เอเอฟพี - เจ้าหน้าที่กรุงปักกิ่งประกาศ(7 ก.ค.)ระงับการขายน้ำดื่ม 31 ยี่ห้อ หลังจากตรวจพบเชื้อแบคทีเรีย อันเป็นเหตุอื้อฉาวล่าสุดที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของจีน
สำนักงานอุตสาหกรรมและพาณิชย์กรุงปักกิ่ง เผยในเว็บไซต์(6 ก.ค.)โดยอ้างผลวิจัยจากสำนักตรวจสอบคุณภาพสินค้าว่า การสุ่มตรวจน้ำดื่มที่วางขายตามตลาดในกรุงปักกิ่งพบว่ามีเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อนอยู่ โดยขณะนี้ได้สั่งระงับการขายน้ำดื่มทั้งสิ้น 31 ยี่ห้อ
เป่ยจิง ไทมส์ รายงานว่า การทดสอบน้ำดื่มยี่ห้ออีฉวิน พบว่ามีเชื้อแบคทีเรียสูงกว่าระดับมาตรฐานความปลอดภัยถึง 9,000 เท่า ขณะที่น้ำดื่มยี่ห้อเทียนซิง สเปเชียล มีเชื้อแบคทีเรียสูงกว่าระดับปลอดภัยถึง 560 เท่า สำหรับโทษจากการดื่มน้ำที่ปนเปื้อนแบคทีเรียดังกล่าว จะทำให้มีอาการท้องร่วง วิงเวียนศีรษะและอาเจียน
รายงานข่าวระบุ การทดสอบคุณภาพครั้งนี้ได้ตรวจสอบน้ำดื่มปริมาณหลายบาร์เรล แต่ไม่ได้ทดสอบคุณภาพน้ำดื่มขวดเล็กที่ขายตามซูเปอร์มาร์เก็ต
ในรายงานผลวิจัยระบุ ปัญหาน้ำดื่มปนเปื้อนส่วนหนึ่งเกิดจากคุณภาพของโรงงานผลิตน้ำดื่มที่ไม่ได้มาตรฐานด้านความสะอาด และไม่มีการฆ่าเชื้อท่อจ่ายน้ำหรือติดตั้งตัวกรองเชื้อโรค
ทั้งนี้ กระแสอาหารปนเปื้อนในจีนยังคงเกิดขึ้นเป็นระยะๆ โดยเหตุอื้อฉาวครั้งสำคัญเกิดขึ้นในปี 2551 เมื่อเด็กทารกเสียชีวิต 6 คน และมีเด็กอีกราว 300,000 คน ป่วยเป็นโรคนิ่วในไต หลังจากดื่มนมปนเปื้อนเมลามีน ทำให้ความปลอดภัยด้านอาหารกลายเป็นประเด็นที่สังคมจีนวิตกกังวลมากสุด ต่อมาจีนจึงได้ผ่านร่างกฎหมายความปลอดภัยด้านอาหารในปี 2552 แต่ก็ไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของอาหารปนเปื้อนสารพิษได้
ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา สำนักงานอุตสาหกรรมและพาณิชย์กรุงปักกิ่งได้ตรวจพบเนื้อหมูปนเปื้อน นมพิษ ขนมปังย้อมสี แตงโมฉีดสารเร่งโต
เมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ศาลประชาชนสูงสุดประกาศบทลงโทษขั้นสูงสุดประหารชีวิตทั้งผู้ผลิตอาหารปนเปื้อน และผู้ตรวจสอบอาหารที่ละเลยหน้าที่