xs
xsm
sm
md
lg

ศาลจีนจำคุกผู้ขายสารเร่งเนื้อแดงอีก 7 คน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพเดือนก.ค.ที่ผ่านมา ชาวจีนกำลังเลือกชิ้นเนื้อหมูที่ตลาดในเมืองอี๋ชัง มณฑลหูเป่ย (ภาพเอเอฟพี)
เอเอฟพี - สื่อทางการจีนรายงาน(11 ส.ค.)ว่า ศาลจีนได้ตัดสินโทษจำคุกผู้ต้องหาจำนวน 7 คน ที่ขายสารเร่งเนื้อแดงผิดกฎหมาย ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพผู้บริโภค

สำนักข่าวซินหวารายงานว่า ศาลในมณฑลเหอหนันได้ตัดสินจำคุกตั้งแต่ 1 -10 ปี แก่ผู้ต้องหา 7 คน ในข้อหาจำหน่ายสารเคมีต้องห้ามเคลนบูเทอรอล (clenbuterol) หรือ สารเร่งเนื้อแดง ซึ่งเป็นวัตถุเจือปนอาหารที่มีคุณสมบัติช่วยให้สัตว์เจริญเติบโตโดยไม่มีไขมันสะสม แต่มีสารก่อมะเร็ง นอกจากนี้ศาลฯได้สั่งปรับผู้ต้องหาเป็นเงินตั้งแต่ 1,000 - 28,000 หยวน

ผู้ต้องหาทั้ง 7 คนถูกจับกุมหลังจากมีรายงานในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมาว่า บริษัทจี้หยวนซวงฮุ่ย ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ซวงฮุ่ย กรุ๊ป ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เนื้อหมูรายใหญ่สุดของประเทศจีน ได้ซื้อหมูเลี้ยงปนเปื้อนสารต้องห้ามดังกล่าวไป

เมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ศาลในมณฑลเหอหนันได้ตัดสินจำคุกผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการผลิตและจำหน่ายสารต้องห้ามฯไปแล้วจำนวน 8 คน ในข้อหาทำลายความมั่นคงสาธารณะด้วยวิธีการอันตราย

ทั้งนี้ เคลนบูเทอรอล หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ “สารเร่งเนื้อแดง” เป็นสารที่ช่วยให้สัตว์เจริญเติบโตโดยไม่มีไขมันสะสม เพิ่มความแน่นของกล้ามเนื้อ ผู้เลี้ยงจึงชอบผสมในอาหารสัตว์ที่เลี้ยงเอาเนื้อ

สำนักงานดูแลความปลอดภัยและคุณภาพอาหารแผ่นดินใหญ่ ได้ห้ามการใช้สารเคมีนี้ในการเลี้ยงสุกรเพราะเป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์ อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน แขนขาหมดแรง มือสั่น เป็นต้น หากสารฯดังกล่าวสะสมในร่างกายเป็นเวลานานอาจก่อให้เกิดความผิดปกติในโครงสร้างโครโมโซม และเป็นมะเร็ง อีกทั้งอาจทำให้เป็นโรคหลอดเลือดและหัวใจ และโรคความดันโลหิตสูง

รายงานข่าวระบุ ผู้ลักลอบผลิตสารเคมีต้องห้ามเคลนบูเทอรอล ได้นำสารฯมาขายให้แก่เกษตรกรเลี้ยงหมูในมณฑลเหอหนัน เจียงซู อันฮุย และซันตง

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จีนเผชิญกับปัญหาเหตุอื้อฉาวอาหารปนเปื้อนจำนวนมาก อาทิ เนื้อหมูที่พบตามท้องตลาด มีเชื้อแบคทีเรียเรืองแสงในที่มืด ถั่วงอกปนเปื้อนสารไนเตรตซึ่งก่อมะเร็ง ซาลาเปานึ่งมีส่วนผสมของสารกันบูดที่ห้ามใช้ และเมล็ดข้าวปนเปื้อนโลหะหนัก เป็นต้น

อนึ่ง เมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ศาลประชาชนสูงสุดได้ประกาศบทลงโทษขั้นสูงสุด “ประหารชีวิต” ลงโทษทั้งผู้ผลิตอาหารปนเปื้อน และผู้ตรวจสอบอาหารที่ละเลยหน้าที่
กำลังโหลดความคิดเห็น