากพฤติกรรมในแต่ละช่วงวัยที่แตกต่างกัน แต่กลับพบว่า ความผิดปกติทางประสาทเช่น โรคสมองเสื่อม เป็นสาเหตุอันดับที่ 4 ของหญิงสูงอายุ ทั้งนี้ ผลการศึกษาครั้งนี้จะนำไปสู่การวางแผนหามาตรการป้องกัน และการจัดระบบบริการรองรับที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม การสร้างพฤติกรรมที่ช่วยให้มีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่แข็งแรงสมบูรณ์อยู่เสมอ ทั้งในช่วงวัยสูงอายุ และตั้งแต่ก่อนถึงวัยสูงอายุ เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพดีที่ยืนยาว