เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา (28 พ.ค.) ผู้นำเข้าฯ จีนได้เรียกคืนผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเกลือแร่สำหรับนักกีฬาที่ผลิตในไต้หวัน มากกว่า 6,000 ขวดจากร้านค้าต่างๆ เพราะมีส่วนผสมของสารก่อมะเร็งฯ
เอเยนซี - จีนสั่งเก็บเครื่องดื่มจากไต้หวัน หลังพบใช้สารปนเปื้อนพลาสติกโพลีเมอร์เพื่อลดต้นทุน โดยพิษจากสารดังกล่าว นอกจากจะก่อให้เกิดโรคมะเร็งแล้วยังส่งผลต่อระบบประสาทของทารกในครรภ์
โดยหลังจากที่ สำนักงานสาธารณสุขไต้หวัน รายงานเมื่อวันที่ 25 พ.ค. ว่าสารที่ใช้ผสมในเครื่องดื่มซึ่งผลิตโดย บริษัทไต้หวันชื่อ หยูเซิน เคมิคอล พบว่ามีส่วนประกอบของพลาสติกโพลีเมอร์ ซึ่งต้องห้ามเพราะเป็นสารก่อมะเร็ง DEHP(Diethyhexylpthalate ) และหน่วยงานจีน ได้เริ่มสั่งเก็บสินค้าที่ผลิตในไต้หวันเหล่านั้นทันที
หลี่ หยวนปิง โฆษกสำนักงานตรวจสอบคุณภาพและเก็บกักสินค้าของจีน แถลงวันที่ 28 พ.ค. ว่า ผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มจีน สั่งเก็บสินค้าที่ผลิตในไต้หวัน หลังตรวจพบสารปนเปื้อนหมดแล้ว
หลี่กล่าวว่า สารที่ผสมนี้มักใช้ในเครื่องดื่มจำพวก น้ำผลไม้ แยม และเครื่องดื่มเกลือแร่ ทำให้มีสีขาวขุ่นๆ และข้น โดยผู้ผลิตใช้ส่วนผสม DEHP ในการผลิตเพื่อลดต้นทุน
เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้นำเข้าฯ จีนได้เรียกคืนผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มสำหรับนักกีฬามากกว่า 6,000 ขวดจากร้านค้าต่างๆ โดย สำนักงานควบคุมฯ กล่าวว่า บรรดารายการเครื่องดื่มเหล่านั้น เป็นเครื่องดื่มเกลือแร่ยี่ห้อดังของไต้หวันหลายยี่ห้อ เช่น yes และ SunKist ซึ่งล้วนนำเข้ามาในตลาดจีนผ่านทางเซี่ยงไฮ้เมื่อเดือนมีนาคม
หลี่ กล่าวว่า มาตรการเฝ้าระวังได้เพิ่มความตรวจสอบกับสินค้าที่ผลิตจากไต้หวัน และระงับการนำเข้าสินค้าของหยูเซินตั้งแต่วันที่ 27 พ.ค.เป็นต้นไป
สำนักงานบริหารอุตสาหกรรมและพาณิชกรรมเซี่ยงไฮ้ กล่าวว่า ได้เก็บเครื่องดื่มจากไต้หวันทั้งหมด 6,307 ขวด ที่วางขายในร้านวอลมาร์ท และเอ็มมาร์ท ออกจากตลาดหมดแล้ว และสั่งการให้หน่วยงานท้องถิ่น ให้เฝ้าระวังตรวจตราเข้มงวดยิ่งขึ้น
ตามกฎระเบียบของกรมควบคุมอาหารและยา(Food and Drug Administration ) ทบวงสาธารณสุข ไต้หวันระบุว่า ห้ามใช้ปริมาณสาร DEHP ในการผลิตภัณฑ์พลาสติกหรือของเล่นเด็ก เกินกว่า 1.5 ppm และห้ามใส่ลงในอาหารหรือเครื่องดื่ม
ทั้งนี้ จีนได้งัดไม้ตายสู้ศึกปราบอาหารปนเปื้อนสารพิษต่างๆ ที่คุกคามความปลอดภัยอาหารของประเทศไม่เลิกเสียที ล่าสุดเมื่อวันศุกร์(27 พ.ค.) ศาลประชาชนสูงสุดประกาศบทลงโทษขั้นสูงสุด “ประหารชีวิต” ลงโทษทั้งผู้ผลิตอาหารปนเปื้อน และผู้ตรวจสอบอาหารที่ละเลยหน้าที่